ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯ เผยที่ประชุม ครม.อนุมัติขยายช่วยเหลือค่าไฟฟ้ากลุ่มเปราะบางอีก 4 เดือน และอีก 1 เดือนสำหรับกลุ่มผู้ใช้ไม่เกิน 500 หน่วย ลด 150 เฉพาะเดือน พ.ค.ใช้เงินเพิ่มอีก 3.5 พันล้าน เตรียมส่งเรื่องให้ กกต.​พิจารณา​

วันที่ 25 เม.ย. 2566 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า วันนี้มีหลายเรื่องต้องพิจารณา โดยเฉพาะ การใช้งบประมาณที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษ ซึ่งหลายคนคงรอฟังว่ารัฐบาล จะดูแลเรื่องพลังงานอย่างไร ที่ผ่านมาก็ให้ย้อนกลับไปดูว่ารัฐบาลดูแลค่าไฟอย่างไร 

สำหรับผู้ใช้ไม่เกิน 150 กับ 300 หน่วย และวันนี้เพิ่มการดูแลในส่วนผู้ใช้ไฟ 500 หน่วย ซึ่งความเป็นไปของเรื่องพลังงาน มีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย ในส่วนของพลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียนยังอยู่ในขั้นตอนการก่อสร้าง ไม่ได้เอามาใช้จ่ายบวกรวมตรงนี้ เป็นเรื่องของอนาคตเป็นคนละเรื่องกันเพราะเป็นเรื่องอนาคต โดยจะชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมภายหลัง รวมถึงในส่วนคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ขอให้ไว้วางใจซึ่งกันและกัน เราพยายามทำให้ดีที่สุดแล้ว 

พล.อ.ประยุทธ์ ยังบอกว่า เป็นข้อกังวลเหมือนกัน โดยเฉพาะที่มีการไปหาเสียง เรื่องพลังงานของพรรคการเมืองต่างๆว่าจะลดเท่านั้น เท่านี้ ถ้ามาดูข้อเท็จจริง มันมีรายละเอียดอีกมาก ทั้งเรื่องเหตุผลและความเป็นจริง สิ่งสำคัญที่สุดคือการพยายามทำให้ประเทศไทย มีการเจริญเติบโตทางด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งที่เราอนุมัติช่วยเหลือค่าไฟ 2 งวดมันทำให้เกิดภาระ 

ส่วนที่บอกว่าผลิตไฟฟ้าสำรองเกิน 50-60% ไม่ใช่ตัวเลขนั้น ขอให้เข้าใจอย่าไปหาเสียงทำให้เกิดความตื่นตระหนก ทำให้การบริหารทำไม่ได้ ซึ่งวันนี้ที่ประชุม ครม. เห็นชอบอนุมัติเพิ่มเติมให้มีการต่อขยายช่วยกลุ่มเปราะบาง ออกไปอีก 4 เดือน และเพิ่มเติมในกลุ่มที่ใช้ไฟฟ้า 500 หน่วยขึ้นไป ลด 150 บาท และค่าเฉลี่ยทั้ง 2 ฝ่ายทั้งประชาชนและอุตสาหกรรมค่าไฟจะเท่ากัน จากเดิมที่เสียสละจ่ายหน่วยยละ 5 บาท เป็นภาระของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งนายกฯก็ดูแลหมด พร้อมบอกว่าการดูแลคนส่วนใหญ่มันลำบากเหมือนกัน แต่ละประเภทมีคนเท่าไหร่ ก็ต้องมุ่งเป้าว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร 

พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงงบประมาณที่ใช้ในการช่วยเหลือค่าไฟฟ้า ในเดือนพฤษภาคมนี้ ใช้งบ 3,500 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาใช้ไปแสนกว่าล้าน รวมถึงเรื่องการลดภาษี หากต่อไปอีกก็จะใช้กว่าหมื่นล้านบาท 

โดยวันนี้มติ ครม.เห็นชอบร่วมกันและจะนำส่ง กกต. พิจารณา เพื่อนำงบกลางมาใช้ช่วยเหลือประชาชน ซึ่งสถานการณ์ค่าพลังงานยังไม่แน่นอน ราคาขึ้นลงอยู่แบบนี้มาตลอด ต้องดูว่าจะทำอย่างไร ต้องแก้ปัญหาไป ซึ่งงบประมาณก็จำกัดพอสมควร หนี้ที่เกิดจากพยุงราคาพลังงานซึ่งเป็นการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจ ยืนยันรัฐบาลจะให้ความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วนที่ร่วมบริหารจัดการพลังงาน เพราะรัฐบาลไม่สามารถจะลงทุนทั้งหมดได้ ดังนั้นจึงให้เอกชนเข้ามาลงทุนด้วยแต่ต้องเป็นไปตามกฎหมาย กติกาที่มีอยู่ สิ่งใดที่เป็นปัญหาด้านกฎหมาย กระทรวงพลังงานก็ได้ดูแลในเรื่องสัญญาต่างๆ ให้กรมอัยการพิจารณาดูแล้ว ขณะนี้ได้รับรายงานมาแล้วว่าเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม 

พล.อ.ประยุทธ์ ยังอธิบายด้วยว่า การช่วยเหลือค่าไฟจะแบ่งเป็น 2 ส่วน โดยจะเป็นการช่วยเหลือค่าไฟในหน้าร้อน 1 เดือน(พฤษภาคม) ซึ่งตากสภาพอากาศร้อนทำให้มีการใช้ไฟฟ้าที่สูงกว่าปกติ โดยเฉพาะการเร่งความเย็นของแอร์ ซึ่งมีการชี้แจงมาแล้วว่ามีการใช้เพิ่ม 2-3 เท่า หลายคนบอกเปิดแอร์เหมือนเดิม ซึ่งการเร่งแอร์ให้เห็นขึ้นค่าไฟก็เพิ่มขึ้นเป็น 2-3 เท่า ดังนั้นการที่จะเอาบิลค่าไฟฟ้ามาดู อย่าเอามาเทียบเฉพาะด้านขวามือ ให้ดูทั้งหมด กรุณาเสนอให้ครบ โดยให้ดูบิลฝั่งซ้ายที่เป็นหน่วยวัดไฟฟ้าด้วยว่าเดือนนี้กับเดือนที่ผ่านมาค่างกันอย่างไร ไม่เช่นนั้นก็จะเข้าใจกันผิด 

ในช่วงท้าย พล.อ.ประยุทธ์ ถามกลับผู้สื่อข่าวว่า มีอะไรจะ ถามอีกหรือไม่พอแล้วเรื่องพลังงานปวดหัว ก่อนจะขอบคุณสื่อและประชาชนทุกคน ก่อนจะบอกอีกว่าวันนี้พูดในนามรัฐบาล และขอขอบคุณ พรรคร่วมรัฐบาลและรองนายกฯ และบรรดารัฐมนตรีที่ส่วนใหญ่เข้ามามาประชุม ครม. แต่บางคนก็จำเป็น มีการลาเป็นเรื่องปกติ ซึ่งตามจริงก็ลาได้หมด แต่อย่างว่าแต่ละคนมีภารกิจแตกต่างกันไป แต่อย่างไรก็ตามทุกคนต้องได้รับบันทึกการประชุม ทุกท่าน ไม่ว่าจะอยู่หรือไม่ เพราะถือเป็นมติครม. ในการขับเคลื่อนด้วยกัน


ครม. เห็นชอบเสนอ กกต. ขออนุมัติวงเงิน 11,112 ล้านบาท ช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าให้ประชาชน 

อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี วันนี้ (25 เมษายน 2566) รับทราบ รายงานสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าของประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัยในช่วงฤดูร้อนปี 2566 และเห็นว่ามีความจำเป็นสำหรับมาตรการช่วยเหลือประชาชนระยะเร่งด่วนในส่วนของค่าไฟฟ้า ซึ่งได้รับผลกระทบจากต้นทุนราคาเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น และสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยที่สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ในหลายพื้นที่ของประเทศ ส่งผลให้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ซึ่งจะได้นำเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณา ให้ความเห็นชอบการใช้งบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 169 (3) กำหนด 

แนวทางการช่วยเหลือ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาพลังงานโลกสูงขึ้น ดังนี้

1. มาตรการต่อเนื่องของกระทรวงพลังงานที่ได้ดำเนินการอยู่ในช่วงเดือนมกราคม - เมษายน 2566 (การช่วยเหลือค่าไฟฟ้าของกลุ่มเปราะบาง) เพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงสถานการณ์ราคาพลังงานโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์ขัดแย้งในภูมิภาคยุโรป แม้ราคาพลังงานโลกเริ่มมีการปรับตัวลดลงจากช่วงปี 2565 โดยมีแนวทางช่วยเหลือค่าไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยให้ส่วนลดแบบขั้นบันได แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยในพื้นที่ของการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รวมทั้งผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่บริการของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ สำหรับงวดเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2566 (4 เดือน) โดยกำหนดให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราส่วนลดเดียวกันกับช่วงเดือน มกราคม - เมษายน 2566  ((1) ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 1-150 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าจำนวน 92.04 สตางค์ต่อหน่วย โดยมีผลต่างค่าไฟฟ้า ตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (ค่า Ft) เรียกเก็บและส่วนลด 1.39 สตางค์ต่อหน่วย (2) ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 151-300 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าจำนวน 67.04 สตางค์ต่อหน่วย โดยมีผลต่างค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (ค่า Ft) เรียกเก็บและส่วนลด 26.39 สตางค์ต่อหน่วย) ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้ได้รับการช่วยเหลือรวมทั้งสิ้นประมาณ 18.36 ล้านราย ใช้งบประมาณรวมในกรอบไม่เกิน 7,602 ล้านบาท สำหรับงวดเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2566 (4 เดือน) จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

2. มาตรการช่วยเหลือประชาชนระยะเร่งด่วน เป็นมาตรการช่วยเหลือประชาชนในส่วนของค่าไฟฟ้า ซึ่งได้รับผลกระทบจากต้นทุนราคาเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น และสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยที่สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ในหลายพื้นที่ของประเทศ ส่งผลให้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 โดยให้ส่วนลดแก่ผู้ใช้ฟ้าบ้านอยู่อาศัยในพื้นที่ของการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้า และผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่บริการของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ จำนวน 150 บาทต่อราย โดยกำหนดให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม ในรอบบิลเดือนพฤษภาคม 2566 ซึ่งเป็นช่วงเดือนที่มีสถิติความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของประเทศและจะเริ่มลดลงในเดือนมิถุนายน    ทั้งนี้ เพื่อเป็นลดภาระของประชาชนซึ่งผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้า ไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน จำนวน 23.40 ล้านราย โดยใช้งบประมาณรวมในกรอบไม่เกิน 3,510 ล้านบาทจากงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

เนื่องจากปัจจุบันอยู่ในห้วงการยุบสภา คณะรัฐมนตรี จะต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะได้นำเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณา ให้ความเห็นชอบการใช้งบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 169 (3) กำหนด 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนายกรัฐมนตรียืนยันถึงความพยายามของรัฐบาล ในแก้ไขปัญหาไฟฟ้าแพงเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ที่ผ่านมารัฐบาลดูแลลดภาระให้แก่กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มเปราะบาง ที่ใช้ไฟฟ้า 1-300 หน่วย ครอบคลุมกว่า ร้อยละ 80 ครัวเรือน ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็เดินหน้าเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานของประเทศ โรงไฟฟ้าสีเขียว สำหรับภาคอุตสาหกรรม เพื่อเป็นคาร์บอน เครดิต ของประเทศ ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ในอนาคตเชื่อว่า การใช้พลังงานสะอาดของไทยจะมีสัดส่วนที่จะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับพลังงานที่มาจาก fossil สอดคล้องกับทิศทางและแนวโน้มโลกในการใช้พลังงานสีเขียว