ไม่พบผลการค้นหา
ท่ามกลางสถานการณ์โควิดระบาด ผ่านมา 1 ปีกว่า ไม่ใช่เพียงสุขภาพที่ได้รับผลกระทบ แต่กระเทือนมาถึงเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้รัฐจัดเก็บรายได้ลดลง รวมทั้งต้องมีมาตรการเยียวยา กระตุ้นเศรษฐกิจ นำมาซึ่งการกู้เงินของภาครัฐ ที่เรียกได้ว่า ‘เต็มพิกัด’ แล้ว

ดังนั้นการปรับลดลงประมาณจึงเป็นสิ่งจำเป็น ในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ถูกโฟกัส โดยเฉพาะการเปรียบเทียบงบประมาณกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงสาธารณสุข โดยพบว่า ‘งบทหาร’ ยังคงมากกว่า ‘งบสาธารณสุข’ แต่ทางรัฐบาลยืนยันว่างบประมาณกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีมากกว่า 

โดยงบของ สธ. มีอยู่ 153,940 ล้านบาท แต่ไปรวมกับ 2 กองทุน คือ ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า 149,550 ล้านบาท กองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน 1,183 ล้านบาท รวม 295,000 ล้านบาท 

ส่วนงบกระทรวงกลาโหม 203,281 ล้านบาท โดยงบกระทรวงกลาโหมลดลง ตั้งแต่ปี2563-64 รวม 35,000 ล้านบาท ส่วนงบปี 2565 ลดจากปี2564 กว่า 11,249 ล้านบาท หรือ 5.24 %

หนึ่งในโฟกัสสำคัญของงบกองทัพอยู่ที่ 3 ส่วน คือ งบพัฒนาขีดความสามารถกองทัพ ในการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ งบด้านบุคลากร และงบการก่อสร้าง อาคาร สถานที่ ครุภัณฑ์ ที่ถูกอภิปรายในสภา

เริ่มต้นที่งบการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์พบว่ามีการปรับลดลงทุกเหล่าทัพ โดย กองทัพบก ลดลง 28,300 ล้านบาท เหลือ 22,130 ล้านบาท

กองทัพเรือ ลดลง 15,000 ล้านบาท เหลือ 14,511 ล้านบาท

กองทัพอากาศ ลดลง 20,700 ล้านบาท เหลือ 19,545 ล้านบาท

ยานเกราะ รถถัง กองทัพ ทหาร ซ้อมสวนสนาม

สำหรับปีงบประมาณ 2565 ในแต่เหล่าทัพ ได้ชะลอการตั้งงบโครงการจัดหายุทโธปกรณ์ขนาดใหญ่ออกไป จึงทำให้งบประมาณส่วนใหญ่ไปอยู่ที่งบประมาณผูกพันเดิม เป็นส่วนใหญ่

โดยโครงการตั้งต้นงบปี 2565 ของ ทบ. คาดว่าจะมีจัดหา ฮ.ทั่วไป UH-60 Black Hawk เพื่อทดแทน ฮ.HU-1 Huey งบประมาณราว 3,500 ล้านบาท จากเดิมจะเป็นการจัดหา ฮ.โจมตี AH-1W Super Cobra

ในส่วน ทร. ได้เลื่อนการจัดซื้อเรือดำน้ำจีน ลำที่ 2-3 ออกไปก่อน หลังเลื่อนมาแล้วในงบปี 2563-2564 ทำให้ต้องปรับแผนการจัดทำงบผูกพันธ์ใหม่ แต่สิ่งที่ต้องติดตาม คือ ทร. จะมีโครงการจัดหายุทโธปกรณ์ขนาดใหญ่หรือไม่ เช่น

การจัดหาเรือฟริเกต ที่อยู่ในชุด ร.ล.ภูมิพลอดุลยเดช ลำที่ 2 งบประมาณกว่า 16,500 ล้านบาท หรือไม่ แต่ด้วยการเป็นโครงการขนาดใหญ่ ทาง ทร. อาจจัดสรรงบไปกับโครงการขนาดย่อยที่ใช้งบน้อยกว่าแทน เช่น โครงการจัดหาอากาศยานไร้คนขับ , รถสะเทินน้ำสะเทินบก VN-16 , ฮ.ลำเลียง เป็นต้น

กองทัพอากาศ ได้ชะลอโครงการจัดหาเครื่องบินลำเลียง C-130 ออกไป เพราะต้องใช้งบประมาณถึงหลักหมื่นล้าน ทำให้ ทอ. ต้องนำเครื่องบินวีไอพีชนิดอื่นๆ มาช่วยบินสนับสนุน เพื่อลดชั่วโมงบิน ยืดเวลาการใช้งาน C-130 ไปพรางก่อน

ในส่วนงบประมาณผูกพันโครงการที่ดำเนินการไปแล้วของเหล่าทัพ ยังคงดำเนินต่อไป ตามสัญญาที่ได้ทำไว้กับต่างประเทศ กองทัพบก เช่น รถถัง VT-4 , ฮ.โจมตี AH-6 Little Bird , ยานเกราะสไตรเกอร์ กองทัพอากาศ ได้แก่ เครื่องบินโจมตี AT-6 TH ทดแทนเครื่อง L-39 , เครื่องฝึกบิน T-50 TH ทดแทนเครื่อง PC-9 และ กองทัพเรือ ได้แก่ เรือดำน้ำ Yuan Class S26T ลำที่ 1 , เรือยกพลขึ้นบก LPD-071E 1 ลำ , ร.ล.ภูมิพลอดุลยเดช (เรือฟริเกต) 1 ลำ เป็นต้น

พิจารณ์ ก้าวไกล -27C9-42D6-85E0-7A70C70F3CF6.jpeg

ปรากฏการณ์นี้ ทางพรรคฝ่ายค้าน ‘พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล มองว่าเป็นรูปแบบโครงการ ‘กองทัพดาวน์น้อย’ เอาไว้ในปีก่อนๆ แล้วก็เป็นภาระที่ต้องมาผ่อนกันในปีงบประมาณต่อๆไป 

จึงทำให้กองทัพมี ‘ภาระงบผูกพัน’ จำนวนมาก ผนวกกับการถูกตัดงบจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ ทำให้กองทัพขยับตัวเองได้ยากยิ่งขึ้น

มากันที่งบอีกส่วนหนึ่งที่ถูกจับตา คือ ‘งบบุคลากร’ ของกองทัพที่พุ่งสูงถึง 74% ของงบทั้งหมด 105,034 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 กว่า 1,740 ล้านบาท หรือ 1.68%

ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า งบบุคคลกรในกองทัพ เกินครึ่งหนึ่งของงบประมาณ โดยงบพัฒนากองทัพอยู่ที่ 17% และงบก่อสร้างปรับปรุงอาคาร สถานที่ และอื่นๆ 9 %

ซึ่งในกรณีนี้ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ชี้แจงว่า แผนงานบุคลากรภาครัฐ 105,034 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิของกำลังพล ในเรื่องของระเบียบประจำปี ซึ่งกระทรวงกลาโหมได้นำมารวมในส่วนนี้ด้วย จึงแตกต่างจากกระทรวงอื่น จึงทำให้แผนบุคลากรภาครัฐมีงบประมาณมากขึ้น ทั้งนี้กระทรวงกลาโหม มีแผนปรับลดจำนวนกำลังพลลง จากปัจจุบันถึงปี2570 จำนวนกว่า 12,000 คนเศษ ก็จะสามารถลบงบส่วนนี้ไปได้ 

ชัยชาญ สภา งบประมาณ B74EB077-FAC0-4F91-83AF-78A32CEBEDBD.jpeg

นอกจากนี้มีการมองถึงงบประมาณการก่อสร้าง อาคาร สถานที่ ครุภัณฑ์ แม้จะมีสัดส่วนเพียง 9 % ของงบกระทรวงกลาโหม แต่ก็ถูกถามถึงความจำเป็น ในการใช้งบส่วนนี้ที่สามารถชะลอออกไปก่อนได้ เช่น การก่อสร้างอาคารที่พัก การก่อสร้างอาคารที่ทำการ การปรับปรุงอาคารสาธารณูปโภคต่างๆ การปรับปรุงสถานที่ เป็นต้น 

ซึ่งในส่วนนี้อยู่ใน ‘งบลงทุน’ แบ่งเป็น สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 1,554 ล้านบาท , บก.กองทัพไทย 641 ล้านบาท , กองทัพบก 5,512 ล้านบาท , กองทัพเรือ 1,052 ล้านบาท และ กองทัพอากาศ 3,265 ล้านบาท รวมกว่า 12,024 ล้านบาท

รถถัง กองทัพเรือ  A9ED4AC8-BB31-42CD-BE9D-158BD12B289B.jpegรถถัง กองทัพเรือ  6AECD57C-BB65-434D-A6F2-F2381A98FB85.jpeg

ทั้งนี้ในช่วงที่สภาฯ กำลังอภิปรายถล่มการจัดทำงบฯปี 2565 ก็เกิดจังหวะที่กองทัพต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ หลังมีการส่งมอบยานเกราะโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบก แบบ ZTD-05A หรือ VN-16 จากประเทศจีน ให้กับ ทร.ไทย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่มีการแชร์รูปภาพในช่วงสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นช่วงสัปดาห์การพิจารณางบปี2565 พอดี

ทำให้ฝ่ายค้าน ‘จิรายุ ห่วงทรัพย์’ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย นำมาอภิปรายในสภาว่า’รถถังมาไวกว่าวัคซีน’

กองทัพเรือ ชี้แจงว่าได้จัดหายานเกราะโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบก VN-16 จากจีน ในโครงการซื้อยานเกราะโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบก ระยะที่ 1 จำนวน 3 คัน วงเงิน 398 ล้านบาท โดยเป็นปีงบประมาณ 2563 ก่อนโควิดระบาดเพื่อทดแทนรถถังหลัก Type 69-II ของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน

ทั้งหมดนี้เป็นสภาวะ ‘กลืนเลือด’ ของกองทัพ ในสภาวะที่เจอทั้ง ‘ศึกโควิด’ และ ‘ศึกการเมือง’ ที่ทั้ง ‘กองทัพ-รัฐบาล’ ต้องกรำศึกไปด้วยกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog