เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในทั่วโลก ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมากในช่วงไตรมาส 2/2563 ต่อเนื่องถึงไตรมาส 3/2563 เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศได้จากผลของมาตรการล็อกดาวน์ รวมถึงผลกระทบด้านการส่งออกจากมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศประกอบกับมีความล่าช้าในเรื่องการจัดทำงบประมาณปี 2563
ธนาคารโลก ประเมินว่าภาวะดังกล่าวจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2563 ติดลบ 8.3% และจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นในปี 2564 ที่ระดับ 4% ซึ่งการจะให้เศรษฐกิจไทยกลับไปฟื้นตัวได้ดีในระดับช่วงก่อนเกิดโควิดนั้น คาดว่าต้องใช้เวลามากกว่า 2 ปี เพราะไทยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ค่อนข้างรุนแรงในไตรมาส 2 ที่่ผ่านมา อีกทั้งยังมีผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่มีผลกระทบสูงมาก
อีกทั้ง ปีนี้ประเทศไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านอื่นเข้ามาเพิ่มเติมด้วย ได้แก่ 1.ความไม่แน่นอนทางการเมือง เช่น การชุมนุมประท้วงของกลุ่มนักศึกษา ปัญหาการแก้รัฐธรรมนูญ รวมถึงการปรับเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล 2.ปัญหาภัยธรรมชาติ ทั้งกรณีของน้ำท่วม และภัยแล้ง 3.การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่อาจจะกลับมาอีกในระลอกสอง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสหดตัวได้มากถึง -10.4% ซึ่งเป็นกรณีที่เลวร้ายสุด ซึ่งกว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปี
เบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย ยังกล่าวถึงกรณีที่ประเทศไทยประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ว่า การจะมองว่าเหมาะสมหรือไม่นั้นคงเป็นเรื่องที่ตอบได้ยาก เนื่องจากรัฐบาลของแต่ละประเทศจะต้องพิจารณาว่าอะไรคือความสมดุลระหว่างมาตรการดูแลด้านสาธารณสุขให้ประชาชน กับการดูแลเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ และในระยะยาวประชาชนจะสามารถอยู่กับผลกระทบทางเศรษฐกิจได้อีกนานแค่ไหน
เมื่อมองจากบางประเทศอนุญาตให้มีการเดินทางได้แล้ว แต่ก็พบการติดเชื้อในประเทศค่อนข้างมาก ขณะที่ไทย การติดเชื้อในประเทศค่อนข้างต่ำ แต่ก็มีการจำกัดการเดินทางเข้า-ออกประเทศ ดังนั้นจึงเป็นประเด็นที่รัฐบาลต้องหาจุดที่สมดุล ถึงผลระยะยาวและผลกระทบทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำอยู่ในปัจจุบันที่ทำให้มีการติดเชื้อในประเทศต่ำ อาจจะถูกต้องก็ได้ เรื่องนี้ต้องดูอนาคตด้วย
สำหรับมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศนั้น ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า เม็ดเงินสำหรับใช้ในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมามีขนาดค่อนข้างใหญ่ แต่การเข้าถึงประชาชนอย่างแท้จริงนั้น ควรจะทำได้มากกว่านี้ โดยเฉพาะการเข้าถึงภาคครัวเรือน ส่วนโครงการคนละครึ่ง ที่ให้เงินแก่ประชาชน 3,000 บาทได้ใช้ในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยนั้น ยังไม่ตรงเป้าหมายเท่าที่ควร ซึ่งรัฐบาลควรต้องมีมาตรการอื่นๆ มาสนับสนุนเพิ่มเติมด้วย
ทั้งนี้ ธนาคารโลก (World Bank) ได้จัดทำรายงานประเมินเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกฉบับล่าสุดชื่อ "From Containment to Recovery - the World Bank’s October 2020 Economic Update for East Asia and the Pacific" โดยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (EAP) จะเติบโตได้เพียง 0.9% ซึ่งนับเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2510 โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 พบว่าเศรษฐกิจประเทศจีนหดตัวลง 1.8% ส่วนประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้เศรษฐกิจหดตัวลงเฉลี่ย 4%
ขณะที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้หดตัว -8.3% อัตราเงินเฟ้อ -0.9% และในกรณีที่แย่สุดคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัว -10.4% จากนั้นในปี 2564 เศรษฐกิจไทยน่าจะกลับมาขยายตัวได้ถึง 4.9% อัตราเงินเฟ้อ 1% แต่หากเป็นกรณีที่แย่สุดคาดว่าเศรษฐกิจไทยก็จะยังขยายตัวได้ 3.5%
ส่วนประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ธนาคารโลกประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีพีดี) กรณีทีแย่ที่สุด ปี 2563 ดังนี้ ฟิลิปปินส์ -9.9% มาเลเซีย -6.1% กัมพูชา -2.9% สปป.ลาว -2.4% อินโดนีเซีย -2% เมียนมา -0.9% ขณะที่เวียดนาม ขยายตัว 1.5%
ส่วนประมาณการปี 2564 กรณีที่แย่สุด คาดหลายประเทศเศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัว แต่ยังไม่ได้เท่ากับก่อนมีโควิด-19 ดังนี้ สปป.ลาว ขยายตัว 2.8% ฟิลิปปินส์ 2.9% กัมพูชา 3% เมียนมา 3% อินโดนีเซีย 3% มาเลเซีย 4.4% และเวียดนาม 4.5%
แบงก์ชาติคาดเศรษฐกิจไทยติดลบยาวถึงไตรมาส 1/2564
ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แนวโน้มจีดีพีไทยจะกลับมาฟื้นตัวเป็นบวกได้ภายในไตรมาสที่ 2/2564 ซึ่งปัจจัยมาจากเศรษฐกิจไตรมาส 2/2563 หดตัวลงลึก เมื่อเทียบฐานที่ต่ำจึงเห็นเศรษฐกิจขยายตัวเป็นบวก ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาสจะเห็นการขยายตัวเป็นบวก แต่เป็นการขยายตัวในอัตราหดตัวติดลบไปถึงไตรมาสที่ 1/ 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :