ไม่พบผลการค้นหา
กรุงเทพมหานคร ได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองที่น่าลงทุนระดับโลก อันดับที่ 34 ขยับก้าวกระโดดถึง 11 อันดับจากปีก่อนหน้า สูงที่สุดเมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ย้ำ การพัฒนาเมืองให้น่าทำงานและน่าลงทุน เป็นหัวใจของการพัฒนาเมือง นักลงทุนเป็นส่วนสำคัญของกรุงเทพฯ

วันนี้ (12 ม.ค. 2568) นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวในโอกาสที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองที่น่าลงทุนระดับโลก อันดับที่ 34 ซึ่งสำนักข่าว Bangkok Post ได้รายงานว่า กรุงเทพฯ ก้าวกระโดดอย่างมีนัยสำคัญในดัชนีเมืองระดับโลก (Global Cities Index - GCI) ปี 2024 จากการจัดอันดับของบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจระดับโลก Kearney โดยขยับขึ้นถึง 11 อันดับ สู่อันดับที่ 34 จากเดิมอยู่อันดับที่ 45 ถือเป็นการเติบโตที่สูงที่สุดในบรรดา 50 เมืองชั้นนำทั่วโลก เป็นผลมาจากการพัฒนาในด้านกิจกรรมทางธุรกิจ ประสบการณ์ทางวัฒนธรรม และการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร 

ทั้งนี้ โดยความก้าวหน้าด้านกิจกรรมทางธุรกิจของกรุงเทพฯ มีปัจจัยหลักมาจากตัวเลขการขนส่งทางทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นในปีนี้ ที่หลายเมืองเผชิญปัญหาการขนส่งทางทะเลที่หยุดชะงักและความท้าทายอื่นๆ ที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ของกรุงเทพฯ จึงมีส่วนช่วยสนับสนุนความยืดหยุ่นในมิตินี้ นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของจำนวนบริษัทบริการชั้นนำระดับโลกในกรุงเทพฯ ยังช่วยยกระดับอันดับด้านกิจกรรมทางธุรกิจโดยรวม สะท้อนให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่แข็งแกร่งและน่าดึงดูด รวมถึงชื่อเสียงของ กรุงเทพฯ ที่เพิ่มขึ้นในฐานะศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ อันเป็นผลมาจากความสะดวกในการดำเนินธุรกิจและความน่าดึงดูดเม็ดเงินลงทุน เรียกได้ว่า รายงานการจัดอันดับนี้ ตอกย้ำความน่าดึงดูดของประเทศไทยในฐานะจุดหมายปลายทางสำหรับการให้บริการธุรกิจนอกประเทศ

สำหรับดัชนี GCI จะประเมินเมืองต่าง ๆ โดยใช้เกณฑ์ ประกอบด้วย

1. กิจกรรมทางธุรกิจ

2. ทุนมนุษย์

3. การแลกเปลี่ยนข้อมูล

4. ประสบการณ์ทางวัฒนธรรม

5. การมีส่วนร่วมทางการเมือง

โดยใช้ตัวชี้วัด 31 รายการ และในปี 2024 มีการนำเกณฑ์การวัดใหม่ ๆ มาใช้ เช่น ความพร้อมด้านดิจิทัลและการเคลื่อนย้ายของมนุษย์ เป็นต้น

ด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูล ตัวชี้วัดใหม่ด้านความเร็วอินเทอร์เน็ตส่งผลดีต่อกรุงเทพฯ ด้วย ซึ่งเราได้รับการจัดอันดับที่ 8 ของโลกในหมวดหมู่นี้ ส่วนด้านประสบการณ์ทางวัฒนธรรม ตัวชี้วัดต่างๆ เช่น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ความหลากหลายของอาหาร และศิลปะการแสดงและทัศนศิลป์ ล้วนมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเช่นกันครับ

อย่างไรก็ตาม ในรายงานของ Kearney ระบุด้วยว่า เพื่อไต่อันดับให้สูงขึ้น กรุงเทพฯ จำเป็นต้องเร่งจัดการกับข้อท้าทายสำคัญสองประการ คือ

1. การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ผ่านการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพและส่งเสริมความเท่าเทียมทางสังคม

2. การเสริมสร้างขีดความสามารถด้านนวัตกรรม