บัดนี้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภาค 2 ได้ผ่านด่านการทดสอบยกแรกกับศึกในรัฐสภาจากการตรวจสอบของฝ่ายค้านมาได้ 1 สมัยการประชุมรัฐสภา
ทว่าการคุมอำนาจภายใต้บริบทที่มีพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลมากถึง 19 พรรคตั้งแต่ฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลจนได้มาซึ่ง ‘รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ’ 254 เสียง
เสถียรภาพรัฐบาลมีความไม่แน่นอน เมื่อพรรคการเมืองขนาดจิ๋วถึง 2 พรรค มี ส.ส. 2 เสียงแยกตัวออกจากอ้อมกอดไปตั้งตัวเป็นเอกราชในรัฐสภา ด้วยบทบาทฝ่ายค้านอิสระ
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ซึ่งไม่ได้ลงเลือกตั้ง ต้องควบเก้าอี้ รมว.กลาโหม สวมหมวกอีกใบ และยังรับบทบาทหัวหน้าทีมเศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลผสม
ปี 2562 การเมืองไทยที่เข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาเป็น รัฐบาลอดีตหัวหน้า คสช. ที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง
สิ่งที่ต้องจับตา คือ อำนาจของรัฐบาลสืบทอดอำนาจเผด็จการทหารจะซ้ำรอยประวัติศาสตร์การเมืองไทยในอดีตมากน้อยหรือไม่
แล้วตัวนายกฯที่มาจากการรัฐประหารและยังต้องกระโดดเข้ามาคุมกองทัพเองภายหลังเลือกตั้ง รวมทั้งต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะต้องถูกการต่อรองภายในพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลด้วย
การเมืองไทยนับจากนี้จะเกิดอะไรขึ้น
ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมวิเคราะห์และฉายภาพการเมืองไทยในปี 2562 และเปรียบเทียบกับการเมืองไทยภายใต้การคุมอำนาจของผู้นำกองทัพในอดีตไว้อย่างแหลมคม
"รัฐบาลพล.อ.ถนอมชุดแรก ก็คุมรัฐสภาไม่อยู่ นั่นคือเหตุการณ์หลังปี 2500 แล้วพอถึงหลังปี 2512 การคุมไม่อยู่ชัดเจนขึ้น เพราะ ส.ส. มีข้อเรียกร้อง มีหลายๆ อย่าง ซึ่งสุดท้ายรัฐบาลแบกไม่ได้"
ถ้าเปรียบเทียบกับรัฐบาลเลือกตั้งทั่วไป รัฐบาลเลือกตั้งทั่วไปต้องกระจายตำแหน่ง เนื่องจากต้องดึงคนหลายฝ่าย หลายส่วน เข้ามาทำงาน แต่รอบนี้ผมคิดว่ามันสะท้อนความสืบเนื่องของรัฐบาลรัฐประหาร คือ ยังเชื่อว่าสุดท้าย ตัวนายกฯ อาจจะต้องคุมความมั่นคงด้วย โดยนัยยะของความมั่นคง คือ คุมกองทัพ เพราะฉะนั้น มองมุมหนึ่งก็เหมือนไม่ใช่เรื่องแปลก ก็คาดเดาไม่ได้ผิด ถ้าสมมติวันนี้ ถ้าตัวนายกฯ คือ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่คุมเอง ผมว่าถ้าเป็นไปอย่างเดิมก็จะเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีคุม ถามว่าต่างกันไหม ผมว่าก็อาจจะไม่ได้ต่าง โดยในนัยยะของ คสช. ที่สืบเนื่องกันมา
ตัวแปรที่สะท้อนชัดคือ เมื่อรัฐประหารจบลงเราเห็นแล้วละการตั้งรัฐบาลทหารซึ่งต้องคุมทุกอย่าง แต่พอถึงการเลือกตั้งจบลง ผมคิดว่าชุดความคิดไม่ได้จบลง คือยังเชื่อว่าต้องคุมทุกอย่างไว้ในมือ เพราว่าในการคุมไม่ได้คุมแค่กองทัพ แต่ว่าเรื่องนี้รัฐบาลลงไปคุมตำรวจเอง แล้วก็ยังคุมเศรษฐกิจเอง แปลว่าตัวตำแหน่งของนายกฯ เนี่ย แบกเรื่องหลักๆ ไว้พอสมควร ผมคิดว่าเราไม่ควรจะเปรียบเทียบกับอดีต เช่น จอมพล ป พิบูลสงคราม ตำแหน่งอย่างนี้คือจอมพล ป ในยุคต้นๆ ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองเกิด เราจะเห็นจอมพล ป เป็นนายกฯ เป็น รมว.กลาโหม เป็น รมว.ต่างประเทศ เป็นต้น
การที่ตัวนายกฯ มาเป็น รมว.กลาโหม ในช่วงรัฐบาลทหาร เช่นยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร ผมว่าเราจะพอเข้าใจได้ แต่พอมาถึงยุคปัจจุบัน มันก็กลายเป็นคำถามว่า ตัวนายกฯ ซึ่งมีภารกิจมากอยู่แล้วจะแบกรับปัญหาจริงๆ ได้มากน้อยเพียงใด เพราะอย่างที่ผมเปิดประเด็นว่า เราจะมองเพียงแค่การคุมทหารเนี่ยคงไม่ใช่แล้วละ เพราะมันรวมถึงการคุมตำรวจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งซึ่งผมว่าเราถกกันน้อยก็คือ นายกฯ รอบนี้คุมเศรษฐกิจด้วย เท่ากับสมมติถ้าเราพูดโดยนัยยะเนี่ย มือหนึ่งนายกฯคุมควมมั่นคง มือหนึ่งนายกฯคุมเศรษฐกิจ แต่ว่านายกฯ รอบนี้คุมภารกิจใหญ่มาก
ประเด็นสำคัญมันสะท้อนชัดว่าเมื่อเลือกตั้งเสร็จ คสช. พยายามที่จะคุมสิ่งที่คิดว่าเป็นประเด็นสำคัญ ผมคิดว่าเรื่องหนึ่งเราตอบได้ว่าโดยมิติด้านความมั่นคง คสช. มองว่าเรื่องนี้เป็นความสำคัญ ถึงยังต้องคุมทหารตำรวจไว้โดยตรง วันนี้เราต้องคิดต้องใช้คำขยายความว่า คุมโดตรง เพราะว่าตัวนายกฯ ลงมาคุมเอง แล้วพอถึงเศรษฐกิจ ทุกคนรู้ว่า 5 ปี เศรษฐกิจไม่ดี แล้วถ้าอยากขับเคลื่อน เราก็จะเห็น ถ้ามองในมุมหนึ่งเหมือนนายกฯ ลงมามีบทบาทในการควบคุมแล้วก็การผลักดันเอง แต่สิ่งที่ต้องคิดต่ออย่างที่ผมเปิดประเด็นว่า ถ้าคุมหมดทุกอย่าง แปลว่านายกฯ ใส่หมวกหลายใบ เอาเข้าจริงๆ จะทำงานได้มากน้อยเพียงใด จะผลักดันได้มากน้อยเพียงใด เนื่องจากการลงไปคุมทั้งทหารตำรวจและในส่วนที่เป็นเศรษฐกิจ ผมว่ามันเป็นเรื่องใหญ่ทั้งหมด เพราะฉะนั้นอันนี้มันก็เป็นความท้าทายว่า ท้ายที่สุดแล้วเมื่อไม่มีลักษณะของการกระจายการควบคุม ตัวนายกฯ จะแบกรับทุกสิ่งทุกอย่างได้มากน้อยเพียงใด
ผมคิดว่าเบ็ดเสร็จ มันก็อาจจะไม่เบ็ดเสร็จสะทีเดียว เนื่องจากมันมีรัฐสภาอยู่ แต่อย่างน้อยมันสะท้อนชุดความคิดก็คือยังเชื่อว่า นายกฯคุมทุกอย่างได้หมด เพระฉะนั้นชุดความคิดแบบนี้ ผมว่า ในทางกลับกัน มันไม่ค่อยตอบรับกับการบริหารรัฐสมัยใหม่ เนื่องจากรัฐสมัยใหม่เรารู้ว่ามีความซับซ้อนในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น มิติความมั่นคง มิติทางเศรษฐกิจ มิติทางการเมือง มิติทางสังคม ถ้าเราคิดอย่างนี้ เมื่อนายฯ ลงมาแบกรับทุกอย่างเนี่ย เป็นเหมือนความท้าทายที่นายฯต้องแบกต่อ เพราะมันเดิมพันด้วยความสำเร็จ ถ้าเข้ามาเป็นผู้ควบคุมแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นมันกลายเป็นความไม่สำเร็จ ผลมันจะเกิดกับตัวนายกฯ เอง
ผมไม่อยากใช้คำว่าในอนาคต นายกฯ จะกลายเป็นคนตำบลกระสุนตกที่มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเศรษฐกิจ โดยเฉพาะช่วงที่ผ่านมา ผมคิดว่ารัฐบาลรัฐประหา นายกฯ มีกันชน ก็คือมีทีมเศรษฐกิจของคุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ แต่พอวันนี้นายกฯ ขึ้นมานั่งเป็นหัวของทีมเศรษฐกิจเอง ผมว่ากันชนมันไม่มีแล้ว หมายความว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในนโยบาย ผลพวงที่เกิดขึ้นของการดำเนินทิศทางเศรษฐกิจของรัฐบาลเลือกตั้งที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ต้องรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น นั่นหมายความว่า ความท้ายทายชุดนี้ มันเดิมพันสูงขึ้น ในขณะที่การเดิมพันในอดีตเราเห็นชัดคือ รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารมีอำนาจพิเศษ สามารถที่จะใช้ มาตรา44 ในการจัดการเรื่องโน้นเรื่องนี้ แต่พอถึงในสถานการณ์ปัจจุบันผมว่าอำนาจตัวนั้นไม่ใช่ประเด็นแล้วละ ด้วยเงื่อนไขในการตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่
ผมเองคิดกลับเสมอว่า ในภาวะที่ต้องบริหารรัฐสมัยใหม่ การกระจายอำนาจ เป็นเครื่องมือที่ดีที่สุด แล้วเป็นโอกาสของการสร้างพื้นที่กันชนไม่ให้กระทบกับตัวนายกฯ ถ้านายกฯ แบกรับทุกอย่าง นายกฯ จะไม่มีกันชน เพราะฉะนั้นในสภาวะแบบนี้ ที่เชื่อว่าเป็นเหมือนรัฐบาลรัฐประหารอีกแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นนายกฯ สามารถลงมาคุมเอง ลงมาเล่นเองได้ทุกอย่าง คงต้องตระหนักครับว่าเอาเข้าจริงๆ รัฐบาลต้องการกระจายงานออก แล้วหาคนที่ความเหมาะสมเข้ามาช่วยรับในการดำเนินงานกิจการต่างๆ
แต่ถ้าทุกอย่างแล้วเราจะเห็นอย่างปัจจุบันนี้ นายกฯ แบกทหาร แบกตำรวจ แล้วก็เรื่องใหญ่ที่สุด ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญคือเศรษฐกิจ อย่างที่ผมพูดเสมอว่าความท้าทายชุดนี้สำเร็จหรือไม่สำเร็จนายกฯ จะต้องเป็นผู้รับ ไม่เหมือนกับยุคที่ทำรัฐประหาร เวลาเราวิจารณ์นโยบายเศรษฐกิจ ผมคิดว่าเป้าอยู่ที่คุณสมคิดกับทีม แต่ถ้าเป็นอย่างนี้ผมคิดว่าเป้าจะมากกว่าช่วงรัฐประหาร คือไม่ใช่เรื่องของคุณสมคิดกับทีมแล้วละ แต่เป้าจะมาไว้ที่ตัวนายกฯ มากขึ้น
ก็อาจจะใช้คำว่าเป้านิ่ง แต่ถ้าผมใช้อีกแบบคือ เป็นเป้าที่ชัดเจนแล้วละ ว่าเมื่อนายกฯ ตัดสินใจเข้ามาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งน่าสนใจมาก ปกติแล้วเราจะไม่ค่อยเห็นทหาร ผู้นำทหารตัดสินใจที่จะมานั่งในตำแหน่งอย่างนี้ เพราะว่าถ้าผู้นำทหาร ถ้าเราจะบอกว่า นายกฯ คุมกลาโหม คุมตำรวจ ผมว่าส่วนหนึ่งเราจะรู้สึกไม่ค่อยรู้สึกแปลกแยก แต่ถ้ารอบนี้เราเห็นชัดว่า ความรู้สึกที่จะเกิดก็คือแล้วตกลง 5 ปีที่ผ่านมา ที่รัฐบาลก็ไม่ค่อยส่งสัญญาณถึงความสำเร็จทางเศรษฐกิจอะไร แล้วรัฐบาลมาพร้อมกับตัวนายกฯ คนเดิมซึ่งมาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ผมว่ามันทำให้เกิดคำถามถึงโอกาสของความสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะปัจจุบัน ผมว่าทุกคนรู้อยู่ว่าเศรษฐกิจไทยมีปัญหา อาจจะต้องยอมรับนะครับว่า ปี 2562 เศรษฐกิจไทยมีปัญหามาก แล้วในภาวะที่มีปัญหามากเนี่ย เราเห็นค่าเงินบาทแข็ง แล้วยังรวมถึงสถานการณ์ที่ เกินเลยขีดความสามารถของรัฐไทยแล้วละ นั่นคือสถานกรณ์สงครามการค้า ที่เป็นปัญหาระหว่างประเทศ
เพราะฉะนั้นการวางทิศทาง การวางแผน การวางยุทธศาสตร์ทางการเศรษฐกิจของไทย ผมว่าเป็นเรื่องใหญ่ แล้วถ้าเชื่อว่าทุกอย่างเอาไปแขวนไว้ที่นายกฯ แล้วให้นายกฯ เป็นหัวหน้าทีม ผมว่ารอบนี้น่าคิด ว่าสุดท้ายแล้วความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงใด
ผมคิดว่าหมวกหลายใบไม่ใช่ประเด็นชี้ขาดว่ารัฐบาลจะอยู่สั้นอยู่ยาว แต่หมวกหลายใบมันชี้อย่างหนึ่งก็คือว่าเมื่อเอางานไปผูกไว้กับตัวบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งมากไป แล้วถ้าเกิดนโยบายมันมีปัญหา หรือมันขับเคลื่อนไม่ได้ คนๆ นั้นจะกลายเป็นเหมือนกับคนที่ต้องรับภาระสิ่งที่เกิดขึ้น หรือเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์
ขณะเดียวกันในมุมหนึ่ง ผมคิดว่าการสวมหมวกหลายใบ ในการเมืองไทยมันก็เกิดขึ้นจนไม่ใช่เรื่องแปลก ในยุคหนึ่งที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล คุณชวน หลีกภัย เป็นนายกฯ แล้วก็เป็นรมว.กลาโหม ในยุคคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เราก็เห็นภาพเดียวกัน คุณสมัคร สุนทรเวช ก็ใช่ เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่าในหลายปีที่ผ่านมา ความน่าสนใจคือ นายกรัฐมนตรีไทยที่มาจากการเลือกตั้งเองก็พยายามที่จะเข้าไปดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม เหมือนกัน แต่ข้อสังเกตคือนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งจะไม่เอาตัวเองไปเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นอันนี้ผมคิดว่าหมวกหลายใบรอบนี้เป็นสิ่งที่น่าติดตามว่า สุดท้ายแล้วรัฐบาลจะทำงานได้จริงมากน้อยเพียงใด
รัฐบาลพลเรือนที่นายกฯ ลงมาเป็น รมว.กลาโหม มาจากส่วนของพรรคการเมืองโดยตรง แต่ในกรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประยุทธ์เป็นทหาร แม้ว่าจะมีกระบวนการการเลือกตั้งที่ถูกสร้างขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช่เป็นคนที่ลงไปหาเสียงแล้วได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ต่างกับกรณีของนายกฯ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เพราะฉะนั้นในสภาวะอย่างนี้ ผมคิดว่าเมื่อเปรียบเทียบกับนายกฯ ชวน ทีเป็น รมว.กลาโหมเปรียบเทียบกับคุณยิ่งลักษณ์ ที่เป็น รมว.กลาโหมม รวมทั้งท่านนายกฯ สมัคร ซึ่งปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว เราจะเห็นว่าพลเรือนที่มาเป็นนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งแล้วลงมารับตำแหน่ง รมว.กลาโหม ปัญหาใหญ่คือขีดความสามารถในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับตัวกองทัพ ผมคิดว่าบทเรียนส่วนหนึ่ง เราเห็นกรณีของนายกฯ ชาติชาย ซึ่งสุดท้ายแล้ว ก็จบลงด้วยการรัฐประหารในเดือน ก.พ. 2534
ที่น่าสนใจว่า ถ้าเปรียบเทียบผมคิดว่าก็อาจจะคล้ายกับจอมพลถนอม หลังการเลือกตั้งของปี 2512 ซึ่งพยายามที่จะคุมกองทัพ แล้วมีบทบาทเป็น รมว.กลาโหมด้วย ผมคิดว่าถ้าเทียบเคียงในความหมายคือ ในภาพใหญ่ๆ มันมีความคล้ายในการรับตำแหน่ง
"รอบนี้เราก็เห็นความเป็นรัฐบาลผสมที่มาจากพรรคการเมืองที่หลากหลาย ก็มีคำตอบอย่างเดียวว่าคงต้องดูว่าสุดท้ายแล้ว สถานการณ์ของปี 2562 จะย้อนรอยประวัติศาสตร์ซ้ำในปี 2512 ก็คือ เมื่อ 50 ปีที่แล้วหรือไม่"
เวลาเปรียบเทียบการเมือง ปี 2562 กับปี 2512 ผมคิดว่าต้องหลีกเลี่ยงที่จะบอกว่า เรากำลังจะบอกว่าการเมืองปี 2562 จะจบแบบปี 2512 นะครับ แต่อย่างน้อย มันสะท้อนภาพของการเมืองชุดหนึ่ง ผมเคยเปรียบเสมอว่า ปี 2562 กับ 2512 มีความคล้ายเคียงกัน และปี 2562 ไม่คล้ายการเมืองหลังปี 2522
การเมืองหลังปี 2522 ก็คือยุคนายกฯ พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกฯ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่สังคมไทยชอบเรียกก็คือประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่ผมคิดว่าความต่างคือ นายกฯ เปรม ไม่ได้มีพรรคของตัวเอง แล้วไม่ได้มาในเงื่อนไขแบบที่เราเห็นในปัจจุบัน แต่ผมคิดว่าจอมพลถนอมมาด้วยการเลือกตั้งคือชัยชนะของพรรคสหประชาไทย แต่ในขณะเดียวกันชัยชนะชุดนี้ ความน่าสนใจคือ พรรคที่เป็นกลุ่มอิสระกลายเป็นพรรคอันดับสอง เมื่อรวมเสียงกลุ่มอิสระทั้งหมด หรือใช้ภาษาในยุคนั้นคือ ส.ส. ที่ไม่สังกัดพรรค เมื่อ ส.ส. ที่ไม่สังกัดพรรคกลายเป็นกลุ่มใหญ่รองจากเสียงของพรรครัฐบาล แล้วใหญ่กว่าพรรคฝ่ายค้าน ความน่าสนใจตอบได้อย่างเดียวว่า สุดท้าย รัฐบาลที่เกิดขึ้นก็จะต้องเป็นรัฐบาลผสม เพราะจะต้องดึงผู้สมัครอิสระเข้ามาเพื่อการจัดตั้งรัฐบาล
เพราะฉะนั้น ใครที่ย้อนกลับไปดูการเมืองหลังการเลือกตั้งของปี 2512 คำตอบตอบชัดคือ รัฐบาลผสมกลายเป็นเงื่อนไขของความอ่อนแอของรัฐบาล และเป็นเงื่อนไขของความอ่อนแอของการเมืองไทย จุดสุดท้ายผมคิดว่า เราจะเห็นอย่างหนึ่ง ในหลายปีที่ผ่านมา เวลาการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้วผู้นำทหาร ขึ้นมาเป็นนายกฯ ความต่างระหว่างผู้นำทหาร ช่วงที่เป็นผู้นำรัฐประหารกับช่วงที่เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ผมว่าต่างกันมาก
ช่วงที่ผู้นำทหาร คุมรัฐบาลทหารหลังรัฐประหาร มีความง่าย ในความหมายว่า ไม่มีพรรคการเมือง มันเป็นการคุม รัฐบาลที่คณะรัฐประหารเป็นผู้ตั้ง และคุมรัฐสภา ที่คณะรัฐประหารเป็นผู้เลือก ก็แปลว่าอย่างน้อยมันมีความง่ายขึ้น แต่ถ้าเราย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ หลังรัฐประหารที่จอมพลสฤษดิ์ทำ หลังปี 2500 แล้ว พยายามที่จะเปิดการเมืองจนสุดท้ายแล้ว จอมพลถนอมยศในขณะนั้น คือพลโทถนอมยังไม่ขึ้นเป็นพลเอก ขึ้นเป็นรัฐมนตรี หลังจากนั้นจึงปรับยศขึ้นเป็นพลเอก ก็จะเห็นชัดว่ารัฐบาลพล.อ.ถนอมชุดแรก ก็คุมรัฐสภาไม่อยู่ นั่นคือเหตุการณ์หลังปี 2500 แล้วพอถึงหลังปี 2512 การคุมไม่อยู่ชัดเจนขึ้น เพราะ ส.ส. มีข้อเรียกร้อง มีหลายๆ อย่าง ซึ่งสุดท้ายรัฐบาลแบกไม่ได้
ผมคิดว่ารอบนี้น่าสนใจ เวลาผมเปรียบเทียบ ปี 2562 กับ 2512 ผมคิดว่าเราเปรียบเทียบภาพรวมในแง่ของ มหภาค เรากำลังเห็นตัวแบบรัฐบาลผสมอีกครั้งหนึ่ง ความเป็นรัฐบาลผสมรอบนี้คล้ายกับความเป็นรัฐบาลผสม หลังการเลือกตั้ง ปี 2512
"ผมว่าบูรพาพยัคฆ์ คือวงศ์เดียว วงษ์สุวรรณ มันไม่มีหรอกวงศ์เทวัญ ผมว่าลิเกพวกนั้น เลิก มีวงศ์เดียว ผมว่าเลิกเรียกเถอะ ลิเก แล้วของจริงก็มีวงศ์เดียว คือ วงษ์สุวรรณ"
องค์ประกอบของการเป็นรัฐบาลผสมมาจากผู้สมัครอิสระ อาจจะเทียบเคียงกันได้ อาจจะเป็นเหมือน ก็คล้ายกับปัจจุบัน คือ เบี้ยหัวแตก คือเอาคนที่มาจากผู้สมัครอิสระเข้ามารวมจนสุดท้ายถามว่าคุมได้ไหม ผมว่าคุมไม่ได้ ผมถึงมีข้อสรุปเสมอว่า ทุกครั้งที่เราเห็นการเมืองไทย ผู้นำทหารคุมกองทัพได้ อันนี้ไม่มีข้อโต้เถียง แต่ผู้นำทหารยุคไหนสมัยไหนก็ตาม ผมว่าคุมรัฐสภาไม่ได้ แล้วเมื่อคุมรัฐสภาไม่ได้ นี่แหละ คือจุดเริ่มต้นของการทำรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง เพราะสุดท้ายเมื่อคุมรัฐสภาไม่ได้ ก็ต้องตัดสินใจล้มกระดานในสภา ผมถึงไม่เปรียบเทียบกับการเมืองหลังปี 2522 เนื่องจากต้องยอมรับว่าย้อนกลับไปดูรัฐบาลประชาธิปไตยครึ่งใบ ของนายกฯ เปรม ผมว่านายกฯ เปรม ท่านคุมสภาได้อยู่ ถ้านายกฯ เปรม คุมสภาไม่ได้ ผมว่าการเมืองระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบพังก่อน เราถึงเห็นว่า จากปี 2523 นายกฯ เปรม อยู่ยาวถึงประมาณต้นปี 2531 คือ 8 ปี เศษ ใน 8 ปี เศษ ตอบอย่างเดียวว่า การเมืองยุคที่เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ ตัวนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากพรรคการเมือง สามารถพอที่จะประคับประคอง หรือคุมให้สภา ไม่มีสภาวะของการแตก เหมือนกับในยุคจอมพลถนอม หลังปี 2512
ดังนั้น ปี 2562 ผมว่าน่าสนใจ ว่าจะออก หรือจะคลี่คลายไปอย่างไร ในสภาวะ ถ้าปี 2512 เราเห็นความเป็นรัฐบาลผสมที่มาจากผู้สมัครอิสระ ผมว่ารอบนี้เราก็เห็นความเป็นรัฐบาลผสมที่มาจากพรรคการเมืองที่หลากหลาย ก็มีคำตอบอย่างเดียวว่าคงต้องดูว่าสุดท้ายแล้ว สถานการณ์ของปี 2562 จะย้อนรอยประวัติศาสตร์ซ้ำในปี 2512 ก็คือ เมื่อ 50 ปีที่แล้วหรือไม่
จบด้วยการยึดอำนาจ เพราะเมื่อคุมสภาไม่อยู่ สุดท้ายจอมพลถนอมตัดสินใจยึดอำนาจรัฐบาลจอมพลถนอมเอง ปฏิวัติตัวเอง อย่างที่เราคุ้นเคย เพราะฉะนั้นรอบนี้ ผมไม่ได้บอกว่า จะจบลงอย่างนั้น เป็นแต่เพียง ผมกำลังเปรียบเทียบภาพให้เห็นว่า เมื่อตั้งรัฐบาลผสมภายใต้เงื่อนไขของปี 2562 ซึ่งมีความคล้าย ผมไม่ได้บอกว่าการเมืองต้องเหมือน 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ในความคล้าย มันคือสัญญาณที่เตือนว่า ถ้ารัฐบาลปี 2562 ไม่มีขีดความสามรถในการบริหารประเทศเหมือนปี 2512 น่าสนใจว่ารัฐบาลชุดนี้จะทำอย่างไรกับรัฐสภา เพราะว่าถ้าสมมติฐาน ผมเปิดเสมอว่า ผู้นำทหารที่เล่นการเมืองคุมกองทัพได้ แต่ไม่เคยคุมสภาได้ แล้วถ้าคุมสภาไม่ได้รอบนี้จะจบอย่างไร
ผมคิดว่าไม่เหมือน คือ นายกฯ เปรม โดยสาระในรัฐธรรมนูญมาอีกอย่างหนึ่ง มีการออกแบบอีกอย่างหนึ่ง แต่รอบนี้ผมเชื่อว่า สถาปนิกที่ออกแบบรัฐธรรมนูญพยายามจะแก้จุดอ่อนทุกอย่างที่เกิด ทั้งจุดอ่อนปี 2512 ทั้งจุดอ่อนหลังปี 2522 แต่ในขณะเดียวกัน ผมคิดว่าไม่ว่าจะแก้จุดอ่อนอย่างไร ถ้ารัฐบาล เป็นรัฐบาลผสมที่ไม่แข็งแรง
สิ่งที่เรากำลังเห็นรัฐบาล ผมคิดว่าความท้าทายใหญ่ คือ ผมว่าประชาชนหลายส่วน ไม่ยอมรับ เวลาเราพูดถึงความชอบธรรมของรัฐบาล มันอาจจะดูเป็นนามธรรม แต่คงต้องยอมรับว่าการตั้งรัฐบาลที่ผ่านกระบวนการการเลือกตั้ง ผ่านอะไรมา มันมีข้อถกเถียงหลายอย่าง ตั้งแต่ตกลงเราจะนับแค่ไหน ต่ำแค่ไหนที่จะไม่ควรได้ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ เพราะว่าในด้านหนึ่ง ข้อกำหนดทางกฎหมาย ชัดว่าพรรคที่ได้เศษ แม้กระทั่งเป็นทศนิยมสี่ตัวเนี่ย ก็ไม่นับเป็นหนึ่ง อะไรอย่างนั้นเป็นต้น รวมถึงสิ่งที่เราไม่เคยอนุญาตให้ทำ ในการเมืองไทย คือ เราไม่เคยให้ สภาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ถ้าทำอย่างนี้ผมคิดว่าในมุมหนึ่ง ถ้ามองไทยแล้วก็มองโลก ความน่าสนใจอยู่ที่ว่า เรากำลังเห็นการเมืองไทยชุดนี้ คล้ายคลึงกับการเมืองในเวทีโลกอีกชุดหนึ่ง ในหลายปีที่ผ่านมา ผมว่ามันมีความพยายามที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย หรือที่เราชอบพูดเสมอว่า เรื่องของการสร้างประชาธิปไตย หรือเรื่องของความเป็นประชาธิปไตย (democratization)
การเมืองจากปี 2522 ถึง 2531 หรือการเมืองจากยุค พล.อ.เกรียงศักดิ์ พล.อ.เปรม จนถึงสิ้นสุดยุค พล.อ.เปรม มันคือยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่ยุคปัจจุบัน ผมคิดว่าการเรียกขานว่าประชาธิปไตยครึ่งใบ คงลำบาก เพราะเงื่อนไขหลายอย่างที่ถูกสร้างขึ้นผ่านรัฐธรรมนูญ ผ่านกฎหมายลูก ผ่านอำนาจของ ส.ว. ผ่านเงื่อนไขการตีความหลายอย่างที่เราเห็น ผมกำลังสงสัยว่าการเมืองรอบนี้ เป็นการเปลี่ยนผ่านที่ค่อนไปทางเผด็จการ หรือที่ผมเรียกว่าเป็นการเมืองกึ่งอำนาจนิยม หรือกึ่งเผด็จการ หรือถ้าจะเปรียบเทียบอีกอย่างหนึ่ง เราเห็นชัดก็คือ หลังจากการเลือกตั้งเกิดขึ้น มันคือการแปลงรูปของรัฐบาลทหาร หรือการแปลงร่างของรัฐทหาร สองส่วนนะครับ แปลงรูปของรัฐบาลทหาร และแปลงร่างของรัฐทหาร ทับซ้อนกันอยู่ แล้วก็ยังอยู่ด้วยกัน
แม้กระทั่งวันนี้อาจจะต้องยอมรับว่า กองทัพยังเป็นฐานที่สำคัญของรัฐบาลที่สืบเนื่องมาจากความเป็น คสช. หรือรัฐบาลทหารของ คสช. ไม่ได้หมายความว่า ทหารถูกตัดขาดออกไป ถ้าทหารถูกตัดขาดออกไป ผมว่าการเมืองไทยเปลี่ยนมากกว่านี้
ต้องยอมรับว่า บูรพาพยัคฆ์ เป็นตัวแบบของความพยายามที่จะสร้างฐานอำนาจในกองทัพ แล้วตัวละครที่ใหญ่ที่สุด ผมว่าคือสามคน คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือถ้าเรียงเตรียททหาร (ตท.) รุ่น 6 10 12 ผมว่าในการสร้าง มันเข้าไปครอบกลุ่มอื่นๆ ในกองทัพ แล้วมันทำให้ทหารกลุ่มอื่นในกองทัพ ส่วนหนึ่งถ้าจำเป็นต้องเติบโต ก็เหมือนกับต้องยอมรับ สถานะของกลุ่มบูรพาพยัคฆ์ ถ้าใช้คำแรงๆ ก็คือ ไม่ว่าคุณจะชอบ หรือไม่ชอบ สุดท้ายถ้าจำเป็นต้องเติบโต คุณจำเป็นต้องสวามิภักดิ์กับกลุ่มบูรพาพยัคฆ์ เพื่อให้สามารถเติบโตในสายงานของพวกเขาได้ เพราะฉะนั้นในหลายปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า พล.อ.ประวิตร เป็นคนที่ตั้งทหาร หรือเป็นคนที่ มีส่วนโดยมีนัยยะสำคัญ ปฏิเสธไม่ได้เลย ตั้งแต่ พล.อ.ประวิตร เป็น ผบ.ทบ. จนถึงปัจจุบัน การแต่งตั้งโยกย้ายทหาร อยู่ในมือของ พล.อ.ประวิตร มากที่สุด เมื่อเป็นอย่างนี้ ผมคิดว่าบูรพาพยัคฆ์ มันไม่ได้จบซะทีเดียว
แม้ว่าจะมีเงื่อนไขของคำอธิบายว่า บูรพาพยัคฆ์อ่อนกำลังลง กลุ่มอื่นๆ ที่พูดถึง ผมคิดว่าไม่มีจริง สายโน้นสายนี้ วงศ์โน้นวงศ์นี้ ผมว่าในความเป็นจริง ของจริง ถ้าเรายอมรับ แล้วพูดกันด้วยความเป็นจริง ผมว่าบูรพาพยัคฆ์ คือวงศ์เดียว วงษ์สุวรรณ มันไม่มีหรอกวงศ์เทวัญ ผมว่าลิเกพวกนั้น เลิก มีวงศ์เดียว ผมว่าเลิกเรียกเถอะ ลิเก แล้วของจริงก็มีวงศ์เดียว คือ วงษ์สุวรรณ ที่ตั้งแต่ พล.อ.ประวิตร เป็น ผบ.ทบ. เพราะฉะนั้นตัวละครที่สร้างขึ้นมา ผมว่าไม่ใช่ตัวละครจริง เพราะว่าส่วนหนึ่งจำเป็นต้องอยู่ภายใต้ฐานอำนาจของบูรพาพยัคฆ์
บูรพาพยัคฆ์เองอาจจะไม่ได้หมด หรือสูญสลายพลังทั้งหมด อันนี้เป็นประเด็นที่ต้องยอมรับ ผมคิดว่าเวลาเรามองการเมืองไทยแล้ว สร้างชุดความคิดที่ ไม่มีความชัดเจนในการอธิบาย ผมว่ามันไม่มีประโยชน์ พูดง่ายๆ คือ ต้องย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์บางส่วน ให้เห็นพัฒนาการ แล้วผมว่าพัฒนาการอาจจะมีอำนาจบางส่วนเข้ามา แต่วันนี้ โดยความเป็นจริง ผมคิดว่า 3 ป. หรือที่ผมเคยใช้เรียกว่าสามทหาร ปั้มสามทหารเนี่ยแหละ ยังอยู่ เป็นแต่เพียงวันนี้ปั้มสามทหารยังมีน้ำมันให้เติมได้มากอีกไหม อันนี้เป็นคำถามที่อาจจะต้องคุยกันต่อในระยะยาว ซึ่งผมคิดว่าในระยะสั้นวันนี้ การคุมทหารเปลี่ยนจาก ป. หนึ่ง ไปอีก ป. หนึ่ง ถามว่ามีนัยยะสำคัญมากไหม ผมไม่ค่อยแน่ใจ
อย่าลืมว่า หลายคนในกองทัพบก ณ ปัจจุบัน ก็เติบโตมาด้วยการแต่งตั้งของ พล.อ.ประวิตร ผมถึงเชื่อว่า จริงๆ แล้ว เวลาเราพูดถึงฐานของบูรพาพยัคฆ์ ผมคิดว่าต้องไม่คิดในรูปแบบของชุดความคิดแบบเก่า ฐานแบบยุครุ่น 5 รุ่น 7 ซึ่งมีความชัดเจน แต่ผมคิดว่าฐานบูรพาพยัคฆ์ มันคือฐานที่ผ่านการคัดเลือก และแต่งตั้ง อย่างน้อยตั้งแต่ พล.อ.ประวิตร เป็น ผบ.ทบ. ผมว่าตรงนี้แหละที่น่าสนใจ เพราะว่าถ้าเรามองภาพเล็ก เราจะนึกว่าฐานนี้ ต้องแค่คนที่เกาะอยู่กับ พล.อ.ประวิตร ซึ่งผมว่าไม่ใช่ ต้องเห็นภาพกว้างที่ เราเห็นในหลายปีที่ผ่านมาว่า ต้องยอมรับว่า มิติของการสร้างกลุ่มของบูรพาพยัคฆ์ เป็นสิ่งที่ในยุค รุ่น 5 รุ่น 7 ซึ่งครั้งหนึ่งเราเคยเชื่อว่ารุ่น 7 เป็นกลุ่มที่เข้มแข็งที่สุด แต่เราก็เห็นว่า สุดท้ายเนี่ย รุ่น 7 หลังจากความล้มเหลว ในการรัฐประหารแล้ว สุดท้ายกลุ่มยังเติร์ก หรือรุ่น 7 เนี่ย สุดท้ายก็ไม่สามารถขับเคลื่อนทางการเมืองได้จริง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง