ไม่พบผลการค้นหา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับบิ๊กทรีส์ โปรเจ็คท์ ระดมรุกขกรจิตอาสาตัดแต่งต้นไม้กว่า 70 คน สร้างโมเดล "ธรรมศาสตร์เมืองต้นไม้ใหญ่" เป็นตัวอย่าง รักษาต้นไม้ใหญ่ สวย ร่มรื่น กรองฝุ่น ไม่ใช่เรื่องยาก

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับบิ๊กทรีส์โปรเจ็คท์และเครือข่ายต้นไม้ในเมือง ระดมรุกขกรจิตอาสากว่า 70 คน ตัดแต่งต้นไม้ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยหวังให้เป็นโมเดล "เมืองต้นไม้ใหญ่" กิจกรรมนี้ มีที่มาจากการที่ อาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต ได้เห็นการตัดต้นไม้แบบผิดๆ ของหลายๆ เขตของกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตัดกุดหัวและการตัดกลางต้น จึงได้ชักชวนบิ๊กทรีส์โปรเจ็คท์ และเครือข่ายต้นไม้ในเมืองมาร่วมกิจกรรม

เพราะเมื่อมีการคลี่คลายการล็อกดาวน์แล้ว ควรจะต้องมีการระดมรุกขกรจิตอาสา มาช่วยกันลงมือตัดแต่งต้นไม้ใหญ่ให้เป็นตัวอย่าง

IMG_0430.jpg


โดยได้เลือกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ให้เป็นพื้นที่ปฏิบัติการเพราะมีการดำเนินการมาพอสมควรแล้ว โดยตั้งเป้าจะทำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ให้เป็นตัวอย่างของ "เมืองต้นไม้ใหญ่" จึงเป็นที่มาของรุกขกรจิตอาสากว่า 70 คนที่มารวมตัวกัน ซึ่งส่วนใหญ่คือผู้ที่ผ่านการฝึกอบรม "หลักสูตรรุกขกรรมขั้นต้น" ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีจัดฝึกอบรมไปแล้ว 10 รุ่น

อรยา สูตะบุตร แห่งบิ๊กทรีส์โปรเจ็คท์ กล่าวว่า ทุกคนที่มาในวันนี้มาด้วยความเต็มใจอย่างยิ่ง ไม่ใช่เพียงเพราะเป็นการกลับมาช่วยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้จัดอบรมการตัดแต่งต้นไม้ให้ แต่ยังเป็นเพราะ ช่วงที่ผ่านมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ซึ่งช่วยผู้คนได้มากมาย ทุกคนจึงอยากทำอะไรให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์บ้าง โดยอรยา กล่าวว่าคนมามากเกินคาด จากที่คาดไว้แค่ 30 คน เพราะเป็นช่วงโควิด-19 แต่ปรากฏว่ามีคนมามากกว่า 70 คน

IMG_0635.jpg

ทางด้าน อ.ปริญญา กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของกิจกรรมในวันนี้ คือการกลับมารวมตัวของรุกขกรที่ผ่านการฝึกอบรม เพื่อลงมือทำให้เห็นว่าต้นไม้ใหญ่สามารถอยู่ได้ในเมือง คนจำนวนมากไม่ทราบว่ามนุษย์นั้นขาดต้นไม้ไม่ได้ เพราะต้นไม้เปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ที่เราหายใจออกมาให้กลับเป็นออกซิเจนให้เราหายใจเข้าไปใหม่

"ถ้าไม่มีต้นไม้ ออกซิเจนจะที่ใช้หายใจจะหมดในเวลาไม่นาน และคาร์บอนไดออกไซด์ที่สัตว์ทั้งหลายหายใจออกมาจะท่วมบรรยากาศโลก ดังนั้น เราขาดต้นไม้ไม่ได้ ถ้าไม่มีต้นไม้เราจะตายกันหมดในเวลาไม่เกินหนึ่งเดือน" อ.ปริญญา กล่าว

IMG_0519.jpg

นอกจากนี้ ต้นไม้ยังดูดซับ PM 2.5 และมลภาวะต่างๆ และเป็นความร่มรื่นให้กับเมือง กรุงเทพมหานครและเมืองต่างๆ จะร้อนน้อยลงเมื่อมีต้นไม้ใหญ่เพิ่มขึ้น เมืองจึงขาดต้นไม้ไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เพียงการปลูกเพิ่มอย่างเดียว แต่คือการดูแลต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่แล้วด้วย

อ. ปริญญา กล่าวอีกว่า รู้สึกซาบซึ้งใจที่ทุกคนอยากจะมาช่วยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ธรรมศาสตร์จะได้ประโยชน์เท่านั้น เพราะถ้าธรรมศาสตร์ทำสำเร็จได้ แปลว่ามันไม่ยาก และดังนั้นทุกที่ก็สามารถทำได้ ดังเช่น โรงพยาบาลสนาม เมื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งโรงพยาบาลสนามขึ้นมา ก็เป็นตัวอย่างให้กับโรงพยาบาลอื่นๆ หรือตู้ปันสุขก็เช่นกัน เมื่อมีคนกลุ่มแรกทำขึ้นมา แล้วคนเห็นว่าดี ก็เกิดตู้ปันสุขขึ้นมาทั้งประเทศ สิ่งที่เราทำในวันนี้จะเป็นตัวอย่างให้คนเห็นว่า ต้นไม้สามารถอยู่ได้ในเมือง ต้นไม้สามารถอยู่ได้กับถนน ต้นไม้สามารถอยู่ได้กับผู้คน โดยทำที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ดู

โดยในวันนี้ทางกรุงเทพมหานคร และภาคเอกชนได้ส่งรถกระเช้ารวม 4 คันมาร่วมกิจกรรมด้วย บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก ทั้งนี้เนื่องจากยังอยู่ในช่วงโควิด-19 ทุกคนจึงใส่หน้ากากอนามัย โดยจะมีการถอดออกเมื่อปีนขึ้นต้นไม้ หรือเมื่อทำงานอยู่ห่างกันเท่านั้น

IMG_0465.jpg


ตั้งแต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เริ่มนโยบายดูแลต้นไม้ใหญ่เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ไม่เคยมีครั้งใดที่จะมีรุกขกรมาช่วยกันตัดแต่งดูแลพร้อมกันมากถึง 70 คนดังเช่นในวันนี้

อ.ปริญญา ซึ่งได้ร่วมตัดแต่งต้นไม้ ทั้งแบบปีนขึ้นและขึ้นด้วยรถกระเช้า กล่าวทิ้งท้าย "วันนี้เชื่อว่าจะมีต้นไม้ใหญ่ในจุดสำคัญได้รับการตกแต่งมากถึง 200 ต้น แม้ว่าจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของต้นไม้ใหญ่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต แต่นี่คือการกระตุ้นคนที่ชอบตัดต้นไม้ใหญ่แบบผิดๆ ให้หันมาหาวิธีการที่ถูกต้อง และเชื่อว่าในที่สุดประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้สำเร็จในที่สุด"