ไม่พบผลการค้นหา
สภาที่ 3 ชี้ รัฐบาลใช้งบเกินตัวและไม่ก่อประโยชน์ เมินสิ่งแวดล้อมและนโยบายที่เคยหาเสียง พร้อมเสนอลดงบกลาโหม สร้างสวัสดิการถ้วนหน้า

เมื่อวันที่ 15 ต.ค. ภาคประชาชนในนาม สภาที่ 3 ร่วมกับคณะกรรมการญาติพฤษภา 35 ที่จัดเสวนาโต๊ะกลม “งบประมาณพัฒนาประเทศได้จริงหรือ?” 

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า การส่งออกไทยลดลงอย่างชัดเจนและการใช้กำลังการผลิตเหลือเพียง 65.8% ต่อเดือนเท่านั้น หมายถึง การลงทุนภาคเอกชนจะไม่เกิดขึ้น ขณะที่มีการตกงานและการเลิกจ้างรวมถึงคนฆ่าตัวตายจากภาวะเศรษฐกิจแทบทุกสัปดาห์ ซึ่งปัญหาหลักเกิดจาก การบริหารจัดการภาครัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะจากการรวมศูนย์ 

นายธนาธร ได้ยกตัวอย่างโครงการที่ไม่เหมาะสมในแผนงบประมาณ ของหน่วยงาน DEPA ในกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่จะจัดโรดโชว์ 2 ครั้ง ใช้เงิน 410 ล้านบาท มีตัวชี้วัดคือเพื่อให้เกิดการลงทุน 300 ล้านบาท แทนที่จะเอาเงิน 300 ล้านไปลงทุนเลยดีกว่า เพราะยังเหลืออีก 110 ล้านบาทไปใช้อย่างอื่น นอกจากนี้ยังมีงบตามแผนบูรณาการจัดการมวลพิษและขยะมูลฝอย ใช้งบ 416 ล้าน ลงทุน 111 ล้านบาท หรือ 26 % เท่านั้น อีก 74 % เป็นค่าดำเนินการ ทั้งค่าติดตาม ค่าสัมมนา ไปจนถึงค่าประชาสัมพันธ์

โดยเสนอกรอบคิดของพรรคอนาคตใหม่และเป็นข้อเสนอต่อรัฐบาล คือ

1.)​ ลดงบดำเนินการมาเป็นงบลงทุน โดยเฉพาะพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน

2.)​ เปลี่ยนการตัดสินใจด้านงบประมาณจากรัฐส่วนกลาง ให้ท้องถิ่นดำเนินการ

3.)​ ทำเมกะโปรเจกต์ ที่เอื้อประโยชน์กลุ่มทุนให้น้อยลง ให้เป็นการลงทุนเพื่อคนทุกคน

4.)​ สร้างสวัสดิการสังคม ยกระดับจากระบบอนาถาเป็นสวัสดิการถ้วนหน้า

แนะตัดงบกลาโหม

นายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม กล่่าวว่า แม้ไม่ได้คาดหวังกับรัฐบาลชุดนี้มากนัก แต่รู้สึกผิดหวังอย่างยิ่งเมื่อเห็นร่างงบประมาณ และเชื่อว่าไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่สำคัญคือ ไม่มีงบสำหรับนโยบายต่างๆ ที่พรรคการเมืองใช้หาเสียงแม้แต่ของพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องค่าแรง, สวัสดิการผู้สูงอายุและเด็กอ่อน รวมถึงที่เกี่ยวกับการศึกษาและที่ดิน

นายนิติรัตน์ ระบุด้วยว่า มีหลายกระทรวงได้งบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างไม่จำเป็น เเละเห็นว่า หากตัดงบฯ กลาโหมลงแค่ 10 % จะสามารถนำมาเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุจาก 600 เป็น 1,000 บาทได้ประมาณ 1 ล้านคน, ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมครอบครัวละ 5,000 บาทได้ 1 ล้านครอบครัว, ให้สวัสดิการเด็กถ้วนหน้า 600 บาทต่อเดือนต่อคนได้ประมาณ 8 แสนคน, ฟื้นฟูผู้ป่วยและซื้อเตียงผู้ป่วยได้ประมาณ 4 แสนเตียง

อดีตขุนคลัง แนะอัดงบลดเหลื่อมล้ำแก้ยากจน

นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการจัดสรรงบประมาณประเทศไทย ปัจจุบันว่า เป็นงบประมาณ "ของศักดินา โดยศักดินาและเพื่อศักดินา" เพราะใช้เกินตัวและไม่คุ้มค่า โดยเฉพาะด้านความมั่นคง พร้อมเสนอให้ลดงบประมาณด้านกลาโหมและความมั่นคงลงอย่างน้อย 10 % เป็นเงินถึง 4 หมื่นกว่าล้านบาท, ลดกำลังพลโดยใช้ทหารอาสา เมื่อมีความจำเป็น ซึ่งจะแก้ปัญหาทหารรับใช้ได้ด้วย และต้องลดงบประมาณการดูงานของข้าราชการลง

สุชาติ ยืนยันว่า การจะเรียกนักลงทุนจากต่างชาติต้องมีความเชื่อมั่นและผู้นำที่มาจากการสืบทอดอำนาจรัฐประหารไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นได้ ส่วนรัฐบาลควรมีหน้าที่ 3 เรื่อง คือ

1.)​ ป้องกันประเทศ 2.)​รักษาความสงบเรียบร้อยในชาติ ซึ่งมีตำรวจอัยการและศาลดูแล และ 3.)​ ทำโครงสร้างบริหารจัดการพื้นฐานขนาดใหญ่ ดูแลสิ่งแวดล้อมและจัดการภัยพิบัติ ที่สำคัญคือ รัฐบาลต้องมีงบประมาณที่จะลดความเหลื่อมล้ำ โดยการจ้างงานเพื่อจะแก้ปัญหาความยากจนได้ , ต้องจัดงบแบบฐานศูนย์ หรือดูความจำเป็นของสิ่งที่จะทำก่อนกำหนดงบ และยังเห็นว่า ไทยไม่ควรมี 2 สภา โดยควรยกเลิกวุฒิสภา ให้มีเพียงสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น

ติงรัฐเมินแก้สิ่งแวดล้อม-สุขภาพประชาชน      

รองศาสตราจารย์ เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุถึงสิ่งที่เคยคิดว่า งบประมาณจะช่วยให้คนไทยได้อะไรมาบ้าง แต่เมื่อดูเรื่องงบประมาณจะพบว่า ปัญหาหลายๆเรื่องจะไม่ได้รับการแก้ไขภายใต้กระบวนการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลแบบนี้เลย นับแต่ปัญหาการกระจายการถือครองที่ดิน โดยมีสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน ได้งบเพียง 39 ล้านบาท ตั้งเป้าเกษตรกรที่จะได้รับการจัดสรร 108 รายจากหลายแสนคนที่ไร้ที่ดิน ขณะที่มีเกษตรกรไปขึ้นทะเบียนหนี้สินกับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ประมาณ 5 แสนราย ตั้งเป้าหมายเพียง 2,400 คนเท่านั้น

เดชรัต ยังกล่าวถึงการจัดการเรื่องฝุ่นพิษ หรือ PM 2.5 ที่มีความเสียหายในทางเศรษฐศาสตร์ที่ผ่านมาราว 7.7 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลเตรียมงบประมาณไว้จัดการ ในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมกัน 233 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.03 % ของมูลค่าความเสียหายเท่านั้น ที่น่าสนใจคือ ในเขตพัฒนาเศณษฐกิจพิเศษสิ่งแวดล้อม มีงบดูแลสิ่งแวดล้อมเพียง 5.5 ล้านบาทเท่านั้น

ส่วนงบโดยรวมด้านสิ่งแวดล้อมมี 12,867 ล้านบาท ใกล้เคียง กับโครงการชิม ช้อป ใช้ เทียบเป็น 0.07 % ของ GDP น้อยกว่าสหภาพยุโรปถึง 10 เท่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ชี้ชัดว่ารัฐบาลไม่ได้ให้ความสนใจประเด็นสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนเลย

'พิชัย' จี้รัฐพัฒนาเศรษฐกิจ หยุดช้อปยุทโธปกรณ์

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ไม่ว่ารัฐบาลจะใช้งบประมาณมากเพียงใดหรือมากกว่านี้เป็นพันเท่า ก็ไม่เกิดประโยชน์ หากยังมีการสร้างผีในอดีตขึ้นมาทำให้ประเทศเสียหาย นับแต่ปลุกผีคอมมิวนิสต์ในยุค 6 ตุลาคม 2519, ผีทักษิณ และล่าสุดกำลังจะมีการสร้าง "ผีธนาธร" ซึ่งหากใช้วิธีการลักษณะนี้ก็จะสร้างผีตัวใหม่ๆให้เกิดขึ้นมาอีกในอนาคต อย่างไรก็ตาม แม้คนในประเทศยากจน แต่งบประมาณก็มีเพียงพอ เพราะประเทศไม่ได้ยากจน และอยากเห็นรัฐบาลใช้จ่ายเงินให้เยอะๆ เพื่อกระตุ้นและพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ต้องใช้งบประมาณที่เป็นการพัฒนาประเทศจริงๆ ไม่ใช่ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ทางการทหาร

เผยงบแก้ไฟใต้ ส่อพิรุธ

ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ใต้ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์​ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวถึงการบริหารงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ถูกล็อคหรือกำหนดเอาไว้ล่วงหน้าแล้วจากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีในรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณฉบับใหม่ปี 2561 ในยุค คสช. โดยระบุว่า ภาครัฐมีแผนงบประมาณบูรณาการการใช้งบประมาณเพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาแบ่งงบตามแผนงานต่างๆ แต่ไม่ได้มีเป้าหมายว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างไร เพียงแค่ใช้การขับเคลื่อนเป็นตัวชี้วัดเท่านั้น โดยงบต่างๆ กระจายไปอยู่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกระทรวงต่างๆ ไม่ได้เป็นก้อนเดียวกัน หรือเป็นลักษณะการ "ซ่อนงบ" จึงติดตามดูงบประมาณโดยรวมที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาได้ยาก 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศรีสมภพ เสนอ 2 ประเด็นเกี่ยวกับการใช้งบประมาณและการแก้ปัญหาภาคใต้ คือ

1.) ต้องสนใจประเด็นเรื่องตัวชี้วัดความสำเร็จ ไม่ดูแค่จำนวนครั้งของการก่อเหตุว่าลดลงเท่านั้น แต่ต้องดูผลกระทบทางด้านการพัฒนาด้านอื่นโดยเฉพาะด้านความยุติธรรมในพื้นที่ด้วย

2.)​ งบประมาณภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องให้ประชาชนทราบที่มาที่ไป โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับความมั่นคงและเรื่องที่มีความอ่อนไหวทางสังคม