ไม่พบผลการค้นหา
อสังหาริมทรัพย์ไทยปี 63 โตในช่วงติดลบร้อยละ 0.2 - 7.3 จากมาตรการกระตุ้นของรัฐ ย้ำไม่มีความเสี่ยงฟองสบู่และคนจีนยังถือกรรมสิทธิ์ในสัดส่วนต่ำ

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (ศขอ.) เปิดเผยตัวเลขหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศในปี 2562 ปรับตัวดีขึ้นจากปี 2561 โดยมียอดโอนกรรมสิทธิ์ทั้งสิ้น 373,365 หน่วย และมีมูลค่าการโอนถึง 875,189 ล้านบาท คิดเป็นการปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 2.7 และ 4.3 ตามลำดับ

ที่อยู่อาศัย
  • วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)

โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักคือ (1.) มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้จากการซื้อบ้านและห้องชุด (บ้านหลังแรก) ไม่เกิน 200,000 บาท (2.) มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนและลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์เหลือประเภทละ ร้อยละ 0.01 สำหรับการซื้อบ้านจัดสรรหรือห้องชุดราคาไม่เกิน 1,000,000 บาท (รวมบ้านสร้างใหม่และบ้านมือสอง)

(3.) มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนและลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์เหลือประเภทละ ร้อยละ 0.01 สำหรับการซื้อบ้านจัดสรรหรือห้องชุดราคาไม่เกิน 3,000,000 บาท ที่ซื้อจากผู้ประกอบการ

คาดโคโรนาทำปี 63 ติดลบ

ขณะที่การประมาณการตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2563 นายวิชัย ชี้ว่า เมื่อคำนวณรวมผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ประกอบกับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) และอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate) หรือ MRR จะมีตัวเลขประมาณการเติบโตในฝั่งหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ที่ติดลบร้อยละ 0.2 ในกรณีทั่วไป และร้อยละ 7.3 ในกรณีดีที่สุด ขณะที่มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์จะอยู่ในช่วงติดลบร้อยละ 2.5 ไปจนถึงร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับตัวเลขอของปี 2562 

นายวิชัยชี้ว่า ปัจจัยที่จะมาช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์นอกจากสภาวะเศรษฐกิจที่หวังให้ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี คือการผ่อนปรนมาตรการ LTV จากธนาคารแห่งประเทศไทย และมาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนและลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์เหลือประเภทละ ร้อยละ 0.01 สำหรับการซื้อบ้านจัดสรรหรือห้องชุดราคาไม่เกิน 1,000,000 บาท และ 3,000,000 บาท ที่จะมีผลถึง 23 มิ.ย. 63 และ 24 ธ.ค. 63 ตามลำดับ

ฟองสบู่ไม่มีและไม่ต้องกลัวจีน

นายวิชัยย้ำว่า จากข้อมูลที่ ศขอ. มีอยู่ในมือ สะท้อนชัดเจนว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยยังไม่มีความเสี่ยงเรื่องการเกิดฟองสบู่ โดยตัวเลขอุปทานคงค้างทั้งฝั่งแนวราบและแนวดิ่ง ณ สิ้นปี 2562 อยู่ที่ประมาณ 258,000 หน่วย และมีแนวโน้มจะลดเหลือ 218,700 หน่วย ณ สิ้นปี 2563 เมื่อนำตัวเลขดังกล่าว ไปเทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปี ซึ่งอยู่ที่ 245,500 หน่วย จึงถือว่าตลาดสามารถดูดซับอุปทานได้ดี และยังคงมี "อุปสงค์แอบแฝง" ที่ได้อานิสงส์จากมาตรการของรัฐบาลเข้ามารองรับอยู่

สำหรับกรณีการเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทยของชาวจีน นายวิชัย ชี้ว่า ยังไม่ใช่เรื่องน่ากังวล เพราะตัวเลขจำนวนหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์และมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนจีน คิดเป็นเพียงร้อยละ 6 และร้อยละ 9 ตามลำดับเท่านั้น หรือคิดเป็นจำนวนและมูลค่า 7,500 หน่วย และ 29,000 ล้านบาท ตามลำดับเท่านั้น อีกทั้งแนวโน้มการโอนกรรมสิทธิ์ของชาวจีนในปี 2563 จะลดลงราวร้อยละ 25 จากสถานการณ์ไวรัสโคโรนาด้วย