อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี รับทราบประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 1 กันยายน 2565 โดยกำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำทั่วประเทศอยู่ที่ 328 - 354 บาท/วัน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 สำหรับอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำปี 2565 ดังนี้
ทั้งนี้ในการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ คณะกรรมการ ฯ ได้คำนึงถึง ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณท์มวลรวมของประเทศ (GDP) และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม
นอกจากนี้ การพิจารณายังอยู่บนพื้นฐานความเสมอภาคและรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย ซึ่งผลการพิจารณา เป็นที่ยอมรับร่วมกันของทุกฝ่ายแล้ว เพื่อให้นายจ้างสามารถประกอบธุรกิจอยู่ได้ และลูกจ้างสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข โดยเชื่อมั่นว่า จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ หรือมีผลทำให้ราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อ ปรับตัวสูงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อภาวะการครองชีพของประชาชนโดยทั่วไป
นอกจากนี้คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติหลักการ ร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่..) .... ปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันดีเซ และน้ำมันอื่นๆ ที่คล้ายกัน รวมถึงน้ำมันเตา ที่โรงไฟฟ้าใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าและขายกระแสไฟฟ้าทั้งหมดให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยกำหนดให้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตราศูนย์ บาท/ลิตร ตั้งแต่ 16 กันยายน 2565 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2566 เพื่อควบคุมไม่ให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น จนกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ ความสามารถในการแข่งขันเชิงธุรกิจ และการดำเนินชีวิตของประชาชน
รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงการคลังประเมินว่า จะก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีทั้งสิ้นรวม 1,436 ล้านบาท แบ่งเป็น สรรพสามิตน้ำมันดีเซล (บี0) ประมาณ 1,400 ล้านบาท และจากน้ำมันเตาประมาณ 36 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังยืนยันว่า จะไม่กระทบต่อเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิต เนื่องจากรายได้ที่สูญเสียดังกล่าวไม่ได้ถูกนำไปรวมในเป้าหมายตั้งแต่ต้น
ในทางกลับกันไฟฟ้าเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่มีความจำเป็นในการดำเนินชีวิต และดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในทุกภาคส่วน ซึ่งการจัดเก็บภาษีอัตราศูนย์สำหรับน้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตาที่นำไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าในครั้งนี้ จะช่วยให้ต้นทุนในการผลิตกระแสไฟฟ้าไม่สูงมากเกินสถานการณ์ ส่งผลต้นทุนการผลิตในทุกอุตสาหกรรมก็จะไม่เพิ่มสูงมากจนเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ