เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา ถือเป็นวันครบรอบ 65 ปี การสถาปนาโรงเรียนเตรียมทหาร สถาบันวิชาป้องกันประเทศ พร้อมทั้งมีการมอบรางวัลจักรดาว เกียรติยศอันสูงสุดแก่เหล่าศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมทหาร ซึ่งในทุกปีก็จะเหมือนเป็นการ ‘ล็อค’ รางวัลให้แก่ผู้บัญชาการเหล่าทัพ-สำนักงานตำรวจฯ ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งไปโดยปริยาย
‘วอยซ์’ ชวนอ่านเหตุผลที่ทำให้ 3 ผู้นำ ‘ทัพฟ้า-ทัพเรือ-ทัพสีกากี’ นักเรียนเตรียมทหารรุ่น 22 ผู้ได้รับรางวัล ‘จักรดาว’ในปีนี้ ผ่านเหตุผลที่ระบุในหนังสือ ‘เกียรติยศจักรดาว ประจำปี 2566’ ที่แจกให้แก่ผู้เข้าร่วมในงานสถานปนาโรงเรียนซึ่งเป็น ‘สารตั้งต้น’ แห่งความคิดทางด้านความมั่นคง
เป็นที่ทราบกันดีว่า การประชุมเอเปค 2022 ถือเป็น ‘ฝันที่ไม่กล้าฝัน แต่บิ๊กตู่ก็แอบฝัน’ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ดังนั้นกองทัพทุกหมู่เหล่าจึงได้เร่งให้ความสำคัญกับการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจในครั้งนี้
โดยกองทัพอากาศ ภายใต้การนำของ ‘บิ๊กตุ๊ด’ หรือ พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ หลังทะลุแรงแซงที่ประชุม 7 เสือกลาโหมเมื่อปลายปี 2565 จนเข้าวินนั่งตำแหน่งผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ก็ถือโอกาสโชว์ฟอร์มสั่งการให้กองทัพอากาศนำทรัพยากร และขีดความสามารถทั้งหมดที่กองทัพไทยมี อาทิ การจัดหน่วยบินเตรียมพร้อมป้องกันทางอากาศ (Alert) การจัดอากาศยานบินถ่ายภาพ และการนำระบบต่อต้านอากาศยานไร้คนขับขนาดเล็ก (Anti Drone) มาใช้เพื่ออารักขาผู้นำประเทศที่จะมาเข้าร่วมประชุม
ซึ่งนี่ก็อยู่ในแผนปูพรมความปลอดภัยระดับพระกาฬที่นายกฯ หมายมั่นปั้นมือ โดยกองทัพอากาศเป็นด่านแรกของการดูแลเส้นทางการบิน การวางแนวป้องกันตามแนวร่อนเครื่องบิน ซึ่ง พล.อ.อ.อลงกรณ์ เคยให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2565 ว่า เรื่องนี้สำคัญมาก ถือเป็นจุดรับแขกจุดแรก คือพื้นที่จอดอากาศยานของกองทัพอากาศ จึงต้องเคลียร์อากาศยานที่อยู่ในพื้นที่ ย้ายไปจอดที่ กองบิน 4 จ.นครสวรรค์ เพื่อให้มีพื้นที่ว่างรองรับเครื่องบินแขกต่างชาติ
พล.อ.อ.อลงกรณ์ กล่าวว่า มีที่จอดเพียง 6 จุด ต้องหาเพิ่มให้มากกว่านี้ เพราะทราบว่าประเทศซาอุดิอาระเบียจะมามากถึง 800 คน การเตรียมสถานที่จอดอากาศยานไม่มีผลกระทบต่อประชาชน เพราะเป็นเรื่องของการรับแขก
อย่างไรก็ตามภายหลังการประชุมเอเปคเสร็จสิ้น พล.อ.อ.อลงกรณ์ ยังได้โชว์ความกลมเกลียวในสายเลือดทหารอากาศด้วยการส่งสารแสดงความขอบคุณน้องๆ ทหารอากาศใต้บังคับบัญชา ทั้งกำลังพลภาคพื้นดิน และภาคพื้นอากาศที่อดทนไม่เหน็ดไม่เหนื่อยเพื่อสนับสนุนภารกิจ
พร้อมย้ำว่า “กองทัพอากาศเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการจัดงานประชุมเอเปค 2022 ในครั้งนี้”
ใครเคยฟังข่าววิทยุกองทัพเรือก็คงจะคุ้นกับคำขวัญของศูนย์ข่าวกองทัพเรือที่ว่า ‘กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่น และภาคภูมิใจ’
สำหรับ ‘บิ๊กจอร์จ’ หรือ ‘พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์’ แม้จะขึ้นสู่การเป็น ‘ผู้บัญชาการทหารเรือ’ (ผบ.ทอ.) ด้วยแผนสลับขั้วของ ‘พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย’ อดีต ผบ.ทร. ที่โยก ‘พล.ร.อ.สุทธินันท์ สมานรักษ์’ ผู้ช่วย ผบ.ทร. เต็งหนึ่ง ผบ. ไปเป็น รองเสธ.ทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) อย่างกะทันหัน แม้จะถูกมองว่าเป็นเพราะคอนเน็กชันระหว่าง ‘สมประสงค์-เชิงชาย’ แต่ผลงานของ พล.ร.อ.เชิงชาย ก็ดูจะเข้าตากองทัพ ด้วยเหตุผลที่ว่า ตั้งแต่ครั้งเป็นรองหัวหน้าสำนักงานฝ่ายอำนวยการ ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย โดยการยับยั้งการทำประมงผิดกฎหมาย และส่งรายงานการควบคุมต่อองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) จนทางสหภาพยุโรปยอมประกาศ ‘ลดสถานะ’ ใบเหลืองเพื่อเป็นการยอมรับต่อการแก้ปัญหา
ต่อมาเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 3 ก็เป็นผู้จัดตั้ง หน่วยเฉพาะกิจสกัดกั้นผู้อพยพหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เพื่อป้องกันกาแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และป้องกันความไม่สงบในประเทศเมียนมา และสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดจากการลักลอบขนแผ่นยางพาราจากประเทศเมียนมาเข้าประเทศไทยจนสามารถขยายผลไปยังผู้มีอิทธิพลได้
จัดตั้ง หน่วยเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อสกัดกั้นการลักลอบขนยาเสพติดเข้าทางทะเล ซึ่งจับกุมยาเสพติดประเภทเฮโรอีน และยาไอซ์จำนวน 800 กิโลกรัม และบุหรี่หนีภาษีอีก 600 ล้านบาท
จัดตั้ง หน่วยเฉพาะกิจควบคุมเรือสำราญและกีฬา เพื่อสนับสนุนรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และสนับสนุนการท่องเที่ยวตามโครงการ ‘ภูเก็ต แซนด์บ็อก’
นอกจากนี้ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ยังได้ระบุอีกว่า พล.ร.อ.เชิงชาย ยังเข้าร่วมการประชุมผู้บัญชาการทหารเรือภาคพื้นมหาสมุทรแปซิฟิคตะวันตก ที่ประเทศญี่ปุ่น และประธานร่วมคณะทำงานว่าด้วยความมั่นคงทางทะเล ตามกรอบการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียน-ไทย
“ภายใต้การนำของผู้บัญชาการทหารเรือ ท่านตั้งใจแน่แน่วที่จะพัฒนากองทัพเรือให้มีความพร้อมในทุกด้าน และดำรงจุดมุ่งหมายที่ต้องการให้กองทัพเรือเป็นกองทัพเรือที่ีประชาชน เชื่อมั่น และภาคภูมิใจ” ระบุในหนังสือเกียรติยศจักรดาว ประจำปี 2566
การขึ้นมานั่งแท่น ผบ.ตร. ของ ‘บิ๊กเด่น’ หรือ ‘พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์’ ดูเหมือนเป็นการประนีประนอมทางอำนาจระหว่าง ‘2 ป.’ ในวันที่ ‘พล.อ.ประยุทธ์’ ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ทำให้ ‘พล.อ.ประวิตร’ ต้องนั่งเป็นประธาน ก.ตร. เพื่อจัดโผเจ้ากรม และรองเจ้ากรมในปีกสีกากี
นับตั้งแต่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ขึ้นเป็น ผบ.ตร. ก็ดูเหมือนว่าจะถูกฤทธิ์ปีชงเข้าเล่นงาน เพราะมีแต่เรื่องราวในวงการตำรวจ และคดีสะท้านฟ้า สะท้านความรู้สึกประชาชน ตั้งแต่เหตุกราดยิงในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอุทัยสวรรค์ จ.หนองบัวลำภู จนนำมาสู่การตะบี้ตะบันปราบปรามยาเสพติด-คุมอาวุธปืนในตำรวจ
มาจนถึงเรื่อง ‘ความมั่นคง’ ที่งานนี้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ เป็นแม่งานในการบริหารจัดการชุมนุมสาธารณะในช่วงการประชุมเอเปค 2022 โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญๆ คือ
1.หัวหน้าคณะทำงานจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2563) จำนวน 13,000 เล่ม
2.หัวหน้าคณะทำงานจัดทำคู่มือปฏิบัติการดูแลการชุมนุมสาธารณะตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 (ฉบับ พ.ศ.2565) จำนวน 10,000 เล่ม
3.จัดฝึกอบรมกองร้อยควบคุมฝูงชน (คฝ.) จำนวน 16,320 นาย และครูฝึก คฝ. อีก 60 นาย
4.จัดการฝึกทบทวนเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลการชุมนุมสาธารณะ
5.จัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือในการควบคุมฝูงชน จำนวน 84 ชนิด
หนังสือ ‘เกียรติยศจักรดาว ประจำปี 2566’ ยังระบุอีกว่า ในห้วงการประชุมเอเปค 2022 มีการชุมนุมสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 13 กลุ่ม และมีการจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำความผิดมากกว่า 25 ราย โดยมีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บ 10 กว่าราย และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บ 14 นาย
การมอบรางวัล ‘จักรดาว’ ให้แก่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ยังเหมือนการปูนบำเหน็จหลังจากเป็นหน่วยงานหลักในการซักซ้อมยุทธวิธีเพื่อรองรับการประชุมเอเปค โดยจำลองสถานการณ์คนร้ายก่อเหตุกราดยิง ซึ่งถอดบทเรียนจากกรณีกราดยิงที่ศูนย์การค้าเทอมินอล 21 จ.นครราชสีมา ด้วยการใช้โดรนตรวจจับความร้อนเชื่อมต่อข้อมูล CCTV เพื่อช่วยเหลือตัวประกัน
อีกทั้งยังใช้ชุดปฏิบัติการพิเศษ ‘อินทรราช 26’ จากกองบัญชาการตำรวจนครบาล ‘นเรศวร 261’ จากกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ‘คอมมานโด’ จากกองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ ‘หนุมาน’ จากกองบังคับการปราบปราม และ ‘สยบไพรี’ จากกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด
สำหรับผลงานทางด้านการปราบปราม ป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติดนั้น หนังสือระบุว่า พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ เป็นผู้ริเริ่มโครงการการบริหารจัดการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการจัดเก็บข้อมูลด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยได้รับงบประมาณจากกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
ริเริ่ม โครงการประชารัฐร่วมใจต้านภัยยาเสพติด หรือโครงการปักกลด โดยดำเนินการกับหมู่บ้าน หรือชุมชนในสถานีตำรวจพื้นที่รับผิดชอบตำรวจภูธรภาค 3 จำนวน 1,472 หมู่บ้าน โดยได้รับงบประมาณอุดหนุนจากจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
นอกจากนี้ในปี 2564 ยังจัดโครงการดำเนินงานชุมชนยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด แบบครบวงจรตามยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมีการดำเนินการปีละ 1,483 ชุมชน โดยเป็นการแก้ปัญหายาเสพติดเชิงรุกแบบครบวงจร ทั้งด้านการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติด