ไม่พบผลการค้นหา
พรรคพลังประชารัฐ เตรียมเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 7 เม.ย.นี้ เสนอให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และไม่ให้นำคะแนนเสียงเลือกตั้งมาคำนวณสัดส่วน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เพื่อลดคำครหา ส.ส.ปัดเศษ

ไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ฝ่ายกฎหมาย แถลงข่าวถึงการเตรียมยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพระพลังประชารัฐ ว่าขณะนี้ได้มี ส.ส.ร่วมลงรายชื่อตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว เหลือเพียงการยื่นญัตติให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม โดยในวันที่ 7 เม.ย.นี้ ได้ประสานไปยัง ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอยื่นญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแล้ว 

ไพบูลย์ ได้กล่าวถึงที่มาในการขอยื่นแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้มาจากการที่ตนได้เคยเป็นกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายในหลายคณะ ประกอบกับการได้รับฟังความเห็นจากเพื่อนสมาชิก ส.ส.และ ส.ว. เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นจำนวนมากจึงเป็นที่มาในการยื่นขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้ 

ทั้งนี้ประเด็นในการขอยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย 5 ประเด็นสำคัญครอบคลุม 13 มาตรา ประกอบด้วย 

  • 1 ) การขอแก้ไขเพิ่มเติมในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพ แก้ไขมาตรา 29,41 และ มาตรา 45 คือการเพิ่มสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ให้ชุมชนมีสิทธิฟ้องหน่วยงานของภาครัฐ 
  • 2) การแก้ไขระบบการเลือกตั้ง มาตรา 83 85 86 90 91 92 และ มาตรา94 โดยให้การเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรเป็นแบบบัตร 2 ใบ โดยแบ่งเป็นส.ส. แบบแบ่งเขต 400 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน ตามรัฐธรรมนูญ 2540 ให้พรรคการเมืองใดส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้วไม่น้อยกว่า 100 เขตจึงมีสิทธิ์ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้ ให้พรรคการเมืองใดที่ได้คะแนนเสียงน้อยกว่าร้อยละ 1 ของจำนวนคะแนนเสียงรวมทั้งประเทศ ให้ถือว่าไม่มีส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้งและไม่ให้นำคะแนนเสียงดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อหาสัดส่วนจำนวนสสแบบบัญชีรายชื่อ เมื่อมีการเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขตภายใน 1 ปีไม่มีการคำนวณคะแนนสสแบบบัญชีรายชื่อ
  • 3)แก้ไขมาตรา 144 การพิจารณาพรบงบประมาณซึ่งเดิมมีปัญหากระทบต่อการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณแก้ไขโดยให้ใช้ข้อความตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 168 วรรค5 วรรค 6 วรรค 7 วรรค8 และวรรค9 มาใช้แทน
  • 4)แก้ไขมาตรา 185 เพื่อแก้ไขอุปสรรคการทำงานของส.ส.และส.ว.ให้สามารถติดต่อส่วนราชการหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้ฃ
  • 5)แก้ไขบทเฉพาะกาลมาตรา 270 เปลี่ยนแปลงอำนาจวุฒิสภาให้เป็นอำนาจรัฐสภามีหน้าที่และอำนาจติดตามเสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามหมวด 16 

ทั้งนี้ ไพบูลย์ กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้หวังจะเป็นการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่มีความขัดแย้ง และไม่มีค่าใช้จ่ายที่จะต้องเสียไปกับการทำประชามติ โดยคาดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะใช้เวลาที่น้อยที่สุด คือการยื่นแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 เม.ย. และเมื่อเปิดประชุมสมัยสามัญประจำปีที่ 3 ในวันที่ 22 พ.ค.นี้ ประธานสภาผู้แทนราษฎรควรที่จะบรรจุวาระแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในวันที่ 25 พ.ค. เป็นวาระแรก ซึ่งหากเป็นไปตามแนวทาง ที่วางไว้การเดินหน้าพิจารณาในวาระที่ 2 จะใช้เวลาอีก 1 เดือนนับจาก 25 พ.ค. และคาดว่าจะสามารถนำสู่การพิจารณาในวาระ 3 ได้ ภายในเดือนก.ค.นี้ 

อย่างไรก็ตามมั่นใจว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐจะผ่านการพิจารณาในวาระ 3 ของที่ประชุมรัฐสภาอย่างแน่นอน เนื่องจากประเด็นปัญหาในการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นประเด็นปัญหาจริงที่ควรจะได้รับการแก้ไข 

ไพบูลย์ ยังกล่าวถึง ประเด็นที่ไม่ได้นำมาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการตัดลดอำนาจของวุฒิสภาทั้งวาระการดำรงตำแหน่ง และการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเท่าที่ได้พูดคุยกับวุฒิสภาเบื้องต้นทาง ส.ว.ไม่เห็นชอบ ซึ่งประเด็นดังกล่าวจะนำสู่การแก้ไขได้นั้นจะต้องได้รับคะแนนเสียงโหวตจากสัดส่วนของวุฒิสภาไม่น้อยกว่า 84 คน หรือจะต้องนำสู่การจัดทำประชามติเพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนซึ่งจะต้องใช้เวลาและงบประมาณจำนวนมาก