ไม่พบผลการค้นหา
สื่อต่างประเทศเปิดเผยว่าผู้หญิงไทยที่มี 'บทบาทนำ' ทางด้านธุรกิจ คิดเป็นสัดส่วนสูงกว่าค่าเฉลี่ยในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก สะท้อนว่าแวดวงธุรกิจไทยเปิดกว้างแก่ผู้หญิง ตรงข้ามกับ 'แวดวงการเมือง' ซึ่งยังเป็นพื้นที่ของผู้ชายมากกว่า

บลูมเบิร์กเผยแพร่บทความภาษาอังกฤษ Why Thailand's Women Are So Successful in Business (But Not Politics) สะท้อนว่า ผู้หญิงไทยรับบทบาทผู้นำในแวดวงต่างๆ มากถึงถึงร้อยละ 37 ซึ่งถือว่ามากกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 24 ของผู้หญิงที่มีบทบาทนำในแวดวงต่างๆ ทั่วโลก อ้างอิงจากผลสำรวจของสหประชาชาติที่รวบรวมข้อมูลจาก 193 ประเทศสมาชิก  

นอกจากนี้ บลูมเบิร์กระบุด้วยว่า ผู้หญิงไทยที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารองค์กรหรือบริษัทต่างๆ คิดเป็นร้อยละ 40 ของตำแหน่งรวมในประเทศ ส่วนผู้หญิงที่มีบทบาทในระดับผู้นำหรือผู้กำหนดนโยบายในแวดวงการเงินการคลังก็มีจำนวนถึงร้อยละ 34 ซึ่งถือว่าเป็นความก้าวหน้าและจะนำพาให้เกิดความเท่าเทียมกันทางเพศในเรื่องการทำงานและวงการธุรกิจการเงินของไทยได้ในไม่ช้า

ส่วนเหตุผลหลักๆ 3 ประการที่ทำให้ผู้หญิงไทยมีโอกาสและมีความก้าวหน้าไปจนถึงระดับผู้บริหารในแวดวงธุรกิจการเงิน ได้แก่

(1) ผู้หญิงเข้าถึงการศึกษาระดับสูง โดยรายงานด้านความเหลื่อมล้ำทางเพศของเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม (WEF) ซึ่งเผยแพร่ล่าสุดเมื่อปี 2017 ระบุว่า ไทยเป็นประเทศที่ผู้หญิงได้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษามากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก คิดเป็นสัดส่วนผู้หญิง 1.41 คนต่อผู้ชาย 1 คน และการที่ผู้หญิงได้รับการศึกษาขั้นสูงเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ผู้หญิงมีโอกาสพิสูจน์ความสามารถและได้รับประสบการณ์ด้านการทำงานในแวดวงต่างๆ รวมถึงด้านการเงินการคลัง จนในที่สุดก็ได้รับการยอมรับจากคนในแวดวงไม่แพ้ผู้ชาย

(2) ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยเป็นทายาทธุรกิจของตระกูลเก่าแก่ เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่แวดวงธุรกิจต่างๆ มีผู้หญิงดำรงตำแหน่งผู้นำหรือผู้มีอำนาจตัดสินใจในด้านต่างๆ ของการประกอบธุรกิจหรือดำเนินกิจการ โดยบลูมเบิร์กได้สัมภาษณ์ 'สุภาพรรณ พิชัยรณรงค์สงคราม' ทายาทรุ่นที่ 3 ของกิจการ 'เรือด่วนเจ้าพระยา' ซึ่งเป็นธุรกิจผู้ให้บริการเรือข้ามฝากและการล่องเรือต่างๆ ที่ดำเนินมาอย่างยาวนานเกือบร้อยปี และรองรับผู้ใช้บริการปีละกว่า 1.7 ล้านคน โดย 'สุภาพรรณ' ระบุว่า ลูกสาวของเธอก็ถูกวางตัวเป็นผู้บริหารกิจการรุ่นต่อไปเช่นกัน

ส่วนกิจการของบริษัท สยามพิวรรธน์ เป็นบริษัทธุรกิจค้าปลีกและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของไทย ปัจจุบันมี 'ชฏาทิพ จูตระกูล' เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ โดยตำแหน่งดังกล่าวเคยเป็นของพล.อ.เฉลิมชัย จารุวัสตร์ ผู้ก่อตั้งบริษัทและบิดาของ 'ชฏาทิพ' แต่ผู้บริหารรายนี้บอกกับบลูมเบิร์กว่า การเริ่มต้นในแวดวงธุรกิจของเธอไม่ได้นับหนึ่งที่ตำแหน่งบริหารเลย แต่เธอต้องเรียนรู้งานในทุกๆ ตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นแผนกต้อนรับหรือแผนกรักษาความปลอดภัย ซึ่งเป็นการเตรียมตัวให้เธอมีความรู้ความเข้าใจในบุคลากรและกลไกการทำงานต่างๆ อย่างรอบด้าน

IconSiam
  • กิจการ 'ไอคอนสยาม' เป็นความร่วมมือของสยามพิวรรธน์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดิเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น

(3) ความช่วยเหลือจากครอบครัว ช่วยสร้างสมดุลระหว่างบ้านและที่ทำงาน โดยบทความของบลูมเบิร์กรายงานอ้างอิงการสัมภาษณ์ 'แอนนา แคริน แจตฟอร์' ผู้อำนวยการองค์การ UN Women ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ระบุว่า ไทยเป็นสังคมที่มีครอบครัวขยายหรือครอบครัวขนาดใหญ่ ทั้งพ่อแม่ปู่ย่าหรือตายายยังอยู่รวมกันในครอบครัวเดียว และคนในสังคมไม่ได้มีทัศนคติตายตัวว่าผู้หญิงจะต้องเป็นแม่บ้านเท่านั้น แต่ผู้หญิงทำงานนอกบ้านยังมีญาติผู้ใหญ่ เช่น ปู่ย่าตายาย คอยดูแลลูกหลานแทน ช่วยให้การสร้างความสมดุลระหว่างบ้านและที่ทำงานของผู้หญิงไทยดำเนินไปด้วยดี เมื่อเทียบกับประเทศแถบตะวันตกอื่นๆ ที่เป็นครอบครัวเดี่ยวมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ว่ามานี้ไม่ได้ช่วยให้ผู้หญิงไทยมีบทบาทในแวดวงการเมืองมากนัก โดยอ้างอิงจากสถิติผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในรัฐบาลทหารชุดปัจจุบัน แม้จะเคยมีรัฐมนตรีผู้หญิง 3 คน แต่ขณะนี้มีรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลทหารที่เป็นผู้หญิงเพียง 1 คน ขณะที่ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี หรือ 'แคนดิเดตนายกฯ' ของพรรคการเมืองต่างๆ ก่อนที่ไทยจะจัดการเลือกตั้งครั้งใหญ่ในวันที่ 24 มี.ค. 2562 นี้ คิดเป็นสัดส่วนผู้หญิง 4 คน จากผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้งหมด 68 คน

บลูมเบิร์กได้สัมภาษณ์ความคิดเห็นของ 'ดร.จุรี วิจิตรวาทการ' จากคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ อดีตคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และ 'กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร' อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในยุคของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดย ดร.จุรี ระบุว่า ที่ทางของผู้หญิงในเวทีการเมืองนั้นค่อนข้างเงียบเหงา และผู้หญิงรวมตัวกันเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ยากกว่าผู้ชาย เพราะจำนวนผู้หญิงในเวทีการเมืองไม่ได้มีมากนัก 

ขณะที่อดีต รมว. กอบกาญจน์ ระบุว่า ผู้หญิงมีบทบาทและมีความสำคัญในการขับเคลื่อนหรือดำเนินกิจการต่างๆ เพียงแต่บางครั้งก็ยินยอมให้ผู้ชายเป็นฝ่ายพูดหรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ แทน 

ที่มา: Bloomberg/ WEF