ไม่พบผลการค้นหา
พลันที่คลิปเปิดโปงขบวนการ ‘กักตุนหน้ากากอนามัย’ มีภาพเชื่อมโยงคนสนิทรัฐมนตรีดัง บรรยากาศก็เหมือนยกภูเขาลูกใหญ่ออกจากอก จุรินทร์ ลักษณวิสิษฐ์ แห่งพรรคประชาธิปัตย์

เพราะนอกจากเป็นหัวหน้าพรรคแล้ว ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เขามีบทบาทหน้าที่โดยตรงในการต้องกำกับดูแลควบคุมสินค้าจำเป็นให้มีเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในราคาที่เหมาะสม ยิ่งโดยเฉพาะในยามวิกฤติจะต้องไม่เกิดการกักตุนจนสินค้าขาดตลาดจนประชาชนตื่นตระหนกเปิดทางให้มีการขูดรีดราคาสร้างความเดือดร้อนซ้ำเติมให้กับประชาชน 

ทว่า นับแต่เริ่มต้นสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด 19 นอกจากคำพูดสวยหรูชักชวนให้เชื่อมั่นตลอดเวลาว่า หน้ากากมีพออย่างแน่นอนแล้ว ทุกอย่างดูเหมือนจะพุ่งไปในทางตรงข้ามทั้งสิ้น ตั้งแต่ต้นปีเสียงบ่นถึงการหาซื้อสินค้ายากดังออกมาเรื่อยๆ กระทั่งเมื่อทนแรงกดดันไม่ไหวจึงค่อยออกมายอมรับว่าสินค้าอาจมีไม่พอ และออกประกาศให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุม เท่านั้นไม่พอ ล่าสุด ยังสั่งให้หน้ากากอนามัยจากโรงงานที่ผลิตมาทั้งหมดต้องส่งมาให้กรมการค้าภายในบริหารจัดการเท่านั้น แต่ทำถึงขนาดนี้แล้ว จนแล้วจนรอดก็ยังตอบสังคมไม่ได้เสียทีว่า หน้ากากอนามัยที่ผลิตได้นับล้านชิ้นต่อวันหายไปไหน ที่เลวร้ายไปกว่านั้นก็คือ นอกจากของไม่ถึงมือประชาชนแล้ว ยังไม่ถึงมือบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย สุดท้ายจนมาได้มือรัฐมนตรีคนดังมาช่วยป้ายไปรอบนี้เข้า กลิ่นที่ติดมือสีเทาๆอยู่แล้วมันจึงโชยแรงขึ้นและขจรกระจายไปไกลกว่าคนอื่นเขา กลายเป็นว่าความรับผิดชอบในมือพรรคประชาธิปัตย์ดูเหมือนจะถูกสังคมลืมไปเสียสิ้น

แต่เรื่องราวแบบนี้สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ก็ดูเหมือนจะเกิดขึ้นบ่อยไม่แพ้กัน เป็นที่น่าสังเกตว่าแทบทุกครั้งที่มีอำนาจอยู่ในมือ ข้อครหาเรื่องการกักตุนสินค้าหรือการหาประโยชน์จากโครงการต่างมักมีขึ้นหมือนเป็นเงาตามตัว แต่ข้อสังเกตที่ว่านี้จะจริงหรือไม่อย่างไร เราลองไปติดตามกัน 

รัฐมนตรี ‘สวาปาล์ม’ ใครๆก็จำ

ย้อนกลับไปในปี 2555 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งองค์คณะไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีกล่าวหา ‘ลุงกำนัน’ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ถูกร้องให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง เนื่องจากส่อว่าทุจริตปล่อยให้สต๊อกน้ำมันปาล์มขาดแคลนเมื่อปี 2554 โดยปั่นให้ราคาน้ำมันปาล์มในท้องตลาดมีราคาสูงขึ้นอย่างผิดปกติ เพื่อประโยชน์แก่พวกพ้องของตน

เชื่อว่าหลายคนคงจำเหตุการณ์น้ำมันปาล์มขาดตลาดในช่วงนั้นได้ เพราะไม่เพียงแต่ราคาน้ำมันปาล์มที่สูงขึ้น มันยังทำให้ราคาอาหารพุ่งทะยานไปตามต้นทุนและส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพเป็นวงกว้าง เชื่อได้ว่าหากตอนนั้นไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยเจาะจงให้เรื่องนี้เป็นไฮไลท์ ท่าทีของลุงกำนันซึ่งมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับธุรกิจสวนปาล์มก็คงไม่ขึงขังสั่งการให้กรมสอบสวนคดีพิเศษลงพื้นที่ทั้งที่ปัญหาการขาดแคลนน้ำมันปาล์มคาราคาซังมาหลายเดือน 

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ การอภิปรายไม่ไว้วางใจมีขึ้นในเดือนมีนาคม 2554 ช่วงหนึ่ง น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ฝ่ายค้านในขณะนั้น กล่าวว่า ปัญหาน้ำมันปาล์มที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากการสมคบกันเพื่อเอื้อประโยชน์ เพราะรัฐบาลทราบดีว่าน้ำมันปาล์มกำลังขาดตลาด แต่คณะกรรมการนโยบายน้ำมันปาล์มแห่งชาติ ซึ่งมีนายสุเทพเป็นประธาน ได้อนุมัตินำเข้าล่าช้า เหมือนเป็นการดึงเวลาจนทำให้มีผู้ได้รับผลประโยชน์ถึงกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งมีบุคคลใกล้ชิดสุเทพรวมอยู่ด้วย อีกทั้งการนำเข้าน้ำมันปาล์ม 30,000 ตันนั้น มีการกำหนดสเปกนำเข้าที่มีเงื่อนงำ

ในการชี้แจง นายสุเทพ ระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากความต้องการทั้งในประเทศและโลกเพิ่มขึ้น แต่เกิดภัยธรรมชาติทำให้ผลผลิตลดลง และไม่มีเจตนาดึงเวลาแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการคำนวณผลผลิตผิดพลาด นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ (ในการดูแลของพรรคภูมิใจไทย) ยังล่าช้าไม่ยอมนำเข้าตามที่ร้องขอ ส่วนกรณีที่น้ำมันปาล์มผิดสเปกที่มองว่ามีเงื่อนงำนั้น ความจริงแล้วเป็นเพราะประเทศผู้ผลิตไม่ยินยอมให้นำเข้าน้ำมันปาล์มแบบธรรมดาเข้ามา จึงต้องน้ำมันปาล์มแบบแยกไขมาผลิตต่อในประเทศ

สำหรับตอนจบของเรื่องนี้คงเดากันไม่ยาก เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าในเวลาต่อมาช่วงปลายปี 2556 นายสุเทพ กลายเป็นลุงกำนันผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในกลุ่ม กปปส. ที่มีเป้าหมายโค่นล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และออกบัตรเชิญให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เข้ามาทำรัฐประหาร หรือก็คือกลุ่มเดียวกันนี้ที่สืบทอดอำนาจต่อเนื่องกลายร่างมาเป็นรัฐบาลชุดปัจจุบัน

ส่วนที่เป็นไปอย่างเงียบๆก็คือ สำนักข่าวอิศรา ระบุว่า มีรายงานจากสำนักงาน ป.ป.ช. แจ้งมาว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติตีตกข้อกล่าวหาของนายสุเทพ โดยให้เหตุผลว่า เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลใช้บังคับ ปรากฏว่า ไม่มีการบัญญัติเกี่ยวกับพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงไม่มีอำนาจดำเนินการต่อไปได้ จึงให้ยุติการไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว

เรื่องนี้ก็เป็นอันจบ.. สวัสดี


ประชาธิปัตย์ในวันวาน 

นี่คือเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดที่ยังดำเนินการอยู่ พรรคประชาธิปัตย์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2489 โดยบทบาทในช่วงแรกสัมพันธ์ไปกับบริบททางสังคมในช่วงเวลานั้น นั่นคือค่อนไปทางเรื่องการเมืองมากกว่าการบริหาร

พรรคประชาธิปัตย์เริ่มมีบทบาทในการบริหารเมื่อการเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 นายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคในเวลานั้นได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่สุดท้ายไม่สามารถอยู่ได้จนครบวาระเพราะมีข้อครหาว่า นายสุเทพ เจ้าประจำ ซึ่งเวลานั้นเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้ใจดีไปแจกที่ดิน สปก.4-01 ให้กับเศรษฐีภูเก็ตและบรรดาเครือญาติแทนที่จะให้กับคนยากจน จึงทำให้มีการชิงยุบสภาหนีมติไม่ไว้วางใจไปเสียก่อน  

ทีนี้ ลองไปดูบทบาทในอีกช่วงหนึ่ง ซึ่งก็คือรัฐบาลอภิสิทธิ เวชาชีวะ กันบ้าง 

ราวปี 2552 เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมภาคใต้ นายวิทูรย์ นามบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้นำถุงยังชีพไปแจกผู้ประสพภัย ที่จังหวัดพัทลุง สุดท้ายมันกลับกลายเป็นถุงปลิดชีพ เมื่อผู้ประสบภัยพบว่าในถุงที่แจกไปนั้นเป็นปลากระป๋องเน่าเหม็น ไม่สามารถมารถนำมากินได้ทั้งหมด  

ต่อกรณีนี้ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เคยตั้งกระทู้ถามในสภาว่า พบความผิดปกติหลายอย่าง และนายวิฑูรย์เองก็อาจมีส่วนรับรู้และเกี่ยวข้องกับถุงยังชีพไม่ได้คุณภาพและส่อเค้าทุจริต โดยใช้วิธีจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภคที่คุณภาพต่ำมาก่อน แล้วจึงทำโครงการจัดซื้อในภายหลัง

“นอกจากจะมีปลากระป๋อง 5 กระป๋องแล้ว ยังมีน้ำพริกเผายี่ห้อโอชาเน่าอีก มีถุงข้าวสาร 4 กิโลกรัม มีมอดกิน ยาก็หมดอายุ ยาสีฟันยี่ห้อเฮอร์ควิกท่านรู้จักหรือไม่ นอกจากนี้ยังไปพบว่าโรงงานผลิตชาวดอยถูกสั่งปิดตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2551 เพราะทำผิดกฎหมาย จึงพลิกลิ้น เพราะกลัวถูกดำเนินคดี 10 ปี ปรับ 5 แสนบาท ประชาชนธรรมดาจะไปซื้อข้าว 4 กิโลกรัม ที่ไหน ซื้อปลากระป๋องเหมือนกันหมดได้ที่ไหน ทำไมสามัคคีส่งของที่เน่าไปให้คนที่จ.พัทลุง ท่านกล้ากินปลากระป๋อง 5 กระป๋องหรือไม่ ถ้าท่านกินผมก็ยอมรับ” นายจตุพร ระบุ 

สำหรับการชี้แจง นายวิฑูรย์ ตอบว่ายินดีเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบและพร้อมรับผิดชอบทางการเมือง โดยจะไม่รอให้ศาลตัดสิน เพียงแค่ ป.ป.ช.ชี้มูลว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริตจริง ก็พร้อมจะแสดงสปิริตลาออกและเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต

อย่างไรก็ตาม แม้ว่านายวิฑูรย์จะยังคงปฏิเสธว่าไม่มีส่วนรู้เรื่องปลากระป๋องเน่ามาก่อน แต่หลังจากนั้นก็ได้ยินยอมลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี โดยให้เหตุผลว่าเพื่อประโยชน์ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ตนรักและเพื่อประโยชน์ของนายกรัฐมนตรีจะเดินหน้าบริหารบ้านเมืองต่อไป  

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ยังมีอีกข่าวหนึ่งที่เป็นกระแสดังขึ้นมาและพบในพื้นที่ภาคใต้เช่นกัน นั่นก็คือกรณี ‘นมโรงเรียนบูด’ ในจังหวัดชุมพร เรื่องนี้ ผู้อำนวยการโรงเรียนปากเลข เล่าว่า เด็กนักเรียนไม่ยอมดื่มนมในโครงการนมโรงเรียนที่ภาครัฐนำมาแจก แม้ครูประจำชั้นจะพยายามขอร้องให้ดื่มเพื่อสุขภาพของเด็ก แต่ก็พบว่าเด็กยังนำไปแอบทิ้ง เมื่อถูกจับได้ก็บอกเหตุผลที่ไม่ดื่มว่านมมีกลิ่น ไม่มีคุณภาพ หลังจากนำไปตรวจสอบแล้วก็พบว่า นมดังกล่าวไม่มีคุณภาพจริงและไม่ใช่นมสด 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เป็นการนำหางนมมาผสมน้ำบรรจุถุงให้นักเรียนกินเป็นที่น่าเวทนาอย่างยิ่ง ทั้งนี้ โครงการนมโรงเรียนถือว่าเป็นมรดกทางการเมืองชิ้นสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ที่ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ ปี 2535 แม้จะเป็นโครงการที่ดี แต่ก็เป็นอีกโครงการหนึ่งที่เปรียบเสมือนบ่อน้ำมันให้กลุ่มคนบางกลุ่มเข้ามาตักตวงผลประโยชน์อยู่เสมอ

เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในเส้นทางของพรรคการเมืองเก่าแก่นามว่าประชาธิปัตย์เท่านั้น สำหรับวิกฤติการณ์ขาดแคลนหน้ากากอนามัยที่เกิดขึ้นรอบนี้ ยังคงไม่พบว่ามีคนของพรรคประชาธิปัตย์เข้าไปเกี่ยวข้อง แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยมันมีสาเหตุมาจากความด้อยประสิทธิภาพในการกำกับดูแล ทำให้เกิดเป็นช่องโหว่บางคนบางกลุ่มเล็ดลอดเข้ามาหาประโยชน์ได้ ถึงตอนนี้แม้จะยังไม่ชัดเจนว่ามีใครบ้างที่อยู่เบื้องหลังการหากินบนคราบน้ำตาและความทุกข์ของประชาชน แต่เชื่อว่าหากเผลอเมื่อไหร่ก็อาจมีคนทำมันลั่นออกมาอีกครั้ง

และถ้าถึงตอนนั้นก็ไม่แน่ว่าอาจมีใครบางคนต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกับ รอ. ธรรมนัส พรหมเผ่า ผู้มากบารมีแห่งรัฐบาลพลังประชารัฐ ณ เวลานี้ก็เป็นได้