ไม่พบผลการค้นหา
ทนายเผยอาการ 'ตะวัน' หัวใจเต้นผิดปกติ แพทย์ห่วงหัวใจวาย ให้สารโพแทสเซียม อาการยังไม่สู้ดี 'แบม' อ่อนเพลีย ปวดท้อง ทั้งคู่เผยยืนยันอดอหารและน้ำต่อ หวังผู้มีอำนาจรับฟังข้อเรียกร้อง หากหมดสติไปให้แพทย์ ทนาย ครอบครัวตัดสินใจ

กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความสิทธิมนุษยชน เปิดเผยกรณีอาการล่าสุดของ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ (ตะวัน) และ อรวรรณ ภูพงษ์ (แบม) สองนักกิจกรรมทางการเมือง ที่ถอนประกันตัวเองและอดอาหารและน้ำ ระหว่างถูกคุมขัง เพื่อกดดันให้มีการตอบรับข้อเรียกร้อง 3 ข้อคือ 1.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 2.ปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง 3.พรรคการเมืองเสนอยกเลิก ม.112 โดยปัจจุบันทั้งคู่อดอาหารและน้ำมาเป็นเวลา 8 วันแล้ว ขณะนี้ถูกส่งตัวไปรักษายังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ แต่ยังคงยืนยันที่จะอดอาหารและน้ำต่อไป 

กฤษฎางค์ ระบุว่า ได้ทราบจากแพทย์ว่า อาการของทั้งคู่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ตะวันมีอาการเหนื่อยล้า เป็นลม และอัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ แพทย์จึงขอให้ทานโพแทสเซียม เพราะการอดอหารทำให้ร่างกายขาดโพแทสเซียม ซึ่งมีความเสี่ยงให้เกิดภาวะหัวใจวาย ทานจะรับการรักษาตามแพทย์ขอทำให้อาการดีขึ้นในระดับหนึ่ง

ในส่วนของแบม มีอาการนอนเฉยๆ เหนื่อยง่าย มีอาการปวดท้องแทรกเป็นระยะ ไม่ค่อยพูด ผมได้แจ้งไปว่าพ่อกับแม่ของแบมมาร่วมยืนหยุดขังด้วย เขาก็ร้องไห้ เขาไม่ได้พูดอะไรเยอะ เพียงแต่เขาทิ้งท้ายว่าสิ่งที่เขาทำไม่ได้ไปกดดันใคร เขาไม่ได้หวังว่าจะชนะ แต่เขาต้องการสื่อสารต่อผู้มีอำนาจและสังคมว่าปัญหานี้มันเกิดมันเป็นปัญหา หรือเรียกว่าทำให้สังคมตื่นและทำเพื่อคนอื่น เมื่อเห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเขาจึงตัดสินใจทำแบบนี้

“โดยรวมสภาพอาการของทั้งสองคน เท่าที่ผมได้ไปเยี่ยมมาเขาพักอยู่ในห้องเดียวกัน และมีอาการที่ค่อนข้างทรุด ในสายตาของผมก็ซีเรียสกับอาการของทั้งสอง และคุยกันทั้งหลายเรื่อง ส่วนใหญ่เขาจะเป็นคนฟังนานๆ พูดที เพราะพูดประโยคยาวๆ ไม่ได้” 

กฤษฎางค์ ระบุต่อว่า ทั้งคู่ยังยืนยันที่จะอดอาหาร และน้ำต่อไป เบื้องต้นทนายความได้ปรึกษากับแพทย์ พ่อแม่ของทั้งคู่ และเจ้าตัวว่า ว่าหากถึงขั้นวิกฤติคือทั้งคู่หมดสติไปจะดำเนินการอย่างไร ทั้งคู่ยืนยันว่า เขาต้องการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรับฟังข้อเรียกร้องของเขาที่ถอนประกันมา หากเขาหมดสติถึงเวลานั้นจริงๆ เขาคงไม่รู้ตัวไม่สามารถตอบอะไรได้ ก็เป็นหน้าที่ของคุณหมอ หรือทนาย หรือครอบครัวที่จะตัดสินใจ

“แพทย์ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ก็บอกกับตนว่าหมอเคารพการที่น้องๆ พวกนี้ตัดสินใจเท่านั้นการรักษาพยาบาลก็ต้องเป็นไปตามความประสงค์ของพวกเขาถ้าในฐานะเป็นแพทย์หมอก็อยากจะให้เขากลับมารับประทานอาหาร และเลือกใช้วิธีการต่อสู้ทางอื่น เพราะตอนนนี้ค่อนข้างจะวิกฤต” ทนายกฤษฎางค์ กล่าว