ไม่พบผลการค้นหา
เลขาฯวุฒิ เดินหน้านัดคณะกรรมการสรรหา ตุลาการ ศาลรธน. ใน 100 วันหลังประชุมรัฐสภานัดแรกเสร็จ รอประธานศาลฎีกาชี้ขาดคุณสมบัติตุลาการชุดปัจจุบัน ขณะที่ 5 ตุลาการอยู่ยาวมา 11 ปี มีคำสั่งตาม ม.44 ให้การรับรอง

นายนัท ผาสุข เลขาธิการวุฒิสภา กล่าวถึงกระบวนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามบทเฉพาะกาลของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 ว่า กำลังดำเนินการตามขั้นตอนทางธุรการเพื่อประสานคณะกรรมการสรรหาตามที่กฎหมายกำหนด โดยล่าสุดได้ทำการติดต่อไปยัง นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานกรรมการสรรหาแล้ว โดยรอการกำหนดนัดหมายจากประธานเพื่อเรียกประชุมคณะกรรมการสรรหาต่อไป 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระบวนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามบทเฉพาะกาลของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 กำหนดให้ กระบวนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีเหตุต้องพ้นจากตำแหน่ง เริ่มต้นขึ้นเมื่อมีการประชุมรัฐสภาครั้งแรก โดยกรรมการองค์กรอิสระจะต้องส่งรายชื่อเพื่อเป็นคณะกรรมการสรรหา ให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาภายใน 20 วัน นับจากประชุมรัฐสภาครั้งแรก 

จากนั้น คณะกรรมการสรรหาจะต้องเป็นผู้วินิจฉัยว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องได้รับการสรรหาหรือคัดเลือกในประเภทใด ตามมาตรา 8 (1)(2)และ(5) ภายใน 20 วัน จากนั้นจึงสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน รวมใช้เวลา 100 วัน จึงจะได้ศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ คาดว่าภายในเดือนต.ค.นี้ ซึ่งตามกฎหมายใหม่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและที่มาของตุลาการ 9 คน ปรับให้มีวาระการดำรงตำแหน่งเหลือ 7 ปี จาก 9 ปี มีที่มาจาก 5 ประเภท คือ 

1.ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 3 คน ซึ่งดำรงตำแหน่ง ไม่ต่ำกว่า ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาไม่น้อยกว่าสามปี

2.ที่ประชุมตุลาการศาลปกครองสูงสุด 2 คน ซึ่งดํารงตําแหน่งไม่ต่ำกว่าตุลาการศาลปกครองสูงสุดมาแล้ว ไม่น้อยกว่าห้าปี

3.ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ 1 คน ซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้ดํารงตําแหน่งหรือเคยดํารงตําแหน่งศาสตราจารย์ไม่น้อยกว่าห้าปี

4.ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ 1 คน ซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้ดํารงตําแหน่งหรือเคยดํารงตําแหน่งศาสตราจารย์ไม่น้อยกว่าห้าปี

5.ผู้ทรงคุณวุฒิจากส่วนราชการ 2 คน ซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้รับหรือเคยรับราชการในตําแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี หรือเทียบเท่า หรือไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี

สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน 9 คน ยังมีข้อถกเถียงถึงคุณสมบัติตามกฎหมายฉบับใหม่ บางราย และมีบางรายได้รับการต่ออายุตามคำสั่ง คสช.ที่ 24/2560 โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน มีดังนี้ 

1.นายนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ จากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2551 รวม 11 ปี 2.นายชัช ชลวร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ดำรงตำแหน่งเมื���อวันที่ 28 พ.ค. 2551 รวม 11 ปี 3.นายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2551 รวม 11 ปี 

4.นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จากที่ประชุมตุลาการศาลปกครอง ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2551 รวม 11 ปี นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จากที่ประชุมตุลาการศาลปกครอง ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2557 รวม 5 ปี

6.นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2551 รวม 11 ปี 7.นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2556 รวม 6 ปี 8.นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2558 รวม 4 ปี และ9.นายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2558 รวม 4 ปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง