ครม.อนุมัติ รถยนต์ส่วนบุคคลจดทะเบียนให้บริการขนส่งผู้โดยสารผ่านแอปพลิเคชันได้ ให้คิดค่าโดยสารเท่าแท็กซี่ในปัจจุบัน แต่คนขับรถต้องมีใบขับขี่รถสาธารณะ
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (25 พ.ค. 2564) มีมติอนุมัติร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถรับจ้างบรรทุกผู้โดยสารไม่เกินเจ็ดคนผ่านระบบอิเล็กทรอนิสก์ พ.ค... โดยเป็นการอนุญาตให้รถยนต์ส่วนบุคคลมาจดทะเบียนเปลี่ยนประเภทเป็นรถยนต์รับจ้าง โดยการรับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้เป็นทางเลือกสำหรับประชาชนในการให้บริการ และส่งเสริมให้ผู้ขับรถยนต์ดังกล่าวสามารถประกอบอาชีพได้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยกำหนดรายละเอียดต่างๆ ดังนี้
ตัวรถ
- มีอายุใช้งานได้ไม่เกิน 9 ปี
- แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ขนาดเล็ก (เครื่องยนต์ 50-90 kW) เช่น March, Vios, City, Mirrage ขนาดกลาง (เครื่องยนต์ 90-120 kW) เช่น Altis, Civic ขาดใหญ่ (เครื่องยนต์มากกว่า 120 kW) เช่น Accord, Fortuner
- มีลักษณะเป็นรถเก๋ง/แวน สองตอน/สามตอน ก็ได้
- ทำประกันภัยเพิ่มเติมคุ้มครองสวัสดิภาพของผู้โดยสาร
- ติดเครื่องหมายแสดงการใช้แอปพลิเคชัน
คนขับรถ
- ต้องมีใบขับขี่สาธารณะ
- ผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- ใช้แอปพลิเคชันของผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน ที่ผ่านการรับรองจากกรมการขนส่งทางบก
อัตราค่าโดยสาร
- รถขนาดเล็ก,กลาง ไม่เกินอัตราของรถแท็กซี่ในปัจจุบัน
- รถขนาดใหญ่ ไม่เกินอัตราของรถแท็กซี่ VIP ในปัจจุบัน
- มีค่าบริการเพิ่มเติมกรณีอื่นได้ แต่ต้องไม่เกิน 200 บาท
- รัฐมนตรีเป็นผู้ประกาศกำหนดอัตราค่าโดยสาร
คุณสมบัติของผู้ใหญ่บริการแอปพลิเคชัน
- เป็นบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย
- มีทุนจดทะเบียนตามที่กำหนดในประกาศ (ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท)
- มีสถานประกอบการในประเทศไทย
- มีความพร้อมในการให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
- ไม่เคยถูกเพิกถอนในการได้รับอนุญาตเป็นผู้ให้บริการระบบ GPS ตามกฎหมายของกรมการขนส่งทางบก
อย่างไรก็ตาม หลังจาก ครม.อนุมัติ จะเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นกฎหมายก่อนออกประกาศตามกฎกระทรวงให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน