ไม่พบผลการค้นหา
ครม.ปรับแนวทางเข้าถึงสินเชื่อซอฟต์โลน ขยายค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอี หวังช่วยเพิ่มอีก 3.47 หมื่นราย ฟากคลังแจงรายละเอียดเตรียมวงเงิน 114,100 ล้านบาท ดูแลเพิ่มเติม

ลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2563 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบทบทวนมติ ครม.และเสนอมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีเพิ่มเติม ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อแก้ไขปัญหาข้อติดขัดในการดำเนินโครงการเพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีสภาพคล่อง สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอใน 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม SMEs ทั่วไป, กลุ่ม SMEs ท่องเที่ยว และ กลุ่ม SMEs รายย่อยและประชาชน วงเงินสินเชื่อและวงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวม 114,100 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้   

  • กลุ่ม SMEs ทั่วไป ประกอบด้วย

1.สินเชื่อ Soft loan ธนาคารออมสิน วงเงิน 20,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสิน ให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงิน คิดดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี และสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อต่อให้ผู้ประกอบการ SMEs วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย คิดอัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไป วงเงิน 10,000 ล้านบาท และผู้ประกอบการ SMEs ในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินจะปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs โดยตรงจำนวน 3,000 ล้านบาท 

2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS Soft loan พลัส วงเงิน 57,000 ล้านบาท โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีคุณสมบัติตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก.ซอฟต์โลย) แต่ยังไม่ได้รับสินเชื่อตาม พ.ร.ก.ซอฟต์โลน คิดอัตราค่าธรรมเนียม 1.75% ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 8 ปี โดย บสย.จะเริ่มค้ำประกันและเก็บค่าธรรมเนียมในต้นปีที่ 3 นับจากวันที่ผู้ประกอบการ SMEs แต่ละรายได้รับสินเชื่อตาม พ.ร.ก.ซอฟต์โลน

3.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS ระยะที่ 8 วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดย บสย.ค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไป วงเงินไม่เกิน 20 ล้านต่อรายรวมทุกสถาบันการเงิน ในอัตราค่าธรรมเนียม 1.75% ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี 

  • กลุ่ม SMEs ท่องเที่ยว ประกอบด้วย

1.สินเชื่อฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย วงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยในธุรกิจท่องเที่ยวและ Supply Chain วงเงินไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย คิดอัตราดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี ระยะเวลากู้ 5 ปี ปลอดชำระเงินต้น 1 ปี 

2.สินเชื่อ Extra Cash วงเงิน 9,600 ล้านบาท โดยธนาคารธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ขนาดย่อมในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจอื่น ๆ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย คิดอัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี ใน 2 ปีแรก ระยะเวลากู้ 5 ปี 

  • กลุ่ม SMEs รายย่อยและประชาชน ประกอบด้วย 

1.สินเชื่อเสริมพลังฐานราก วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นบุคคลธรรมดา ผู้มีรายได้ประจำ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และบุคคลในครอบครัว วงเงินไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน ระยะเวลากู้ 3 ปี ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน  

2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro Entrepreneur ระยะที่ 3 วงเงินประมาณ 2,500 ล้านบาท โดย บสย. ค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการรายย่อย คิดอัตราค่าธรรมเนียม 1 - 2% ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี ขยายเวลารับคำขอค้ำประกันถึง 30 ธ.ค. 2563  

ขณะที่ รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อธิบายเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 ส.ค. 2563 เห็นชอบปรับปรุงแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยมีมาตรการด้านการเงินเอื้อให้ผู้ประกอบรายย่อย, ผู้ประกอบอาชีพอิสระ, ผู้มีรายได้ประจำในทุกกลุ่มอาชีพทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาได้รับประโยชน์เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำได้ง่ายขึ้น ผ่าน 4 มาตรการ ดังนี้  

1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะพิเศษ Soft Loan พลัส ซึ่งเป็นโครงการใหม่เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ตามพระราชกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกซอฟต์โลน วงเงิน 500,000 ล้านบาท (พ.ร.ก.ซอฟต์โลน) ซึ่งจะให้ความช่วยเหลือด้านการค้ำประกันแก่เอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 34,700 ราย เฉลี่ยรายละ 1.64 ล้านบาท โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บยส.) จะค้ำประกันสินเชื่อให้ ซึ่งมีวงเงินโครงการรวม 57,000 ล้านบาท ระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 8 ปี และเริ่มค้ำประกันในปีที่ 3 นับจากวันที่เอสเอ็มอีได้รับสินเชื่อตาม พ.ร.ก.ซอฟต์โลน 

ทั้งนี้ บสย.จะคิดค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1.75% ต่อปี และจ่ายค่าประกันชดเชยตลอดโครงการไม่เกิน 30% ดังนั้น บสย.จึงจำเป็นต้องขอรับการชดเชยความเสียหายตามที่เกิดขึ้นจริงเป็นจำนวนเงิน 9,120 ล้านบาท หรือชดเชยในอัตราไม่เกิน 16% ของวงเงินอนุมัติค้ำประกัน ( 16% x 57,000 ล้านบาท) ซึ่งวงเงินชดเชย 30% แบ่งเป็น รัฐบาลชดเชย 9,120 ล้านบาท (ร้อยละ 16 ) และ บสย.รับผิดชอบ 7,980 ล้านบาท (ร้อยละ 14) 

2.จัดสรรวงเงินจำนวน 10,000 ล้านบาท ให้ธนาคารออมสิน ดำเนินโครงการ 'สินเชื่อเสริมพลังฐานราก' สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้มีรายได้ประจำ รวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด -19 ภัยทางเศรษฐกิจและภัยทางธรรมชาติ รายละไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) 0.35% ต่อเดือน ระยะเวลากู้เงินไม่เกิน 3 ปี โดยมีระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน (6 งวดแรก) ผู้สนใจสามารถรับคำขอกู้ถึงวันที่ 30 ธ.ค. 2563 

ทั้งนี้ ณ วันที่ 10 ส.ค. 2563 ธนาคารออมสินอนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 1,012 ล้านบาท โดยยังมีวงเงินสินเชื่อคงเหลืออยู่อีก 18,988 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ได้จัดสรรวงเงิน 5,000 ล้านบาท ให้แก่ธนาคารออมสินในโครงการ 'ซอฟต์โลนออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย' โดยให้ธนาคารออมสินนำไปปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดาในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและซัพพลายเชน เช่น ร้านอาหาร ธุรกิจสปา นวดแผนไทย รถรับจ้างนำเที่ยว เกสต์เฮ้าส์ โฮสเทล เป็นต้น ในวงเงินรายละไม่เกิน 500,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3.99% ต่อปี เป็นระยะเวลา 5 ปี และมีระยะปลอดชำระเงินต้น 1 ปี เพื่อช่วยบรรเทาภาระด้านค่าใช้จ่าย 

3.จัดสรรวงเงินจำนวน 10,000 ล้านบาท ให้เอสเอ็มอีกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจทัวร์ ธุรกิจสปา ธุรกิจขนส่งที่เกี่ยวเนื่อง (รถทัวร์ รถบัส รถตู้ รถแท็กซี่ เรือนำเที่ยว รถเช่า) บริษัทนำเที่ยว โรงแรม ห้องพัก และร้านอาหาร ที่มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี โดยใช้เงื่อนไขของมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ตามมติ ครม. 10 มี.ค. 2563 ซึ่งมีธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เป็นผู้ปล่อยสินเชื่อ

อย่างไรก็ตาม ณ 10 ส.ค. 2563 ธพว.อนุมัติสินเชื่อไปแล้วจำนวน 417 ล้านบาท จึงยังมีวงเงินคงเหลือภายใต้โครงการดังกล่าวอีกจำนวน 9,583 ล้านบาท จึงแบ่งวงเงิน 3,000 ล้านบาท ให้กับธนาคารออมสินเพื่อปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโดยตรง และขยายขอบเขตคุณสมบัติให้ครอบคลุมเอสเอ็มอีทั่วไป พร้อมกับปรับวงเงินค้ำประกันต่อรายจากเดิมไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อราย รวมทุกสถาบันการเงิน เป็นไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อ เพื่อให้รองรับลูกค้าได้มากขึ้น  

4.ขยายกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เช่น ธุรกิจทัวร์ ธุรกิจสปา บริษัทนำเที่ยว โรงแรม ห้องพัก และขนส่งที่เกี่ยวเนื่อง รถทัวร์ รถบัส รถตู้ รถแท็กซี่ เรือนำเที่ยว รถเช่า และร้านอาหาร พร้อมทั้งให้บสย.ขยายเวลาค้ำประกันสินเชื่อ ในโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 3 ออกไปจนถึงวันที่ 30 ธ.ค. 2563