ไม่พบผลการค้นหา
เปิดโครงสร้างงบประมาณปี 2565 จำนวน 3.1 ล้านล้าน ยอดขาดดุลพุ่ง 7 แสนล้านต้องกู้ คาดประมาณการรายได้ 2.4 ล้านล้าน ลดลง 10 เปอร์เซ็นต์

โครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2564 ได้เห็นชอบตามที่สำนักงบประมาณเสนอ ตั้งไว้ที่ 3,100,000 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5.66 หรือ 185,962.5 ล้านบาท จากปีงบประมาณ 2564 ภายใต้สมมติฐานเศรษฐกิจไทยปี 2565 ขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.0-4.0 อัตราเงินเฟ้อ อยู่ในช่วงร้อยละ 0.7-1.7

สมมติฐานเศรษฐกิจไทยในการจัดทำงบประมาณปี 2565 โดยคาดการณ์ว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.0 - 4.0 นั้น คาดว่า จะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของอุปสงค์ภาคต่างประเทศ ตามแนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก

ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีขึ้น จากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ภายหลังการเดินทางระหว่างประเทศเริ่มกลับมาสู่ภาวะปกติ ภายใต้เงื่อนไขของการคิดค้นวัคซีนได้สำเร็จและสามารถใช้ได้อย่างแพร่หลายทั่วโลกในปลายปี 2564

โครงสร้างงบประมาณรายจ่าย ปี 2565 ประกอบด้วย

(1) รายจ่ายประจำ จำนวน 2,354,403.3 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 75.95 ของวงเงินงบประมาณรวม ลดลง จำนวน 183,249 ล้านบาท (ร้อยละ 7.22) จากงบประมาณปี 2564

(2) รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 596.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเงินงบประมาณ 2564 ซึ่งไม่มีการเสนอตั้งงบประมาณ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.02 ของวงเงินงบประมาณรวม

(3) รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย จำนวน 25,000 ล้านบาท บาท เพิ่มขึ้นจากเงินงบประมาณ 2564 ซึ่งไม่มีการเสนอตั้งงบประมาณ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.81 ของวงเงินงบประมาณรวม

(4) รายจ่ายลงทุน จำนวน 620,000 ล้านบาท ลดลงจากงบประมาณปี 2564 จำนวน 29,310 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของวงเงินงบประมาณรวม

(5) รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 100,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2564 จำนวน 1,000 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 3.22 ของวงเงินงบประมาณรวม

  • รัฐคาดจัดเก็บรายได้ 2.8 ล้านล้านบาทต่ำกว่าปีก่อน

ปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลคาดว่า จะจัดเก็บรายได้รวมจำนวน 2,885,700 ล้านบาท (ลดลงจากปีก่อนจำนวน 271,200 ล้านบาท) เมื่อหักการคืนภาษีของกรมสรรพากร อากรถอนคืนกรมศุลกากร การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด การกักเงินเพื่อชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก และการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คงเหลือรายได้สุทธิจำนวน 2,400,000 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการรายได้สุทธิปีงบประมาณ 2564 ที่กำหนดไว้ 2,677,000 ล้านบาท หรือลดลงเป็นจำนวน 277,000 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ -10.35)

  • ตั้งงบฯขาดดุล-กู้ 7 แสนล้าน

โดยจากสมมติฐานทางด้านเศรษฐกิจ จึงได้กำหนดนโยบายงบประมาณขาดดุลไว้ที่ 700,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2564 จำนวน 91,037.5 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.95 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.04 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2564 ซึ่งมีสัดส่วนได้ละ 3.68 

โดยในส่วนของงบขาดดุล จะมีการกู้เงิน 700,000 ล้านบาท เพื่อชดเชย

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 5 ม.ค. 2564 ที่ประชุมได้เห็นชอบโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายปี 2565 พร้อมให้ข้อสังเกต 1 ) การลงทุนของประเทศในปีงบประมาณ 2565 ควรพิจารณาให้ครอบคลุมการลงทุนจากทุกแหล่งเงิน ประกอบด้วย การลงทุนจากเงินงบประมาณของภาครัฐ การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ PPP การลงทุนของรัฐวิสากิจ การลงทุนโดยใช้เงินของกองทุน เช่น กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) และการลงทุนจากต่างประเทศ 

2) ควรมีการกำหนดเงื่อนไขของการใช้จ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะการใช้จ่ายที่มีลักษณะเป็นการโอนเงินให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่น การให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่ากับผู้ถูกเลิกจ้างหรือผู้ที่อยู่ระหว่างการหางานทำ โดยควรมีการกำหนดเงื่อนไขให้มีการฝึกอบรมทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ถูกเลิกจ้างงาน และทำให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสร้างศักยภาพของประเทศและความยั่งยืนในระยะต่อไปตามแผนการคลังระยะปานกลาง จึงเห็นควรให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อการลงทุนมากขึ้น และชะลอรายจ่ายประจำที่สามารถดำเนินการได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง