จิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรณีที่มีการแชร์ข้อความว่าผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถตลอดชีพ ต้องโดนยึดใบอนุญาตขับรถ และให้เข้ามาทดสอบสมรรถภาพของร่างกายใหม่ หรือทดสอบขับรถใหม่นั้น กรมการขนส่งทางบก ขอชี้แจงว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการนำข่าวปลอมเก่าที่มีการแชร์เมื่อเดือนส.ค. 2563 มาแชร์ซ้ำ ซึ่งกรมการขนส่งทางบกได้ตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนทราบมาอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์หยุดเผยแพร่ส่งต่อข้อความดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนเป็นวงกว้างต่อไป โดยยืนยันว่าไม่มีการยึดคืนใบอนุญาตขับรถตลอดชีพ และไม่มีการเรียกผู้มีใบอนุญาตขับรถตลอดชีพทั้งหมดมาทดสอบสมรรถภาพของร่างกายใหม่ หรือทดสอบขับรถใหม่ตามข้อมูลที่มีการแชร์กัน รวมถึงไม่มีนโยบายยกเลิกหรือบังคับให้เปลี่ยนใบอนุญาตขับรถตลอดชีพแบบกระดาษให้เป็นแบบสมาร์ทการ์ด (Smart card) แต่อย่างใด ปัจจุบันยังคงใช้ระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามปกติ
อย่างไรก็ตาม หากผู้ที่มีใบอนุญาตขับรถตลอดชีพแบบกระดาษ ต้องการเปลี่ยนให้เป็นแบบสมาร์ทการ์ด กรมการขนส่งทางบกพร้อมดำเนินการให้โดยสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานขนส่งทุกแห่งทั่วประเทศ และเมื่อเปลี่ยนเป็นแบบสมาร์ทการ์ดจะยังคงได้รับใบอนุญาตขับรถตลอดชีพเช่นเดิม กรณีมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการดำเนินการด้านใบอนุญาตขับรถ สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือสืบค้นข้อมูลได้ที่เว็บไซต์กรมการขนส่งทางบก https://www.dlt.go.th/th/
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการขนส่งทางบก มุ่งยกระดับมาตรฐานการออกใบอนุญาตขับรถ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถมีความพร้อมเพียงพอ โดยอยู่ระหว่างการดำเนินการตามแนวทางยกระดับมาตรฐานการออกใบอนุญาตขับรถใน 7 มิติ ประกอบด้วย
มิติที่ 1 การกำหนดสภาวะโรคที่เป็นอุปสรรคต่อการขับรถ
มิติที่ 2 การทดสอบสมรรถภาพทางร่างกาย ซึ่งจะรวมถึงการประเมินสภาวะของร่างกายที่มีผลต่อการขับรถ (Medical Fitness to Drive) ซึ่งทั้งสองมิติดังกล่าวกรมการขนส่งทางบกได้หารือร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับแพทยสภา
มิติที่ 3 การอบรมและทดสอบความรู้ของผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถ (ภาคทฤษฎี) โดยจะมีการทบทวนและปรับปรุงเนื้อหาหลักสูตรการอบรม พร้อมทั้งจัดทำระบบอบรมภาคทฤษฎีออนไลน์แบบ e-Learning
มิติที่ 4 การอบรมการขับรถและทดสอบความสามารถในการขับรถของผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถภาคปฏิบัติ
มิติที่ 5 การบริหารจัดการ
มิติที่ 6 การปรับปรุงรูปแบบใบอนุญาตขับรถให้สอดคล้องกับอนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยการจราจรทางถนน ค.ศ. 1968
และ มิติที่ 7 การควบคุมพฤติกรรมการขับรถด้วยมาตรการตัดแต้ม เพื่อพัฒนามาตรฐานใบอนุญาตขับรถของประเทศไทยให้ครอบคลุมทุกมิติ ยกระดับความปลอดภัยทางถนนของประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :