รอยเตอร์รายงานว่า ภาคการส่งออกของจีนกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์สำหรับการส่งออกสินค้าไปยังท่าเรือประเทศต่างๆ ส่งผลให้ยอดสั่งซื้อสินค้าตกค้างเป็นจำนวนมาก และอาจกระทบตัวเลขการส่งออกช่วงปลายปีของจีน
รายงานระบุว่า ยอดการส่งออกของจีนในเดือนพฤศจิกายนกลับมาฟื้นตัวที่ 21% หากเทียบกับปีที่แล้ว จากการที่หลายประเทศเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้จีนมียอดการส่งออกสินค้าช่วงปลายปีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าประเภท เสื้อผ้า อุปกรณ์ป้องกันเชื้อ ของเล่น รวมถึงสินค้าอื่นๆ กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก
แต่อย่างไรก็ดี ความไม่สมดุลในการนำเข้า-ส่งออก ทำให้ที่ผ่านมาจีนใช้ตู้คอนเทนเนอร์ 3 ตู้ในการส่งสินค้าไปยังต่างประเทศ แต่ตู้คอนเทนเนอร์ที่กลับมายังท่าเรือจีนมีเพียงตู้เดียว ประกอบกับความล่าช้าที่เกิดจากการขนส่งช่วงโรคระบาด เป็นเหตุให้จีนประสบปัญหาการส่งออกตามไปด้วย เพราะมีตู้คอนเทนเนอร์ใส่สินค้าไม่เพียงพอ
ข้อมูลด้านการค้าของสหประชาชาติ (UN Comtrade) ระบุว่า ในการขนส่งสินค้าทั่วโลก ราว 60% เป็นการขนผ่านตู้คอนเทนเนอร์ ปัจจุบันทั่วโลกมีตู้คอนเทนเนอร์ราว 180 ล้านตู้
จีนนอกจากเป็นชาติผู้ส่งออกสินค้าหลักแล้ว ยังเป็นชาติผู้ผลิตคอนเทนเนอร์รายใหญ่ของโลกที่สัดส่วนถึง 96% แม้ยังคงพยายามเพิ่มกำลังการผลิต แต่ก็ยังห่างไกลจากปริมาณที่ต้องการ โดยสมาคมอุตสาหกรรมตู้คอนเทนเนอร์จีน (CCIA) เผยว่าในเดือนกันยายน จีนผลิตตู้ขนสินค้าถึง 300,000 ตู้ ซึ่งเป็นปริมาณมากสุดในรอบ 5 ปี
ผู้ส่งออกรายหนึ่งในจีนเผยว่า การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ทำให้ค่าขนส่งเพิ่มขึ้น 3 เท่าจากช่วงปกติ และสินค้าต้องตกค้างรอคิวขนส่งอีกราว 2-4 สัปดาห์ ทั้งไม่อาจการันตีได้ว่าสินค้าจะถึงปลายทางตามเวลาที่กำหนดหรือไม่
ที่เกาหลีใต้การระบาดของไวรัสโคโรนาระลอกล่าสุด ส่งผลให้ทางการหวั่นเกรงว่าเตียงในโรงพยาบาลอาจไม่เพียงพอรองรับผู้ป่วย หน่วยงานท้องถิ่นกรุงโซลวางแผนดัดแปลงตู้คอนเทนเนอร์เป็นสถานที่รองรับผู้ป่วยโควิดเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ที่เกาหลีเผชิญการระบาด
พัคนึงฮู รัฐมนตรีสาธารณสุข กล่าวว่า "เรากำลังอยู่ในสถานการณ์สำคัญที่พยายามควบคุมไวรัส ซึ่งขณะนี้การรองรับผู้ป่วยโควิดในระบบสาธารณสุขใกล้จะถึงขีดจำกัดแล้ว เราพยายามระดมทรัพยากรทั้งหมดที่มี โดยเฉพาะการจัดเตรียมศูนย์รักษา และเตียงผู้ป่วยกรณีฉุกเฉินเพื่อให้ประชาชนรับการรักษาอย่างทันท่วงที"
ด้าน พัคโยมี เจ้าหน้าที่ควบคุมโรคในกรุงโซลกล่าวว่า "ในโซลมีประชากรราว 10 ล้านคน แต่มีแต่สำหรับรองรับผู้ป่วยวิกฤตเพียง 3% และ 17% สำหรับผู้ป่วยประเภทอื่นๆ"
นอกจากนี้ สาธารณสุขเกาหลีใต้ มีแผนตั้งจุดตรวจหาเชื้อชั่วคราวราว 150 จุดกระจายทั่วกรุงโซล
สำหรับเกาหลีใต้ มีรายงานผู้ป่วยใหม่เมื่อ 10 ธ.ค. ที่ 682 ราย ถือเป็นจำนวนผู้ป่วยใหม่รายวันสูงเป็นอันดับสองนับตั้งแต่ยืนยันพบการระบาดครั้งแรกเมื่อเดือน ม.ค. แม้ว่าทางการยังคงบังคับใช้มาตรกรควบคุมเชื้อด้านต่างๆ อย่างเคร่งครัดแล้วก็ตาม โดยเกาหลีใต้มียอดติดเชื้อสะสมที่ 40,098 ราย เสียชีวิตสะสม 564 ราย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :