เวทีเสวนารัฐประหารและการต่อต้านขัดขืน ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา มีนักวิชาการและอดีตคนเดือนตุลาพูดคุยแลกเปลี่ยนวิเคราะห์สถานการณ์การเมือง พร้อมถอดบทเรียนการรัฐประหารในอดีต อาทิ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตแกนนำพรรคไทยรักไทยและผู้ก่อตั้งกลุ่มแคร์, กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เทวฤทธิ์ มณีฉาย ผู้สื่อข่าวประชาไท และอุเชนทร์ เชียงเสน คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
นพ.พรหมินทร์ สรุปผลพวงจากการรัฐประหารนับตั้งแต่ 19 ก.ย. 2549 ว่า 1.หลังปี 2549 เกิดการแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างชัดเจน 2.พัฒนาโครงสร้างสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้มีอำนาจเสนอชื่อและโหวตนายกนัฐมนตรี 3.ใช้กระบวนการยุติธรรมจำกัดฝ่ายประชาธิปไตย ที่ถูกดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด แต่อีกฝ่ายกลับยังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินคดี 4.กลไกฝ่ายความมั่นคงถูกนำมาใช้ปราบปรามคนเห็นต่าง 5.จำกัดเสรีภาพ 6.ใช้อำนาจเกินขอบเขต 7.ปัญหาเศรษฐกิจ 8.การเกิดของกลุ่มชนปลดแอก
สำหรับวิธีการต่อต้านรัฐประหาร นพ.พรหมินทร์ ชี้ว่าเป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนในการอารยะขัดขืน ดังนั้นทุกคนต้องร่วมมือกันร่วมคิดร่วมทำ โดยไม่ใช้ความรุนแรง เพื่อสร้างจุดแข็งให้กับการเคลื่อนไหว
ประมุขรัฐต้องไม่รับรองรัฐประหาร
อุเชนทร์ มองว่าเงื่อนไขในการรัฐประหาร สิ่งที่เป็นเสาหลักจะถูกท้าทายมากขึ้น นักรัฐประหารมักอ้างเรื่องคอร์รัปชัน ถ้าคิดแบบนี้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องถูกรัฐประหารทุกสัปดาห์ สำหรับการรัฐประหารสองครั้งที่ผ่านมา มีองค์ประกอบด้วยการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพันธมิตรหรือ กปปส.
อุเชนทร์ ย้ำว่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ไม่มีอารยธรรมการเมืองไหนต่ำกว่า กปปส.โดยการสร้างวิกฤติทางการเมือง เปิดช่องว่างให้เกิดกองทัพแทรกแซงทางการเมือง
ปัจจุบันการต่อต้านรัฐประหาร ได้หยั่งรากในสังคมมาตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา ผู้คนในสังคมเริ่มก้าวข้าม ดร.ทักษิณ ชินวัตร สำหรับการเป็น พันธมิตรหรือ กปปส. ไม่ใช่สิ่งที่น่าภูมิใจอีกต่อไป ซึ่งมีหลายคนได้กลับตัวกลับใจก็ต้องชื่นชม สำหรับวันนี้เรามีกองหน้าที่กล้าหาญ เพราะพวกเขามีชุดความคิดที่ทะลุกรอบไปแล้ว
สำหรับการต่อต้านที่เป็นรูปธรรม คือการเรียกร้องให้ประมุขของรัฐไม่รับรองการทำรัฐประหาร ขณะที่ตัวแทนในสภาต้องร่วมมือกันชุมนุมเชิงสัญลักษณ์ และไม่ควรผลักภาระให้คนรุ่นใหม่มากเกินไปต้องร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับพวกเขา
ต้านรัฐประหารด้วยการแก้ รธน.
เทวฤทธิ์ ได้ผ่านมุมมองสื่อ ว่า การรัฐประหารคือการดูถูกประชาชน แม้ว่าจะมีความเห็นต่างแต่ประชาชนมีดุลยพินิจเพียงพอที่จะเลือกผู้นำประเทศด้วยตัวเอง ตนเชื่อมั่นว่าหากไม่เกิดเหตุการณ์ปี 2549 พรรคไทยรักไทยอาจถูกประชาชนสั่งสอน รวมถึงพรรคเพื่อไทย ที่อาจเจอตัวเลือกอื่นที่ท้าทายมากขึ้น ขอย้ำว่าประชาชนมีการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา
การรัฐประหารมันเป็นกระบวนการที่เข้ามาก่อสถานการณ์สร้างเงื่อนไขในการยึดอำนาจ และการรัฐประหารหรือประหารรัฐ โดยมีกองทัพ ตุลาการ องค์กรอิสระ ปัจจุบันคือการมี ส.ว.ที่รัฐประหารโดยรัฐธรรรมนูญ รวมถึงการใช้องค์กรอิสระประหารพรรคการเมือง
ในการทำงานสื่อกับการรัฐประหาร อุปสรรคทุกครั้งที่ผ่านมาคือการใช้กำลังทหารยึดพื้นที่สื่อ รวมถึงใช้อำนาจปิดปากสื่อ ตั้งค่ายในพื้นที่ ส่วนตัวตอน คสช.ยึดอำนาจ ตนถูกคำสั่งเรียกไปเข้าค่ายทหาร ด้วยการปรับทัศนคติและมีการส่งคนไปที่บ้านต่างจังหวัด
ปัจจุบันนอกเหนือจากการชุมนุมแล้ว เทวฤทธิ์ เห็นว่าสามารถต่อต้านรัฐประหาร ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะมีที่มาด้วยประชามติที่ไม่ชอบธรรม ด้วยการใช้กลไกจากรัฐปิดกั้นผู้คนที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ อีกทั้งการแก้ไขร่างรัฐธรรนูญหลังทำประชามติ จึงถือว่าเป็น รธน.ที่ไม่มติจากประชาชน
เซ็ตซีโร่สังคม
กรพินธุ์ นิยามการรัฐประหารคือการโค่นล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ทำลายประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ความรุนแรง หรือการเข้ามาของผู้นำที่ไมยึดโยงประชาชนทำลายหลักการของรัฐศาสตร์ คือ 1.อำนาจอธิปไตยของปวงชน 2 ความเสมอภาคทางการเมือง 3 ทำลายหลักการผู้แทน สร้างวาทกรรมรังเกลียดนักการเมืองจะเห็นว่าผู้นำคนใหม่ไม่เรียกตัวเองว่า 'ผู้แทน' แต่จะเรียกว่า 'คนดี' หรือผู้เข้ามาปราบคอรัปชัน
อย่างไรก็ดี กรพินธุ์ ได้เผยมุมมองทางเศรษฐกิจว่า การใช้บัตรคนจนคือการเอื้อเจ้าสัว ขณะเดียวกัน ได้เกิดเหตุการณ์ไล่ที่เพื่อปูทางให้นายทุนต่างชาติเข้ามาทำเหมือง จนเกิดการลุกขึ้นมาต่อสู้ นี่คือการเซ็ตซีโร่สังคม เพื่อผลประโยชน์ของคณะรัฐประหาร