พลันเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 อีกระลอกในประเทศไทย ซึ่งมีบุคคลสำคัญในคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ติดเชื้อท่ามกลางกระแสข่าวลือเกี่ยวโยงกับสถานบันเทิงย่านทองหล่อ-เอกมัย กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ถึงผลที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับ กลุ่ม CARE คิด เคลื่อน ไทย ได้โพสต์ข้อความถึงนายกรัฐมนตรี ต่อการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยมีรายละเอียดดังนี้ สิ่งที่รัฐทำมาตลอดเวลาในช่วงที่มีการระบาดของโควิด19 คือ “การสร้างแต่ความกลัว”
การสร้างความกลัวของรัฐเกิดขึ้นในหลายรูปแบบไม่ว่าจะการใช้จำนวนตัวเลขของผู้ติดเชื้อในการสร้างสภาวะความน่าเกลียดน่ากลัวให้กับเชื้อโรค หรือ การสร้างวาทกรรม “เราชนะ หมอชนะ เราต้องชนะไปพร้อมกัน” ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว กลับยังไม่เห็นทิศทางหรือเป้าหมายใดๆ นอกจากการห้ามแต่ไม่ได้แก้ปัญหาได้อย่าง "ตรงจุด" สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวาทกรรมที่ทำให้ "ผู้ป่วยโควิด" เปรียบเสมือนเป็นคนน่ารังเกียจและตัวเชื้อโรค ซึ่งประชาชนกำลังตกเป็นทั้งจำเลยและเป็นผู้ถูกกระทำจากรัฐ จากวาทกรรม "หยุดเชื้อเพื่อชาติ"
ไม่เพียงเท่านั้นความกลัวที่รัฐสร้างขึ้นยังมีผลทำให้เศรษฐกิจของชาติพัง โดย International Monetary Fund (IMF) ได้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2020 ที่ผ่านมาหดตัวกว่า 7.1% ซึ่งเป็นอัตราการหดตัวมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน รองจากประเทศฟิลิปปินส์ และถ้าสถานการณ์เริ่มดีขึ้นในปี 2021 เศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวได้เพียง 4.0% ซึ่งต่ำกว่าเพื่อนบ้านในอาเซียนทุกประเทศ แต่ตัวเลขนี้คือผลกระทบการระบาดในระลอกแรกเท่านั้น ดังนั้นวาทกรรม "การ์ดอย่าตก" ที่รัฐสร้างที่ทำให้ประชาชนตายได้มากกว่าเชื้อโควิด
"ทางออกเวลานี้คือเราทุกคนต้องลดความเกลียดกลัวเชื้อโรค ลดความเกลียดกลัวกันเอง สร้างความตระหนัก แต่ไม่ตื่นตระหนก"
สำหรับทางออกที่ดีที่สุดเวลานี้ นั่นคือ "วัคซีนเสรี" สิ่งนี้สามารถทำได้ทันที ด้วยการเปิดทางให้เอกชน สามารถนำเข้าวัคซีนที่ผ่านการยอมรับในระดับนานาชาติได้ หยุดผูกขาดเพียงไม่กี่บริษัท เพื่อให้ประชาชนที่พอมีกำลัง ได้รับวัคซีนกันอย่างรวดเร็วและทั่วถึง รวมถึงภาครัฐ ก็ต้องเร่งนำเข้าวัคซีนทุกยี่ห้อนำมา แจกจ่ายประชาชนที่ไม่มีกำลังได้รับวัคซีนได้โดยเร็ว และสามารถฟื้นคืนความเชื่อมั่นกระตุ้นเศรษฐกิจอีกด้วย