ไม่พบผลการค้นหา
คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับ 'โควิด-19' ว่าไม่ได้อันตรายไปมากกว่าไข้หวัดตามฤดูกาล ทำให้หลายคนไม่ค่อยพิถีพิถันเรื่องการป้องกันเชื้อโรค แต่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า 'โควิด-19' รุนแรงกว่าไข้หวัด และมีอีกหลายเรื่องที่คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคนี้

“โควิด-19 ไม่ได้อันตรายกว่าไข้หวัดตามฤดูกาล?”

แม้ผู้ติดเชื้อหลายคนจะมีอาการคล้ายไข้หวัดตามฤดูกาล แต่ลักษณะของโควิด-19 โดยรวมแล้วมีความรุนแรงกว่า รวมถึงอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อก็สูงกว่า บรูซ อายล์เวิร์ด ผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ที่นำภารกิจนานาชาติในการควบคุมและป้องกันโควิด-19 ในจีนกล่าวว่าจากหลักฐานที่พบ อัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อโควิดน่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1 ซึ่งรุนแรงว่าไข้หวัดตามฤดูกาล 10 เท่า ในขณะที่มีการประเมินว่าไข้หวัดทำให้มีผู้เสียชีวิต 290,000 – 650,000 รายต่อปี

ทั้งนี้ งานวิจัยของอิมพีเรียลคอลเลจระบุว่า การประเมินอัตราการเสียชีวิตถือเป็นเรื่องยาก เพราะแต่ละพื้นที่ก็จะมีอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความสามารถในการตรวจจับอาการที่ไม่รุนแรง ซึ่งมักจะถูกมองข้าม

“มีแต่คนแก่ที่เสียชีวิตจากโควิด-19 คนหนุ่มสาวไม่ต้องกังวล?”

จากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ติดเชื้อมากกว่า 44,000 คนในจีน คนแก่มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าคนวัยกลางคน 10 เท่า ส่วนคนอายุน้อยว่า 30 ปีมีอัตราการเสียชีวิตต่ำที่สุด มีเพียง 8 รายจากผู้ติดเชื้ออายุน้อยกว่า 30 ปีทั้งหมด 4,500 คน แต่อาการเจ็บป่วยนี้ก็ยังรุนแรงว่าไข้หวัดตามฤดูกาล มีโอกาสที่จะนำไปสู่อาการผิดปกติในระบทางเดินหายใจรุนแรงกว่า

คนบางกลุ่มก็มีความเสี่ยงสูงก็มีโอกาสเสียชีวิตได้ เช่น เจ้าหน้าสาธารณสุขที่มีโอกาสได้รับเชื้อมากกว่าคนอื่น รวมถึง คนที่เป็นโรคเบาหวาน ความดันสูง โรคหัวใจหรือโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจก็เสียชีวิตจากโควิด-19 มากถึง 5 เท่าเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลว่า ผู้ชายมีอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 สูงกว่าผู้หญิงเล็กน้อย

“หน้ากากไม่ช่วยอะไร?”

การสวมใส่หน้ากากกันเชื้อโรคไม่ใช่เครื่องมือที่สามารถป้องกันโควิด-19 ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะไวรัสยังสามารถแพร่เข้าทางตา และอนุภาคไวรัสขนาดจิ๋วที่เรียกว่า แอโรซอล สามารถผ่านเข้าไปในหน้ากากได้ แต่หน้ากากสามารถดักฝอยละอองซึ่งเป็นช่องทางการแพร่เชื้อหลักได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากต้องมีปฏิสัทพันธ์กับผู้ติดเชื้อ หน้ากากก็ช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อได้

“ต้องอยู่กับผู้ติดเชื้อนาน 10 นาทีถึงจะติด?”

บางโรงพยาบาลนิยาม “การรับเชื้อ” ว่าคือการอยู่ในระยะ 6 ฟุต (1.8 เมตร) จากผู้ติดเชื้อที่มีการไอหรือจามเป็นเวลานาน 10 นาทีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม ก็มีความเป็นไปได้ที่คนจะรับเชื้อได้จากการปฏิสัมพันธ์เพียงไม่นาน หรือจากพื้นผิวสิ่งของที่มีเชื้อเกาะอยู่ แต่ก็พบเห็นไม่บ่อยนัก

“วัคซีนจะใช้ได้ภายในไม่กี่เดือน?”

นับตั้งแต่ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 นักวิจัยจีนรีบเปิดเผยลำดับพันธุกรรมของไวรัสชนิดใหม่ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต่างๆ เร่งพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสตัวนี้ และขณะนี้ก็มีการทดลองกับสัตว์ แต่จะต้องมีการทดสอบเพิ่มเติม และต้องผ่านกระบวนการอีกหลายขั้นอีกกว่าจะสามารถนำวัคซีนมาขายได้ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้มีความจำเป็นอย่างมาก เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถพบผลข้างเคียงของวัคซีนแม้เพียงเล็กน้อย และต้องอาจใช้เวลานานเป็นปีถึงจะลุล่วง

“เมื่อมีโรคระบาดใหม่ เราก็ไม่สามารถหยุดยั้งอะไรได้?”

มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดไม่ได้มีเพียงการกำจัดโรคทั้งหมดไป แต่ยังรวมไปถึงการทำให้การแพร่ระบาดช้าลง หรือลดความรุนแรงของช่วงพีคของการระบาด ซึ่งมีความจำเป็นที่จะช่วยให้ระบบสาธารณสุขมีความพร้อมในการรองรับผู้ป่วยที่จะเข้าไปใช้บริการได้มากขึ้น

ที่มา : The Guardian, BBC

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: