ไม่พบผลการค้นหา
งานวิจัยของ UNU-WIDER ที่ออกมาก่อนหน้านี้ บ่งชี้ว่าประชากรโลกที่อยู่ใต้ 'ความยากจนแร้นแค้น' จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.1 พันล้านคน ในช่วงที่โลกเผชิญกับโควิด เป็นจำนวนคนจนสุดๆ ที่มีรายได้เพียงวันละ 1.90 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 60 บาท ที่มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2545 หรือ 18 ปี ฉุดประชากรที่เคยมีสถานะหลุดพ้นความจน กลับมาจนอีกครั้ง

อาจกล่าวได้ว่าความหวังหลักของโลกตอนนี้อยู่ที่วงการวิทยาศาสตร์สายการแพทย์ที่จะเร่งพัฒนายารักษาโควิด-19 สอดคล้องกับแสงสปอตไลท์ที่ต่างส่องไปยังกระบวนการสาธารณสุขและความปลอดภัยในชีวิตมนุษย์ตลอดครึ่งปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม มิติสังคมที่เป็นปัญหาสะสมมาตั้งแต่ช่วงก่อนดูเหมือนจะได้รับความสนใจน้อยลงไปหรือน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับผลกระทบในโลกความเป็นจริง

งานวิจัยจำนวนไม่น้อยซึ่งตีพิมพ์ในช่วงที่ผ่านมากล่าวถึงผลกระทบที่วิกฤตโรคระบาดมีต่อความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆ แต่ผลลัพธ์ที่ได้จากงานวิจัยชิ้นล่าสุดของมหาวิทยาลัยสหประชาชาติ หรือ UNU-WIDER ภายใต้ชื่อ 'Precarity and the pandemic' หรือ 'ความเปราะบางกับการระบาดใหญ่' สะท้อนความสาหัสด้านการยังชีพที่ผู้คนทั่วโลกต้องเผชิญถูกนำเสนออย่างชัดเจนและน่ากังวล

แอนดีย์ ซัมเนอร์, เอดัวโด โอทิซ-ฮัวเรซ และคริส ฮอย ผู้วิจัยทั้งสาม เลือกใช้การศึกษาเปรียบเทียบสถานการณ์ด้านการเงินของประชากรโลกกับเส้นความยากจนสามระดับของธนาคารโลก ที่ตัวเลขรายรับวันละ 1.90, 3.20 และ 5.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็น 60, 100 และ 170 บาท ตามลำดับ

ผู้ศึกษาพบว่า หากคำนวณว่ารายได้ของประชากรลดลงในสัดส่วนร้อยละ 5, 10 และ 20 จากมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลแต่ละประเทศปล่อยออกมาต่อสู้กับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ตัวเลขคนจนในระดับ 'แร้นแค้น' (Extreme Poverty) ทั่วโลก หรือผู้ที่มีชีวิตอยู่ด้วยรายรับวันละ 60 บาท จะเพิ่มขึ้นมากถึง 400 ล้านคน ขณะที่ประชากรโลกอีก 500 ล้านคนจะตกไปอยู่ในสองระดับที่เหลือ

เศรษฐกิจ-คนจน-แจกข้าวกล่อง-เยียวยา-สวัสดิการ-ชาวบ้าน

ถอยหลังกลับสู่ความจน

เครื่องชี้วัดปัญหาความจนอย่าง 'อัตราส่วนความยากจน’ (Poverty Headcount Ratios) เป็นการคำนวณสัดส่วนคนจนต่อประชากรทั้งหมดหรือจะคิดออกมาเป็นตัวเลขจำนวนหัวประชากร ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีที่ทำให้เห็นปัญหาได้ชัดเจน โดยเมื่อคำนวณรายรับของประชากรที่จะลดลงตามสามระดับข้างต้น เส้นกราฟความยากจนในทุกระดับ (60, 100, 170 บาท) ล้วนมีทิศทางกราฟพุ่งขึ้นทั้งสิ้น ซึ่งแปลว่าปัญหาความยากจนที่ทั่วโลกพยายามแก้กันมาตลอดจะเลวร้ายขึ้น

จน
  • ที่มา; UNU

เมื่อเทียบกับข้อมูล ณ ปี 2561 งานวิจัยชี้ว่า ผู้อยู่ในระดับความจนแร้นแค้นมีทั้งสิ้น 727.3 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 9.9 ของประชากรทั่วโลก แต่ตัวเลขนี้จะปรับขึ้นเป็น 807.5 ล้านคน ถ้าประชากรทั่วโลกมีรายได้ลดลงร้อยละ 5 หรืออาจพุ่งไปถึง 1,122.3 ล้านคน ถ้าผลกระทบจากโควิด-19 กระทบรายได้ประชากรร้อยละ 20 ซึ่งนี่นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2545 ที่โลกมีตัวเลขคนจนแร้นแค้นเพิ่มขึ้น

สำหรับผู้ที่มีรายได้ 100 บาท/วัน จากเดิมในปี 2561 ซึ่งมีทั้งหมด 1,819.5 ล้านคน จะเพิ่มเป็น 2,395.5 ล้านคน ในกรณีเลวร้ายที่สุด ส่วนประชากร 3,193 ล้านคน ที่มีรายได้ 170 บาท/วัน ในปี 2561 จะขยับเป็น 3,317.5, 3,443.7 และ 3,720.3 ล้านคน ตามระดับผลกระทบเชิงรายได้ที่ร้อยละ 5, 10 และ 20 ตามลำดับ ตัวเลขที่เห็นเหล่านี้สะท้อนอย่างชัดเจนว่าโลกกำลังเดินถอยหลังกลับไปสู่ระดับปัญหาเมื่อทศวรรษที่แล้ว

ผู้วิจัยยังชี้ว่า ระดับอ้างอิงผลกระทบรายได้ของประชากรที่ร้อยละ 5 เป็นระดับที่สูงกว่าการคาดการณ์เฉลี่ยของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่ประเมินไว้ที่ติดลบร้อยละ 4.8

อย่างไรก็ตาม 'ทีมข่าววอยซ์ออนไลน์' ทำการค้นตัวเลขคาดการณ์รายได้ต่อหัวล่าสุดจากฝั่งธนาคารโลก ปี 2563 ก่อนพบว่าสัดส่วนอาจติดลบถึงร้อยละ 6.2

จน

จนกว่าเส้นความยากจน
แฟลตคลองเตย-ที่อยู่อาศัย-การเคหะ-คนจน-สลัม-ชุมชนแออัด

นอกจากผลลัพธ์เรื่องสัดส่วนคนจนที่เพิ่มขึ้น อีกประเด็นที่ผู้เขียนเน้นย้ำถึงความสำคัญและอาจเป็นภาพรวมให้เห็นว่าโลกต้องใช้ความพยายามและเม็ดเงินมากน้อยแค่ไหนในการแก้ปัญหาความจนให้กลับไปอยู่ในระดับก่อนโควิด-19 ผ่านเครื่องชี้วัดอย่าง 'ช่องว่างความยากจน' (Poverty Gap Ratio) ซึ่งเป็นการสะท้อนว่าภายใต้เส้นความยากจนที่ตั้งเอาไว้ทั้งสามเส้นมีประชากรที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน

ณ เส้นความยากจนที่ 60 บาท ตามข้อมูล ณ ปี 2561 อัตราช่องว่างความยากจนอยู่ที่ร้อยละ 3.2 หรือคิดเป็นมูลค่า 1.87 บาท หมายความว่า ประชากรแร้นแค้นเฉลี่ยในกลุ่มนี้มีรายได้ราย 58.13 บาท ตามปกติตัวเลขดังกล่าวยังสามารถคำนวณได้ว่าจะต้องใช้เม็ดเงินจำนวนเท่าไหร่ในการช่วยให้ประชากรกลุ่มนี้ขึ้นมาอยู่ที่ระดับเส้นความยากจน ซึ่งผู้วิจัยชี้ว่าเมื่อคำนวณจากตัวเลขรายได้เฉลี่ยที่ต่ำกว่าเส้นความยากจนเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมดที่มีจำนวน 7,360 ล้านคน พบว่าต้องใช้เม็ดเงินราวๆ 13,700 ล้านบาท ในการอุดหนุนให้คนจนแร้นแค้นเหล่านี้ สามารถขยับฐานะขึ้นมาอยู่ที่เส้นความอยากจน

อย่างไรก็ตาม หากคำนวณตัวเลขดังกล่าวโดยนับรวมผลกระทบเรื่องรายรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในสัดส่วนร้อยละ 5, 10 และ 20 พบว่า ในกรณีเลวร้ายที่สุดนั้น ช่องว่างความอยากจนจะพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 5.1 หรือคิดเป็นมูลค่า 3.06 บาท หมายความว่างบประมาณในการช่วยเหลือในคนจนเหล่านี้ขึ้นมาอยู่ที่เส้นความยากจนจะเพิ่มเป็น 22,500 ล้านบาท และเมื่อคำนวณจากทุกกรณี ต้องใช้เม็ดเงินเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3,000 ล้านบาท/วัน ในการช่วยเหลือผู้อยู่ภายใต้เส้นความยากจนเหล่านี้

นักวิจัยทั้งสามปิดท้ายว่า ปัญหาความยากจนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนี้จะไม่ส่งผลร้ายแค่กลับประเทศที่เผชิญปัญหานี้ตั้งแต่ก่อนมีโควิด-19 แล้วเท่านั้น แต่จะลามไปถึงประเทศที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้มีปัญหาขนาดนี้ ซึ่งหมายความว่าประชากรในประเทศเหล่านี้ที่เคยเป็นผู้อยู่ใต้เส้นความยากจนและเพิ่งหลุดพ้นมาได้ กำลังมีความเสี่ยงอย่างหนักที่จะต้องกลับลงไปอยู่ใต้เส้นความยากจนอีกครั้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;