ไม่พบผลการค้นหา
ฮิวแมนไรท์วอทช์ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ออกแถลงการณ์เรียกร้องว่า ทางการไทยควรสอบสวนกรณีการเสียชีวิต ของผู้ขอลี้ภัยชาวอุยกูร์รายหนึ่งโดยทันที หลังจากผู้ลี้ภัยรายนี้ถูกกักขังเป็นเวลากว่านาน 9 ปีในสถานกักกันคนเข้าเมืองของรัฐไทย โดยฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (27 เม.ย.) ว่า กรณีดังกล่าวเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่รัฐบาลไทย ต้องยุติการควบคุมตัวผู้ขอลี้ภัยอย่างไม่มีกำหนด

ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุอ้างอิงตามการรายงานขององค์กรสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์ว่า เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2566 ที่ผ่านมา มัตโตห์ตี มัตตูร์ซัน หรือที่รู้จักในชื่อ มูฮัมหมัด ตูร์ซัน วัย 40 ปี เสียชีวิตด้วยอาการตับวายในศูนย์กักกันคนเข้าเมืองสวนพลู ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ทั้งนี้ เขาถูกควบคุมตัวในข้อหาลักลอบเข้าเมืองตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค. 2557 หรือเมื่อ 9 ปีก่อน

342109223_947724139901770_7757058726155344901_n.jpg

เอเลน เพียร์สัน ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า “ทางการไทยกำลังทำให้ผู้ที่แสวงหาการคุ้มครองผู้ลี้ภัยตกอยู่ในความเสี่ยงร้ายแรง โดยปล่อยให้พวกเขาอยู่ในสภาพเลวร้ายในศูนย์กักกันคนเข้าเมืองเป็นเวลาหลายปี” พร้อมระบุว่า “การเสียชีวิตของ มัตโตห์ตี มัตตูร์ซัน ควรส่งสัญญาณเตือนภัย ให้เกิดการยุตินโยบายที่ไม่เหมาะสมในการกักขังผู้ขอลี้ภัยและผู้ลี้ภัยเป็นระยะเวลานาน”

ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่า ในฐานะชาวอุยกูร์ มัตโตห์ตี มัตตูร์ซัน เผชิญกับการประหัตประหารหรืออันตรายร้ายแรงอื่นๆ หากถูกส่งตัวกลับไปยังประเทศจีน โดยเขาเป็นหนึ่งในกลุ่มชาวอุยกูร์หลายกลุ่ม ที่เดินทางมาถึงประเทศไทยในปี 2557 เพื่อพยายามเดินทางต่อไปยังมาเลเซีย และต่อไปยังประเทศที่สาม 

ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุต่อไปว่า ในปี 2558 รัฐบาลไทยได้บังคับส่งตัวชายและเด็กชายชาวอุยกูร์จำนวน 109 คนกลับประเทศจีน ซึ่งหลังจากนั้นมาไม่เคยมีการรับรู้ถึงชะตากรรมของพวกเขาอีกเลย ในขณะที่ผู้หญิงและเด็กชาวอุยกูร์อีก 170 คน ได้รับอนุญาตให้เดินทางต่อไปยังตุรกี ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางเดิมที่พวกเขาตั้งใจจะเดินทางไปถึง โดยตั้งแต่นั้นมา ประเทศไทยได้ควบคุมตัวชาวอุยกูร์ในส่วนที่เหลือ ซึ่งเป็นผู้ชายประมาณ 50 คน ในศูนย์กักกันคนเข้าเมืองที่ทรุดโทรม ซึ่งทางการไทยถือว่าพวกเขาเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายที่ไม่มีสิทธิใดๆ

มัตโตห์ตี มัตตูร์ซัน เป็นชาวอุยกูร์คนที่ 2 ที่เสียชีวิตในปี 2566 ในศูนย์กักกันคนเข้าเมืองสวนพลูที่กรุงเทพฯ โดยก่อนหน้านี้ มีรายงานการเสียชีวิตของ อาซิซ อับดุลลาห์ วัย 49 ปี ในเดือน ก.พ. โดยรายงานระบุว่า อาซิซ อับดุลลาห์ เสียชีวิตด้วยโรคปอดบวม

ชาวอุยกูร์เป็นชาวมุสลิมส่วนใหญ่ที่พูดภาษาเติร์ก ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ในพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ทั้งนี้ ตั้งแต่ปลายปี 2559 รัฐบาล สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้เพิ่มการปราบปรามในซินเจียงอย่างมาก โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติระบุว่า การละเมิดสิทธิต่อชาวอุยกูร์ในประเทศจีนนั้น “อาจถือได้ว่าเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ”

ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุในแถลงการณ์ว่า ภายใต้กฎหมายไทย ผู้ย้ายถิ่นทั้งหมดที่มีสถานะการเข้าเมืองไม่ปกติ รวมถึงเด็ก ผู้ขอลี้ภัย และผู้ลี้ภัย ซึ่งต่างได้รับการยอมรับจากหน่วยงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) สามารถถูกจับกุมและควบคุมตัวในข้อหาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย 

แถลงการณ์ระบุต่อไปว่า ศูนย์กักกันคนเข้าเมืองหลายแห่งในประเทศไทยมีความแออัดยัดเยียดอย่างมาก รวมถึงการจัดหาอาหารที่ไม่เพียงพอ อีกทั้งมีระบบระบายอากาศไม่ดี และขาดการเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสิ่งจำเป็นพื้นฐานอื่นๆ นอกจากนี้ ผู้ถูกคุมขังถูกจำกัดให้อยู่แต่ในห้องขังเล็กๆ ที่ดูเหมือนกรงขัง ซึ่งพวกเขาแทบไม่มีที่ให้นั่ง ไม่สามารถนอนหลับได้ตามปกติ และเด็กมักถูกจองจำพร้อมกับผู้ใหญ่

มีรายงานมานานแล้วว่า สภาพในสถานกักกันคนเข้าเมืองของไทยต่ำกว่ามาตรฐานสากล แต่รัฐบาลไทยไม่ได้ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาร้ายแรง ทั้งนี้ ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้บันทึกข้อบกพร่องเหล่านี้ไว้ในรายงานฉบับสมบูรณ์ เกี่ยวกับการกักกันเด็กของผู้อพยพในปี 2557 และรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัย ซึ่งรวมถึงการกักขังผู้ลี้ภัยในเมืองในปี 2555

ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่า ประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีของอนุสัญญาผู้ลี้ภัย 2494 และไม่เคยออกกฎหมายรับรองสถานะผู้ลี้ภัยและกำหนดขั้นตอนในการประเมินคำร้องขอลี้ภัย เนื่องจากไม่มีขั้นตอนการขอลี้ภัย ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทย ควรเคารพเอกสารบันทึกของบุคคลที่น่าเป็นห่วง ซึ่งออกโดย UNHCR และไม่กักตัวบุคคลที่รอการเรียกร้องความคุ้มครองระหว่างประเทศ นอกจากการยุติการกักกันผู้แสวงหาที่ลี้ภัยแล้ว ประเทศไทยควรใช้ทางเลือกอื่นแทนการกักขังที่ใช้อย่างมีประสิทธิภาพในประเทศอื่นๆ เช่น ศูนย์รับแบบเปิด และโครงการปล่อยตัวแบบมีเงื่อนไข

“รัฐบาลไทยควรตระหนักว่า นโยบายกักขังผู้ขอลี้ภัยที่มีการลงโทษและไม่มีกำหนดนั้น มีทั้งความไร้มนุษยธรรมและก่อให้เกิดผลในทางที่ผิด” เพียร์สันกล่าว “การขังชาวอุยกูร์และโยนกุญแจทิ้ง ไม่ได้เป็นการหยุดพวกเขาจากการหลบหนีจากสถานการณ์อันน่าสยดสยองในซินเจียง และมีแต่จะเพิ่มความทุกข์ยากให้กับพวกเขา”


ที่มา:

https://www.hrw.org/news/2023/04/27/thailand-detained-uyghur-asylum-seeker-dies