วันที่ 27 พ.ค. 2565 ที่ห้องกมลมาศ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีการจัดงานแถลงข่าวในการจัดงานบางกอกไพร์ด ภายใต้ชื่อ “บางกอกนฤมิตไพร์ด 2022” ซึ่งนำโดย ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานบางกอกไพร์ด
โดยภายในงานได้มีตัวแทนสมาชิกองค์กรเครือข่ายเพื่อความหลากหลายทางเพศ ภาครัฐ พรรคการเมือง ได้แก่ ‘สมหมาย เอี่ยมสอาด’ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษ์และความหลากหลาย พรรคเพื่อไทย ชญาภา สินธุไพร รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ณฐอร นพเคราะห์ สมาชิกพรรคเพื่อไทย
‘แทนคุณ จิตต์อิสระ’ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมสิทธิมุนษยชนและความเท่าเทียมระหว่างเพศ พรรคประชาธิปัตย์ ‘นาดา ไชยย์จิตต์’ คณะทำงานด้านความหลากหลายทางเพศพรรคไทยสร้างไทย ‘วรนัยน์ วานิชกะ’ หัวหน้าพรรครวมไทย ยูไนเต็ด รวมถึงตัวแทนจากสถาน เอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย ได้แก่ ฟินแลนด์ เนเธอแลนด์ และแคนาดา
นอกจากนี้ยังมี เฌอเอม ชญาธนุส ศรทัตต์ นางแบบและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ตัวแทนกองประกวดมิสแกรนด์ไทยแลนด์ และตัวแทนกองประกวดมิสฟ้าบุญเลิศ ‘ภาณุพงศ์ จาดนอก’ และ ไผ่ ดาวดิน ‘จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา’ เข้าร่วมอีกด้วย
ซึ่งภายในงานยังมีการร้องเพลงของ ‘ธชย ประทุมวัน’ หรือ ‘เก่ง เดอะวอยซ์’ การเดินแบบจากตัวแทนผู้มีความหลากหลายทางเพศ และการแสดงของแดร็กควีน ‘Miss Srimala’ และ ‘Gawdland’
พรหมศร กล่าวว่า คีย์เวิร์ดของงานไพร์ดคือคำว่า 'นฤมิต' ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า 'Metaverse' ตามราชบัณฑิตยสถาน ประวัติศาสตร์ ได้จารึกสิ่งอย่างหนึ่งที่อยู่ในซอกหลืบ สิ่งเหล่านี้เรียกว่า กะเทย และบรรดาเพศหลากหลายคงจะทราบกันดีว่า เราถูกสังคม ศาสนาตราหน้าว่าบาป
"ทั่วทุกมุมโลกบอกว่า ประเทศไทยคือสวรรค์ของเพศหลากหลาย แต่ไม่ใช่เรื่องจริง เพราะกฎหมายไม่ได้ยอมรับเรา สังคมขายเรากิน เราเป็นแค่ผลิตภัณฑ์ชิ้นหนึ่ง ไม่ใช่สิ่งที่ถูกได้รับการยอมรับ" พรมศร กล่าว
พรหมศร กล่าวเพิ่มว่า ดังนั้นเราจึงจัดงานไพร์ดพาเหรดที่ถนนสีลม เพราะสีลมเป็นประวัติศาสตร์ที่เล่าอัตลักษณ์ของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ บางคนมีความฝันที่นั่นบางคนหาเงินส่งให้บ้านที่นั่น และในภาคเศรษฐกิจ สีลมเป็นถนนที่สร้างเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ให้ประเทศไทย
ก่อนที่จะมีการมอบธงไพร์ดให้กับหน่วยงานที่มาเข้าร่วม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อต้องการให้องค์กรที่มารับนั้น นำธงนั้นไปโบกสะบัดที่หน้าองค์กรของตน เพื่อเป็นการยืนยันว่า มีการสนับสนุนในเรื่องของความหลากหลายทางเพศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประมาณเวลา 11.45 น. ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เดินทางมาเข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์ และให้สัมภาษณ์ประเด็นดังกล่าวว่า กรุงเทพฯ มีความหลากหลาย สิ่งสำคัญคือ การยอมรับ และเข้าใจถึงความหลากหลายที่มี ไม่ใช่มิติทางเพศอย่างเดียว แต่ในหลายๆ มิติ ถ้าเรายอมรับความแตกต่างหลากหลายได้ เราคงจะเป็นสังคมที่อยู่กันอย่างมีความสุขมากขึ้น
ชัชชาติ กล่าวอีกว่า ถ้าดูจากนโยบาย เรื่องกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ตนมีนโยบายดูแล เข้าใจ และให้บริการในสิ่งที่เขาต้องการแตกต่าง เช่น การบริการศูนย์สาธารณสุข ต้องมีการให้คำปรึกษา ให้ความรู้ในโรงเรียนเรื่องความหลากหลาย
“เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะเข้าใจว่า เพื่อนๆที่อยู่ร่วมเมืองกับเรามีความแตกต่างอย่างไร ชีวิตคนไม่ใช่แค่ 0 หรือ 1 มันไม่ใช่ไบนารี่ แต่ชีวิคนเป็นสเปนตัม มีเฉดสีที่ต่างกัน ถ้าเรายอมรับความแตกต่างพื้นฐานตรงนี้ได้ ไม่ใช่เรื่องที่แปลกประหลาดอะไร” ชัชชาติ กล่าว
ชัชชาติ ย้ำว่า ส่วนอีกอัน คือ 12 เทศกาล 50 อัตลักษณ์ของเขต ซึ่งอันนี้เรื่อง Pride Month อยู่ในนโยบายเราด้วย เราสามารถช่วยสนับสนุนตรงนี้ได้ และทำให้เกิดการเข้าใจ ยอมรับในความหลากหลายทางเพศมากขึ้น
ส่วนในเรื่องปัญหาสถานที่จัดงาน ชัชชาติ กล่าวว่า พื้นที่สาธารณะในกรุงเทพฯ มีเยอะแยะ ถ้าเกิดว่าได้รับการรับรองตำแหน่งแล้ว คงคุยกันว่า ความต้องการเขาเป็นอย่างไร จัดอย่างไร เดินพาเหรด ปิดถนนหรือไม่ ผมเชื่อว่าคุยกันได้ ถ้าเราวางแผน เตรียมสถานที่ ผมว่ามีที่เยอะและเลยที่สามารถจัดได้ หลายเมืองจัดได้ เพราะฉะนั้นไม่มีเหตุผลเลยที่กรุงเทพฯ จะจัดไม่ได้
เรื่องของการอำนวยความสะดวกนั้น ชัชชาติ เสริมว่า ตามอำนาจหน้าที่ของกทม. สิ่งที่ทำได้คือ คุยเรื่องพื้นที่ การอำนวยความสะดวก ตอนนี้มีเรื่องโควิด การไปจัดพาเหรด มีการกำหนดเรื่องโควิดเป็นอย่างไร อาจจะดูให้ละเอียด ทุกคนมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือสร้างความเข้าใจ และการยอมรับ ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงเลย
“ผมไม่ทราบว่าคนหลากหลายทางเพศมีจำนวนมากแค่ไหน แต่มากน้อยไม่สำคัญ เพราะทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ในวิสัยทัศน์เราให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ดังนั้น ต้องรวมความหลากหลายต่างๆ ด้วย” ชัชชาติ กล่าว
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ กล่าวว่าหลังครม.มีมติ คว่ำร่างพ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมไปเมื่อ 2 เดือนก่อน วันที่ 8 มิ.ย.นี้ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม จะมีการนำกลับเข้าไปพิจารณาในรัฐสภาอีกครั้ง
ด้าน ชัชชาติ ให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องที่ต้องสนับสนุน เพราะต้องการให้กลุ่มหลากหลายทางเพศได้สวัสดิการที่เหมือนคู่สมรสทั่วไป ตอนนี้ในต่างประเทศเขาไปไกลแล้ว ส่วนประเด็นเรื่องที่รัฐจะกลัวว่า พลเมืองจะลดลง อันนั้นเป็นหน้าที่กทม.มากกว่า ที่จะต้องดูแลคุณภาพชีวิตของคนให้ดียิ่งขึ้น ดูแลการศึกษา สาธารณสุขให้ดี ตนเชื่อว่า คนจะอยากมีลูกมากขึ้น