ส.ส.สองสมัยติดต่อกัน 'ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์' ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย พ่วงตำแหน่งโฆษกพรรคเพื่อไทย คนใหม่
ส.ส.สมัยแรกคนรุ่นใหม่จากภาคอีสาน 'จิราพร สินธุไพร' ส.ส.ร้อยเอ็ด เขต 5 พรรคเพื่อไทย บุตรสาวของนักต่อสู้ประชาธิปไตย พ่อ 'นิสิต สินธุไพร' อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคพลังประชาชน และอดีตแกนนำคนเสื้อแดง หรือ นปช.
'วอยซ์' ไม่พลาดต่อกระแสเมนหลักปักด้วยหัวใจประชาธิปไตย โดยนำทีมข่าวเข้าไปภายในรัฐสภาแห่งใหม่ ย่านเกียกกาย สัปปายะสภาสถาน เพื่อขอยิงคำถามถึงกระแส 'เมนหลัก' ต่างรวมพลังปักหัวใจประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นกับ #จิราพร #ธีรรัตน์
'จิราพร' บอกผ่าน 'วอยซ์' ตอนหนึ่งถึงกระแสคนรุ่นใหม่คลั่งไคล้ ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยที่เกิดขึ้นอย่างร้อนแรงนาทีนี้ว่า "ส่วนใหญ่นักการเมืองจะมองในแง่ลบ ไม่คิดว่าจะมาเป็นอาชีพที่เป็นไอดอลได้ แต่ว่าพอเกิดปรากฏการณ์นี้ภาพลักษณ์นักการเมืองเปลี่ยนไปในเชิงบวกมากขึ้น"
แม้จะมีแฟนด้อมเข้ามากดไลค์ หรือส่งหัวใจแบบแลนด์สไลด์ผ่านโลกโซเชียลมีเดีย แต่การต่อสู้ในปีกประชาธิปไตยก็ยังคงมีความเห็นไม่ตรงกันอยู่บ้าง และนั่นก็ทำให้กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ลามไปถึงแฟนคลับของปีกประชาธิปไตย ถึงขั้นที่คอมเมนต์ในโลกออนไลน์ บอกว่า “ชอบนะพรรคเพื่อไทย แต่ขอเลือกพรรคXXX ดีกว่า”
"วันนี้ถ้าจะมีพรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตยเพิ่มขึ้นมาร่วมเดินทางต่อสู้กับเรา น้ำยินดีมากๆ ที่เราจะมีเพื่อนร่วมทางเยอะขึ้น" จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ระบุ
ขณะที่ ส.ส.ธีรรัตน์ ซึ่งถูกโลกโซเชียลฯ แห่ติด #สสอิ่ม บอกว่า "เผด็จการมีอยู่แค่หยิบมือเดียวนี่แหละ แต่เขามีอาวุธ มีปืน มีอำนาจจากรัฐ ถ้าหากภาคประชาชนเอง เขาได้ร่วมแรงร่วมใจกันจริงๆ คิดว่าสักวันหนึ่งอำนาจเผด็จการตรงนี้มันต้องหายไป"
'วอยซ์' ยิงคำถามแรกก่อนเริ่มบทสนทนาทางการเมืองที่เคร่งเครียด โดยถามตรงๆ ไปยัง 'ธีรรัตน์' ว่า "ทำไม 'ธีรรัตน์' ต้องประท้วงช่วย 'จิราพร' ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ล่าสุดเมื่อต้นเดือน ก.ย. 2564
ธีรรัตน์ บอกว่า "ไม่อยากให้เป็นวัฒนธรรมที่ไม่ดีสืบต่อไปให้กับน้องๆ รุ่นหลัง เขา (ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ) ประท้วงน้องน้ำขณะอภิปรายอยู่ เราก็รู้ว่าเป็นเทคนิคให้เกิดความเสียสมาธิ ให้ผู้อภิปรายอยู่ขัดจังหวะ"
ขณะที่ 'จิราพร' บอกว่า "เหตุการณ์ตอนนั้นไม่ได้ตกใจอะไรเลยวันนั้น มีพี่อิ่มช่วยประท้วง ก็ได้มีโอกาสจิบน้ำ เพราะวันนั้นก็มีปัญหาเรื่องการใช้เสียง"
"พี่อิ่มก็มั่นใจว่าพี่น้องประชาชนที่ติดตามชมอยู่ทางบ้าน กำลังฟังกันอยู่ด้วยความตั้งใจแต่ถูกขัดจังหวะด้วย ส.ส.ท่านหนึ่ง" ธีรรัตน์ ย้ำ
จิราพร : ต้องเรียนว่าน้ำเองได้รับความไว้วางใจทำหน้าที่ ส.ส. อาจเพราะการทำหน้าที่ ส.ส.ดูแลประชาชนและสภาฯ ที่อภิปรายตรวจสอบรัฐบาลต่อเนื่อง มีบางท่านติดตามการเมืองรู้จักเราผ่านการอภิปราย ยุคนี้โซเชียลมีเดียมีน้องๆรุ่นใหม่เห็นเราผ่านการทำงานในสภา ก็เอาผลงานของเราไปขยายผลผ่านช่องทางไอจี TikTok ทำคลิปน่ารักๆ คลิปลงพื้นที่ คลิปอภิปราย ขยายผลรวดเร็วรู้จัก ส.ส.อิ่ม ส.ส.น้ำ
ธีรรัตน์ : จุดเริ่มต้นมี คลิปหนึ่งที่ พี่อิ่มกับน้องน้ำอยู่ด้วยกันในเฟรมเดียวกัน เหมือนกำลังอภิปรายกันอยู่ เป็นบรรยากาศแตกต่างจากอดีตที่ประชุมสภาฯ ต้องเคร่งเครียด เรื่องก็เครียดแต่ก็ทำให้ผ่อนคลายได้ คิดว่าเป็นจุดที่เชื่อมต่อระหว่าง ตัว ส.ส.และน้องๆ คนรุ่นใหม่ที่อยากมีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมือง แต่เขาไม่อยากเหมือนกับเครียดในสิ่งที่เป็นอยู่ด้วย ทำให้น้องๆ ไปดูผลงานที่ผ่านมาในอดีต ว่านอกจากการอภิปรายในครั้งนั้นแล้วมีครั้งไหนอีก ก็ไปเจอคลิปที่พี่อิ่มพี่น้ำอภิปรายอีก นั่งอยู่ที่ประชุมด้วยกัน
ทำให้เขาได้สัมผัสและฟังสิ่งที่เราพูดไปด้วย และไปชนจิตใจเขาที่เห็นว่าเป็นปัญหา อยากมีตัวแทนมาแก้ไขเรื่องต่างๆ หลายครั้งดิฉันจะพูดถึงปัญหาวัยรุ่น ปัญหาการศึกษา พอได้มารู้จักพี่อิ่ม พี่น้ำได้เห็นการทำงานก็ได้ติดตามไปเรื่อยๆ
จิราพร (เสริมต่อ) : นักการเมืองในอดีตมีแฟนคลับก่อนหน้านี้ ที่ติดตามการอภิปราย การปราศรัย แต่ว่าปรากฏการณ์ที่มาจับนักการเมือง จิ้นกัน หรือว่าเป็นลักษณะคลั่งไคล้ชื่นชอบเราเป็นไอดอล เป็นแรงบันดาลการใช้ชีวิตในการเรียน เข้าใจว่าน่าจะเป็นปรากฏการณ์แรกเลย เท่าที่น้ำติดตามการเมืองไทยมา น่าจะประมาณ 2 เดือน พี่อิ่ม พี่น้ำเป็น ส.ส.เขตจะมีคนมาให้กำลังใจ น่าจะเป็นครั้งแรก 2 เดือน
น่าจะเป็นครั้งแรกสัก 2-3 เดือนที่ผ่านมาที่น้องๆ เริ่มได้เห็นเราในอิริยาบถอื่นๆ ผ่านคลิปใน TikTok ผ่านการสื่อสารในรูปแบบมีการทำภาพการ์ตูน TikTok ตอนนี้ถ้าไปดู แฮชแท็ก ส.ส.น้ำ ส.ส.อิ่ม ยอดวิวประมาณ 370 ล้านวิวได้ที่ น้ำไปดูล่าสุด ส่วนใหญ่น้องๆที่เคยพูดคุย เป็นกลุ่มคนไม่เคยสนใจการเมืองมาก่อนไม่คิดว่าการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัวหรือมาชื่นชอบนักการเมืองส่วนใหญ่ที่มาคุย
ส่วนใหญ่นักการเมืองจะมองในแง่ลบ ไม่คิดว่าจะมาเป็นอาชีพที่เป็นไอดอลได้ แต่ว่าพอเกิดปรากฏการณ์นี้ภาพลักษณ์นักการเมืองเปลี่ยนไปในเชิงบวกมากขึ้น
ธีรรัตน์ : มันเป็นวิวัฒนาการของสื่อโซเชียลฯ แต่ก่อนไม่ได้แพร่หลายแต่ปัจจุบันหลายช่องทาง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นครั้งแรก เพราะพี่อิ่มไม่ได้เคยได้ยินเหตุการณ์นี้มาก่อน ซึ่งสร้างความแปลกใจ ที่เราได้โอกาสการต้อนรับ ให้กำลังใจจากน้องๆที่หลากหลายมากๆ
ก่อนหน้านี้เป็นกลุ่มแฟนคลับเฉพาะในพื้นที่เด็กๆ วัยรุ่นในพื้นที่ไม่ได้ขยายวงกว้างทั่วประเทศ จากการติดต่อน้องบอกว่าอยู่คนละจังหวัดไม่ได้อยู่ในพื้นที่ รวมกลุ่มคนหลายๆ พื้นที่มารวมในโซเชียลฯ สัมผัสการทำงานของเรา ในพื้นที่ของเราจะมีส่วนหนึ่งอยู่แล้ว
จิราพร : จ.ร้อยเอ็ด สภาพปัญหาพื้นที่ค่อนข้างจะขาดโอกาสทางด้านนโยบายต่างๆ รัฐบาลไปไม่ถึงการกระจายมีปัญหา จะไปทำงานหัวเมืองใหญ่ พื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ใหญ่ คนเฒ่าคนแก่ คนหนุ่ม-สาวจะทำงานหาเงินมาให้ทางบ้าน จะมีกลุ่มคนชื่นชอบหลากหลายวัยจะมีคนรุ่นใหม่ ผู้ใหญ่ฐานแฟนคลับ คล้ายชื่นชอบเหมือนศิลปินเกาหลี
มีน้องๆหลายคนที่บอกว่า ช่วงหนึ่งมีภาวะโรคซึมเศร้า ในการใช้ชีวิตพอดูน้ำและพี่อิ่มก็จุดประกายความหวังในชีวิตเขาขึ้นมา ดูเราแล้วมีความสุขกลายเป็นหลายคนบอกว่าจากรักษาโรคซึมเศร้าอยู่ คุณหมอบอกอาการดีขึ้นเป็นลำดับ จริงๆ เรามีอิทธิพล ถ้าการทำงานของเราเป็นความสุขของน้องๆ ได้ขนาดนี้หรอ การมีคนๆหนึ่ง เปลี่ยนชีวิตคนเป็นแรงบันดาลใจได้ขนาดนี้ ก็ดีใจที่การทำงานของเรามีประโยชน์ในหลายๆมุม
ธีรรัตน์ : เมืองไทยมีศักยภาพเจริญก้าวหน้าแต่ติดตรงที่ยังมีระบบเผด็จการเข้ามาสอดแทรกในระบอบประชาธิปไตย ทำให้ความก้าวหน้าของเราเหมือนจะเดินไปแต่เดินถอยหลังอยู่บ่อยครั้ง สิ่งที่อยากจะบอกก็คือ แต่เราคงไม่ยอมแพ้ เราคงช่วยกันที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์กลับคืนมาให้ได้ แม้ว่าจะมีเหตุการณ์ที่ไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นกับประชาชน คิดว่าพลังประชาชนยิ่งใหญ่จะบอกว่าอนาคตของเขาต้องการอะไร อดีตที่ผ่านมาเมื่อโดนยึดอำนาจโดยเผด็จการ ประเทศไทยก็จะเดินถอยหลังไปเสมอ ปัญหาที่ทำให้ประเทศของเราควรเจริญมากกว่านี้กลับไม่ไปไหน
จิราพร : โครงสร้างของประเทศที่ยังไม่ได้เป็นประชาธิปไตย เราเห็นการเติบโตการต่อสู้ของภาคประชาชนที่ขยายใหญ่ขึ้นตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 พฤษภาทมิฬ ตุลา 2519 หรือการต่อสู้ของพี่น้องคนเสื้อแดงในตอนปี 2553 น้ำถือว่าเป็นการเติบโตของขบวนการภาคประชาชนในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่มันขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
ในเชิงโครงสร้างมันถอยหลังกลับยังไม่เป็นประชาธิปไตย แต่การต่อสู้ของประชาชนกลับเติบโตมีความก้าวหน้า ข้อเสนอข้อเรียกร้องต่างๆ มีความก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ดังนั้นเป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองต้องตอบสนองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงข้อเรียกร้องหรือข้อเสนอของประชาชน โดยใช้สภาฯเป็นพื้นที่สันติวิธีเป็นกลไกหาทางออกร่วมกันเพื่อลดความขัดแย้งในสังคม
ธีรรัตน์ (พูดเสริมพร้อมหันหน้ามองจิราพร) : ที่เขาบอกว่าอะไรนะคะ ตายสิบเกิดร้อยแบบนี้ คือ ประชาชนแม้จะถูกทำให้ล้มหายตายจากไปยังไง ก็ยังมีรุ่นใหม่ที่พร้อมจะสานต่อประชาธิปไตยเกิดขึ้นเสมอ
จิราพร (ส่งสายตามองหน้าธีรรัตน์) : ใช่ค่ะ ตอนนี้มันเหมือนคนที่เคยสู้อยู่ก็ยังสู้ต่อ แล้วก็ยังมีคนรุ่นใหม่เติบโตเข้ามา ผนึกกำลังร่วมกันต่อสู้ก็เลยมองว่ามันเป็นความหวังของประเทศ ที่เราเหมือนมีการขยายฐานการต่อสู้ของประชาชนขึ้นเรื่อยๆ เพื่อคานอำนาจเผด็จการเอาไว้
ธีรรัตน์ : ประชาธิปไตย คือ คนส่วนมากของประเทศอยู่แล้วที่ยอมรับในระบอบนี้ เผด็จการมีอยู่แค่หยิบมือเดียวนี่แหละ แต่เขามีอาวุธ มีปืนมีอำนาจจากรัฐ ถ้าหากภาคประชาชนเองได้ร่วมแรงร่วมใจกันจริงๆ คิดว่าสักวันหนึ่งอำนาจเผด็จการตรงนี้มันต้องหายไป ส่วนวัยรุ่นเองก็เรียนรู้ต้งแต่รุ่นของคุณพ่อ (นิสิต สินธุไพร อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคพลังประชาชน) คุณแม่ (เอมอร อนุสงค์ อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย) อย่างน้องน้ำก็ได้เห็นการต่อสู้ของคุณพ่อคุณแม่มาตั้งแต่อดีต แล้วก็ได้เห็นวิวัฒนาการการเมืองไทย
ในสมัยที่บ้านเมืองเรามีการปกครองโดยผู้นำจากการเลือกตั้งอย่างแท้จริง ประเทศเจริญขนาดไหน มองกลับกัน ในระหว่างที่ประเทศถูกปกครองโดยผู้นำมาจากเผด็จการการยึดอำนาจ บ้านเมืองมีแต่ตกต่ำลง เขาคงไม่อยากให้อนาคตตกต่ำลง เขาอยากเห็นโอกาส อยากเห็นสิ่งที่ดีขึ้นในชีวิตของเขา ในลูกหลานของเขาในรุ่นต่อๆ ไป
จิราพร : น้ำเพิ่งเป็น ส.ส.สมัยแรก ครั้งแรก ถ้าถามเหตุการณ์ที่พีคที่สุด น้ำนึกถึงการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยเสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้ง ส.ส.ร. (สภาร่างรัฐธรรมนูญ) ที่มาจากประชาชนมาร่างรัฐธรรมนูญเปลี่ยนรัฐธรรมนูญจากเผด็จการให้เป็นของประชาชน ตอนนั้นเป็นวาระรับหลักการ วาระที่หนึ่ง น้ำเป็นหนึ่งในผู้อภิปราย พอจบการอภิปรายจะมีการโหวต วันนั้นก็มีพี่น้องนักเรียน นักศึกษามาปักหลักอยู่หน้ารัฐสภาเพื่อรอฟังผลการลงมติในวันนั้น ปรากฏว่าฟากฝั่งรัฐบาลกับ ส.ว.ก็มีการใช้ช่องทางข้อบังคับการประชุมรัฐสภา เพื่อเสนอให้มีการตั้งกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อศึกษาว่าจะรับหรือไม่รับร่างนี้
น้ำมองว่าเป็นการเตะถ่วงเวลาเฉยๆ เพราะมีการศึกษามามากแล้ว มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญในรัฐสภา มีภาคประชาสังคม นักวิชาการที่มีการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญพอสมควร ก็เลยตอนนั้นเป็นความรู้สึกค่อนข้างผิดหวังว่าเราเป็น ส.ส.สมัยแรกเห็นปัญหาของประเทศที่เกิดจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อยากเปลี่ยนรัฐธรรมนูญให้เป็นของประชาชนก็มีความคาดหวังว่าวันนั้นจะเป็นจุดเริ่มต้นของประเทศไทยที่จะได้เป็นก้าวแรกที่จะได้รัฐธรรมนูญจากประชาชน ก็เลยผิดหวัง เศร้าใจมากจริงๆ ก็ยอมรับ พอขับรถออกไปจากรัฐสภา เจอพี่น้อง นักเรียน นิสิตนักศึกษามาปักหลัก เหมือนให้กำลังใจฝั่งประชาธิปไตยฝั่งฝ่ายค้าน สะท้อนในใจถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น
ธีรรัตน์ : ของพี่อิ่มต้องย้อนกลับไปสมัยแรกช่วง ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมและการแก้ไขรัฐธรมนูญ ตอนนั้นเป็นช่วงที่อภิปรายมาปกติ ตอนนั้นพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล เราเห็นพฤติกรรม ส.ส.ฝ่ายค้านขณะนั้น ถ้าจำกันได้มีการลากเก้าอี้ท่านประธาน บนบัลลังก์ เขวี้ยงแฟ้มปาใส่ มีการโห่จะไปทำร้ายกัน ไปกระชากคอเพื่อนสมาชิกด้วยกัน ไปบีบคอ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลภาพนั้นยังติดตาเสมอไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นในสภาผู้แทนราษฎรไทย ตกใจมากๆ โอ้โห ทำกันได้ขนาดนี้เลยหรอ
รอยยิ้มหนึ่งที่พี่อิ่มจำได้คือ รอยยิ้มหนึ่งที่พี่อิ่มจำได้จาก…เอ่ยชื่อได้ไหมคะ ตอนนั้นเป็นประชุมร่วมรัฐสภา ระหว่าง ส.ส. และส.ว.ด้วยนะ จาก (ไม่ขอเอ่ยชื่อ) ว่าเขาเนี่ยทำให้สภาป่วนสำเร็จ แบบยิ้มแบบแสยะ แสยะแบบสะใจ คือเดินมาใกล้เราพอสมควร แล้วก็เดินไปหา ส.ว. ที่เรียกว่าเป็นกระบวนการสมคบคิดว่าเราทำสำเร็จแล้วที่ให้ภาพของสภาปั่นป่วนได้ขนาดนี้
มีการสร้างความเกลียดชังโดยที่ไม่ยึดหลักประชาธิปไตยที่ต้องใช้รัฐสภาเป็นพื้นที่ในการพูดคุยมันควรจะเป็นอย่างนั้นมากกว่า แต่พวกเขากลับสร้างความร้าวฉานให้เกิดขึ้นกับประเทศ
ธีรรัตน์ : มีหลายท่านที่นับถือ มีหลายท่านเป็นอาจารย์ทางการเมืองหลายๆท่าน ที่เป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย อดีตรองประธานสภาฯ เป็นครูในสภาฯ สมัยนั้นที่จะคอยแนะนำการอภิปราย การใช้ข้อบังคับต่างๆ แม้ท่านจะจากไปแล้วก็ยังระลึกถึง
แล้วเราได้มีโอกาสทำงานร่วมกับนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ได้เห็นถึงความตั้งใจในการทำงานเพื่อพี่น้องประชาชน ท่านเองก็ไม่ได้อยู่ในวงการการเมืองแต่แรก ท่านเองได้เรียนรูู้ซึมซับกับท่านอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร มา เมื่อท่านได้รับตำแหน่ง ท่านก็ทุ่มเทเสียสละ ทำให้เราเห็นว่านักธุรกิจคนหนึ่งที่ทิ้งการบริหารธุรกิจ เดินมาในวงการการเมืองก็พร้อมที่จะทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี แม้จะเจออุปสรรค ก็พร้อมที่จะฟันฝ่าไปได้ ถือว่าเป็นแรงบันดาลใจอย่างหนึ่ง เราต้องช่วยกันทำให้ประเทศดีขึ้น
ส่วนนักการเมืองไอดอลก็คือ คุณพ่อ (วิบูล สำเร็จวาณิชย์ อดีตสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตลาดกระบัง) ก็เป็นนักการเมืองระดับท้องถิ่น ที่ได้ซึมซับคือช่วยเหลือประชาชน ตอนเด็กๆ คุณพ่อจะเปิดรับทุกคน ใครมีปัญหาได้เข้ามาบอกกล่าวกัน มีประชาชนเดินทางเข้าบ้านเยอะมาก ในสมัยเด็กๆ เราไม่เข้าใจทำไมคนมาหาคุณพ่อเยอะ พอโตขึ้น ได้ฟังสิ่งที่คุณพ่อทำนอกจากเลี้ยงลูกได้เติบโตแล้ว อย่างหนึ่งที่เสียสละคือได้ดูแลพี่น้องประชาชนด้วย เราได้ซึมซับมาเรื่อยๆ เราลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ก็เลยได้สัมผัสนักการเมืองระดับประเทศ
จิราพร : คนแรกที่จุดประกายให้เราอยากเป็นนักการเมือง คือ คุณพ่อ (นิสิต สินธุไพร อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด) เป็นอดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ตอนเป็นเด็กเรามองนักการเมืองห่างไกลตัว ค่อนข้างภาพลบ นักการเมืองเป็นผู้มีอิทธิพลเข้าถึงยาก พอคุณพ่อตัดสินใจทำงานทางการเมือง เมื่อตัดสินใจให้ดูเป็นตัวอย่าง ว่านักการเมืองก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่เป็นคนทั่วไปที่มีความหวังดีต่อประเทศชาติได้ เราเริ่มรู้สึกอยากเป็นนักการเมืองเจริญรอยตามคุณพ่อ
ถ้าย้อนอดีตคนที่เป็นแบบอย่างเรื่องการเมืองประชาธิปไตย ย้อนไปถึง 2475 ก็คือท่านปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษอาวุโส เป็นคนจุดประกายสถาปนาระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย เปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย
ถ้าพูดถึงระดับผู้บริหารประเทศมี 2 นายกฯในดวงใจ หนีไม่พ้นท่าน ดร.ทักษิณ ชินวัตร และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ท่านทักษิณ ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย เป็นการเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองของประเทศที่ เมื่อก่อนประชาชนสิ้นหวังเลือกนักการเมืองเข้ามาไม่รู้จะทำประโยชน์อะไรให้กับประเทศหรือไม่ ประเทศจะพัฒนาแบบไหน คนจะมองภาคอีสานเมื่อมีการเลือกตั้งว่าเลือกเพราะการซื้อเสียงใช้เงินถึงจะชนะ แต่ว่าตอนพรรคไทยรักไทยขายนโยบาย ขายประชาธิปไตยที่กินได้ ประชาชนก็เลยมีความหวังที่จะเลือกนักการเมือง เรื่องการใช้เงินไม่มีความหมายอีกต่อไป
อีกท่านยิ่งลักษณ์ แม้ไม่ได้ใกล้ชิดกับท่าน จากการติดตามการทำงานท่านเป็นนายกฯ หญิงของประเทศไทยคนแรกที่ได้แสดงให้เห็นว่าเรื่องเพศสภาพไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการเป็นผู้นำประเทศ แม้จะเป็นผู้หญิงก็สามารถเป็นผู้นำประเทศที่ดี
จิราพร : สำหรับน้ำเองยังไม่เคยเจอคอมเมนต์ลักษณะนั้น และยังไม่เคยเจอประชาชนมาตั้งคำถามกับเราลักษณะนั้น ส่วนใหญ่จะมาให้กำลังใจแล้วบอกว่าติดตามการทำงานอยู่ แล้วก็รอเลือกพรรคเพื่อไทย
ถ้าวันหนึ่งมีประชาชนมีคอมเมนต์อย่างนั้นหรือเดินมาพูดอย่างนั้นก็คงเคารพในการถามคำถาม แล้วก็เคารพในการตัดสินใจของประชาชน ต้องเรียนว่าตลอด 20 ปีที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยมีรากฐานจากพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน ถูกยุบ 2 ครั้งก็ยังยืนหยัดตั้งเป็นพรรคเพื่อไทย จุดแข็งของเรา คือการต่อสู้กับเผด็จการ จุดแข็งในการเป็นพรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตย วันนี้ถ้าจะมีพรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตยเพิ่มขึ้นมาร่วมเดินทางต่อสู้กับเรา น้ำยินดีมากๆ ที่เราจะมีเพื่อนร่วมทางเยอะขึ้น
ทุกครั้งที่ผ่านมาในการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยมีจุุดแข็งในเรื่องประชาธิปไตย ในเรื่องการนำเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์กับประชาชน แล้วก็ทำสำเร็จมาแล้วก็เป็นจุดที่มาว่าเลือกตั้ง 5 ครั้งไม่ว่าจะเป็นกฎกติกาแบบไหน หรือบิดเบี้ยวขนาดรัฐธรรมนูญปี 2560 เราก็ชนะการเลือกตั้งมาทุกครั้ง ไม่ได้หวั่นไหวต่อคำพูดว่าจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุน เราเคารพทุกการตัดสินใจของประชาชน
ธีรรัตน์ (พูดเสริม) : ก็ยังสงสัยอยู่ว่ามีด้วยเหรอคะที่เราว่าทำดีแล้วเขาไม่รัก ต้องเสียใจ ถ้าทำดีก็อยากจะให้ทุกคนรัก แล้วก็ให้เป็นตัวเลือก ให้ทุกคนได้ความไว้วางใจในการเข้ามาทำงาน
“ยิ้มแบบแสยะ แสยะแบบสะใจ คือเดินมาใกล้เราพอสมควร แล้วก็เดินไปหา ส.ว. ที่เรียกว่าเป็นกระบวนการสมคบคิดว่าเราทำสำเร็จแล้วที่ให้ภาพของสภาปั่นป่วนได้ขนาดนี้“ ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์
“ เลือกตั้ง 5 ครั้งไม่ว่าจะเป็นกฎกติกาแบบไหน หรือบิดเบี้ยวขนาดรัฐธรรมนูญปี 2560 เราก็ชนะการเลือกตั้งมาทุกครั้ง ไม่ได้หวั่นไหวต่อคำพูดว่าจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุน เราเคารพทุกการตัดสินใจของประชาชน” จิราพร สินธุไพร
ในช่วงท้ายของการสัมภาษณ์พิเศษ แม้ตะวันจะใกล้ลับฟ้าบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา รัฐสภา สัปปายะสภาสถาน 'วอยซ์' จึงหยิบคอมเมนต์ร้อนๆ ปังๆ จากโซเชียลมีเดีย มาให้ 'จิราพร' และ 'ธีรรัตน์' ได้อ่าน และบอกถึงความเสียงวิจารณ์และเสียงชมที่เกิดขึ้น
"เลือกพรรคXXX ดีกว่า" คอมเมนต์หนึ่งได้พิมพ์ไว้ โดย 'ธีรรัตน์' อ่านและบอกทันทีว่า "ดีกว่าอะไร มันมีชื่อพรรคอยู่ด้วยพี่ก็ไม่อยากอ่าน"
"ส.ส.เหมือนดาราแล้วปังแท้ปังเหลือเกิน พี่อ่านถูกไหมคะ เราก็อาจะเป็นบุคคลสาธารณะที่สามารถวิจารณ์ได้แนะนำได้ ติติงได้ แล้วเราก็ต้องรับคำแนะนำนั้น อะไรที่สิ่งที่ดีที่พี่น้องประชาชนได้บอกมา อะไรเป็นสิ่งที่เราคิดว่าเป็นตัวอย่างให้พี่น้องประชาชน หรือว่าวัยรุ่นขณะนี้ได้เราก็ควรที่จะต้องทำต่อ" ธีรรัตน์ ยิ้มพร้อมหัวเราะระหว่างอ่านคอมเมนต์
ขณะที่ 'จิราพร' อ่านคอมเมนต์จากโซเชียลฯ ว่า "สู้ไปกราบไป ไม่ต่างกับทำร้ายเยาวชนคนรุ่นใหม่ เลือกไม่ถูกระหว่างก้าวไกล เพื่อไทย"
ทำให้ ส.ส.ร้อยเอ็ด เขต 5 พรรคเพื่อไทย ที่เพิ่งฟาด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลางสภาฯ ด้วยวาทะคมๆ บาดใจผู้นำประเทศในศึกซักฟอก พูดทันทีว่า "สู้ไปกราบไปเนี่ย น้ำพูดหลายครั้งในฐานะสายเลือดนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาก่อน"
"ทุกการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมีคุณค่าในตัวเอง มีคุณูปการให้กับประเทศ แม้สู้ไปแล้วจะยังไม่ชนะ ไม่ได้เขาสู้ไปกราบไปนะคะ เพราะที่เขาต่อสู้อยู่มันเป็นอำนาจเผด็จการที่มันฝังรากลึก มันเป็นการต่อสู้กับอำนาจนอกระบบ ที่มีอำนาจ องคาพยพ มีทั้งอาวุธในมือ"
'จิราพร' ย้ำว่า "เรา คือ ประชาชนมือเปล่า ภาคการเมือง ภาคประชาชนไม่ได้มีอำนาจเหล่านั้น ไม่ได้มีอาวุธที่จะไปต่อกร ดังนั้นวิธีการต่อสู้ มันสามารถมีวิธีการได้แตกต่างหลากหลาย แต่ถ้าเป้าหมายเดียวกัน คือทุกคนคือแนวร่วม
"ทุุกคนคือเพื่อนร่วมเดินทาง ฉะนั้น ระหว่างทางเราไม่ควรลดทอนคุณค่าการต่อสู้ของกันและกัน ควรจะจับมือมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายเดียวกันมากกว่า" จิราพร บอกทิ้งท้าย
ภาพ - ณปกรณ์ ชื่นตา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง