ดร.นลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยภายหลังการพบหารือกับนายมอร์คัม มุมบา เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแซมเบียประจำประเทศไทย (ถิ่นพำนัก ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์) เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ว่า การพบปะครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในการกระชับความร่วมมือระหว่างไทยและแซมเบียให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งในมิติด้านการค้าและการลงทุน
ดร.นลินี เปิดเผยว่าไทยและแซมเบียได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันตั้งแต่ปี 2530 โดยที่ผ่านมามีรากฐานที่ดีและความสัมพันธ์แน่นแฟ้น สำหรับในมิติด้านการค้านั้น ตนและท่านทูตแซมเบียเห็นพ้องว่ามูลค่าการค้าและการลงทุนมีศักยภาพที่จะขยายตัวได้อีกมาก เนื่องจาก แซมเบียเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับผู้ประกอบการไทยในการลงทุนและส่งออกสินค้าของไทย ในขณะเดียวกัน แซมเบียก็มีทรัพยากรธรรมชาติ อุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าของไทย นอกจากนี้ ตนยังเล็งเห็นว่า นอกเหนือจากการค้าเครื่องเพชรพลอย และอัญมณีต่าง ๆ ไทยและแซมเบียยังมีโอกาสในการขยายการค้าในส่วนอื่น ๆ โดยเฉพาะ ข้าว อาหาร สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป (อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป) ตลอดจนเครื่องจักรกลการเกษตรและเทคโนโลยีการแปรรูปอาหารที่มีคุณภาพสูง เนื่องจากสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าที่แซมเบียต้องการ และเป็นสินค้าส่งออกที่มีศักยภาพของไทย ไทยจึงสามารถเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารให้กับแซมเบียได้
ผู้แทนการค้าไทย เสริมว่า แซมเบียยังคงมีภาคอุตสาหกรรมที่น่าสนใจและเป็นโอกาสการลงทุนของภาคเอกชนไทย เช่น อุตสาหกรรมเหมืองแร่ เนื่องจากแซมเบียมีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย เช่น ทองแดง โคบอลต์ และสังกะสี ในขณะที่บริษัทของไทยมีประสบการณ์ด้านกระบวนการขุดและเทคโนโลยีการทําเหมืองอย่างยั่งยืน ตลอดจนมิติด้านพลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ โดยภาคเอกชนไทยสามารถช่วยเหลือในการดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่ช่วยตอบสนองความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นของแซมเบีย นอกจากนี้ ตนและท่านทูตยังได้หารือกันในประเด็นด้านการเชิญชวนเข้าร่วมการจัดงานแสดงสินค้าของไทย เช่น งาน THAIFEX Anuga Asia งาน Style Bangkok รวมถึงงาน Bangkok gems and jewelry fair ตลอดจนการให้ความสนับสนุนด้านเทคนิคจากกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) โดยเฉพาะในประเด็นที่แซมเบียสนใจ เช่น การท่องเที่ยว และการเกษตร
ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา (ปี 2562 - 2566) การค้ารวมระหว่างไทยกับแซมเบีย มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 98.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรก ของปี 2567 การค้ารวมของทั้งสองฝ่ายมีมูลค่า 68.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.91 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ ในปี 2566 แซมเบียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 110 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับที่ 20 ในทวีปแอฟริกา