แพทยสภา เรื่อง แถลงการณ์แพทยสภาในสถานการณ์โควิด-19 (ฉบับที่ 1) ตามที่ สถานการณ์การระบาดของติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีการเพิ่มติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แพทยสภา ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 หมวดที่ 1 มาตรา 7 ที่บัญญัติว่า แพทยสภามีวัตถุประสงค์
เพื่อช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ และให้การศึกษาแก่ประชาชนและองค์กรอื่น ๆ ในเรื่องที่เกี่ยวกับการแพทย์และการสาธารณสุข ให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาการแพทย์และการสาธารณสุข และ เป็นตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในประเทศไทย ทั้งนี้แพทยสภา จึงขอประกาศการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ดังนี้
1.แพทยสภาสนับสนุนให้ภาครัฐและเอกชน ดำเนินการจัดหา "วัคซีนโควิด-19" ให้มีใช้อย่างหลากหลาย เพียงพอโดยเร็วที่สุด และเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผลต่อเชื้อกลายพันธุ์ เช่น กลุ่ม "วัคซีน mRNA" โดยให้ครอบคลุมทั้งผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน และเพื่อฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้กับผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว
2.แพทยสภาสนับสนุนให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าได้รับวัคซีนที่เหมาะสม เช่น กลุ่ม "วัคซีน mRNA"
3.แพทยสภาสนับสนุนให้รัฐบาล เอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดโอกาสให้ผู้ที่สงสัยว่าจะติดเชื้อสามารถเข้าถึงการตรวจหาเชื้อ เพื่อยืนยันการวินิจฉัยและเข้าสู่กระบวนการรักษาโดยเร็วที่สุด
4.แพทยสภาสนับสนุนให้เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร สถานที่และทรัพยากรต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น
5.แพทยสภาสนับสนุนการให้ข้อมูลข้อเท็จจริงด้านวิชาการของแต่ละราชวิทยาลัยและวิทยาลัย ซึ่งเป็นองค์กรในกำกับของแพทยสภา ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525
6.แพทยสภาสนับสนุนให้ประชาชนทุกคนได้รับวัคซีนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560 มาตรา 47
7.แพทยสภาสนับสนุนให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนโควิด-19 ไม่ว่าชนิดใดโดยเร็วที่สุดเพราะสามารถลดความรุนแรงของโรคได้
8.แพทยสภาสนับสนุนให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด เช่น งดเว้นกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่ม การเว้นระยะห่าง ล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย รวมถึงการอยู่ภายในที่พักอาศัยเมื่อเกิดสถานการณ์รุนแรงมากขึ้น เพราะสามารถช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้
ด้าน สภาเภสัชกรรม ออกแถลงการณ์เรื่อง วัคซีนโควิด เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาการระบาดและการตายจากโควิดด้วยนโยบายที่ชัดเจน 2 ประเด็นใหญ่ที่สำคัญ
1. ยุทธศาตร์การลดอัตราตาย เพื่อให้ระบบบริการสาธารณสุขรับมือได้ อัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 วันละประมาณ 50-60 คน หรือ เดือนละประมาณ 1,500-1,800 คน ที่เป็นอยู่ปัจจุบัน โดยเฉพาะในเขตที่มีการระบาดรุนแรง เช่น กรุงเทพและปริมณฑล และ ภาคใต้ มีจำนวนผู้ป่วยรอบริการจำนวนมาก หากมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นกว่านี้ในสองสามเดือนข้างหน้า จะเกินขีดความสามารถของระบบบริการที่จะรองรับได้ และมีผลกระทบต่อระบบบริการและบุคลากรสุขภาพอย่างรุนแรง
โดยที่ปัจจุบันอัตราการเสียชีวิต และป่วยหนักจากโควิดเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มี 7 กลุ่มโรคเสี่ยงสูง ในกลุ่มนี้ เมื่อติดเชื้อแล้ว มีความเจ็บป่วยรุนแรงต้องการระบบบริการที่ใช้บุคลากรและทรัพยากรจำนวนมากรองรับ และในกลุ่มนี้มีอัตราตายถึงร้อยละ 10 ในขณะที่กลุ่มอื่นที่เหลือ มีอัตราตายร้อยละ 1 การป้องกันความเจ็บป่วยที่รุนแรงหากติดเชื้อของกลุ่มนี้ โดยเร่งรัดให้ได้รับวัคซีนจึงมีลำดับความสำคัญเร่งด่วนสภาเภสัชกรรม
จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลรีบประกาศนโยบายการกระจายวัคซีนที่มีอยู่ไปยังกลุ่มผู้สูงอายุหรือผู้ที่มี 7 กลุ่มโรคเสี่ยงสูง และต้องเป็นมาตรการเดียวเท่านั้น จนทุกคนในกลุ่มนี้ได้รับวัคซีนหมด ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ขณะนี้กลุ่มนี้ได้รับวัคซีนเพียง 2 ล้านคนต่อประชากรที่มีอยู่ 17.5 ล้านคน) เนื่องจากประเทศไทยมีวัคซีน และระบบบริการสาธารณสุขที่จำกัด
จึงขอให้หยุดใช้หลายยุทธศาตร์ในเวลาเดียวกันทั้งกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มโรงงาน กลุ่มพื้นที่เพื่อเปิดการท่องเที่ยว โดยหวังให้เกิดผลดีทางเศรษฐกิจและการคุ้มกันหมู่ ซึ่งต้องใช้เวลานานจนทำให้อัตรา การตายยังสูงจนระบบบริการสาธารณสุขล่มสลาย
2. ยุทธศาตร์การจัดหาวัคซีน ต้องใช้ทุกมาตรการที่มีอยู่ในการจัดหาโดยเร่งด่วน หนึ่งในมาตรการที่สำคัญที่ประเทศไทยทำได้ถูกต้องตาม พระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ แต่ต้องการความกล้าหาญทางนโยบายในการตัดสินใจของผู้มีอำนาจ เช่นเดียวกับที่ นพ.มงคล ณ สงขลา กล้าหาญที่จะประกาศ CL ยาช่วยชีวิตผู้ติดเชื้อเอดส์
โดยการบังคับใช้ มาตรา 4 ซึ่งเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และตามมาตรา 18 คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติมีอำนาจ ประกาศกำหนดเรื่องหนึ่งเรื่องใด ซึ่งมาตรา 18 (2) ระบุ “สัดส่วนการส่งออกวัคซีนไปนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวซึ่งต้องเหมาะสมกับสัดส่วน การใช้วัคซีนภายในประเทศ”
สภาเภสัชกรรมจึงขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ออกระเบียบการส่งออกของโรงงานผลิตวัคซีน โดยให้แอสตร้าเซนเนก้า สยามไบโอไซส์ ลดสัดส่วนการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ให้เหมาะสมกับสัดส่วน การใช้วัคซีนภายในประเทศ ในการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติในวันที่ 14 กรกฎาคม นี้