ไม่พบผลการค้นหา
เอกสารหลายล้านฉบับที่รั่วไหลและความร่วมมือด้านวารสารศาสตร์ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ได้เปิดเผยความลับทางการเงินของผู้นำโลกทั้งในอดีตและปัจจุบันจำนวน 35 คน นักการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐมากกว่า 330 คน ใน 91 ประเทศ รวมถึงกลุ่มผู้หลบหนี นักต้มตุ๋น และฆาตกรจากทั่วโลก

การสืบสวนในครั้งนี้เป็นความร่วมมือกันของเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนนานาชาติ (The International Consortium of Investigative Journalists: ICIJ) และนักข่าวกว่า 600 คน นำโดยสำนักข่าวอเมริกัน The Washington Post และองค์กรสื่ออื่นๆ กว่า 150 องค์กร ที่ใช้เวลาทั้งหมด 2 ปีในการสืบสวน พบบันทึกทางการเงินเกือบ 12 ล้านไฟล์ ขนาด 3 TB ทั้งอีเมลส่วนตัว สัญญาและรายละเอียดลับระหว่างบริษัทจัดการทรัพย์สินกับลูกค้าที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน เลี่ยงภาษี และการลงทุนถือครองบริษัทนอกอาณาเขต

เอกสารลับเปิดเผยการติดต่อเพื่อลงทุนนอกอาณาเขตของกษัตริย์อับดุลลาที่สองแห่งจอร์แดน ประธานาธิบดีของยูเครน เคนยา และเอกวาดอร์ นายกรัฐมนตรีของสาธารณรัฐเช็ก และอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ โทนี่ แบลร์ ไฟล์ดังกล่าวยังมีรายละเอียดกิจกรรมทางการเงินของ “รัฐมนตรีโฆษณาชวนเชื่ออย่างไม่เป็นทางการ” ของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย และมหาเศรษฐีกว่า 130 คนจากรัสเซีย สหรัฐฯ ตุรกี และประเทศอื่นๆ

ICIJ รายงานว่า บันทึกที่รั่วไหลออกมานี้สะท้อนว่า ผู้เล่นที่มีอำนาจในโลกหลายคนที่สามารถช่วยยุติการซ่อนทรัพย์สินและเลี่ยงภาษีด้วยการลงทุนนอกอาณาเขต กลับทำมันเสียเองด้วยการจ้างบริษัทจัดการทรัพย์สินนอกอาณาเขต ในขณะที่รัฐบาลของบริษัทเหล่านี้ก็แทบไม่ทำอะไรเลยเพื่อชะลอกระแสเงินผิดกฎหมายที่ไหลมาจากทั่วโลก


ส่วนหนึ่งของสิ่งที่ซ่อนอยู่ในเอกสาร:

       อันเดรย์ บาบิช นายกรัฐมนตรีของสาธารณรัฐเช็ก ผู้อ้างว่าต่อต้านการทุจริตของชนชั้นสูงทางเศรษฐกิจและการเมือง มีปราสาทมูลค่า 22 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (740 ล้านบาท) ในเฟรนช์ ริเวียร่า เต็มไปด้วยโรงภาพยนตร์และสระว่ายน้ำ 2 สระ ซื้อผ่านบริษัทลงทุนนอกอาณาเขต

       ทายาทของครอบครัวที่มีอำนาจมากที่สุดของกัวเตมาลา ซ่อนเงินมากกว่า 13 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (437 ล้านบาท) กับบริษัทจัดการทรัพย์สินที่มีอยู่แบบลับๆ ในที่ราบเกรตเพลนส์น (Great Plains) ของประเทศสหรัฐอเมริกา ครอบครัวนี้เป็นราชวงศ์ที่ควบคุมกลุ่มบริษัทผลิตสบู่และลิปสติกที่เคยถูกกล่าวหาว่าทำร้ายคนงานและสิ่งแวดล้อม

      กษัตริย์อับดุลลาที่สองแห่งจอร์แดน มีคฤหาสน์ริมทะเลสามหลังในมาลิบู ซื้อผ่านบริษัทลงทุนนอกอาณาเขต 3 บริษัท ด้วยราคา 68 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (2.3 พันล้านบาท) โดยซื้อในช่วงเวลาหลังจากที่ประชาชนชาวจอร์แดนลงถนนในช่วงอาหรับสปริงเพื่อประท้วงการว่างงานและต่อต้านการทุจริต


แพนดอราใหญ่กว่าปานามา

การสืบสวนของ Pandora Paper มีขนาดใหญ่และเป็นครอบคลุมในระดับโลกมากกว่าการสอบสวนของ Panama Papers ที่เขย่าโลกไปในปี 2559 เอกสารลับปานามาที่หลุดออกมาในครั้งนั้นนำไปสู่การตรวจสอบโดยตำรวจและการเกิดกฎหมายใหม่ในหลายสิบประเทศ รวมทั้งการลาจากตำแหน่งของอดีตนายกรัฐมนตรีไอซ์แลนด์และปากีสถาน

Panama Papers มาจากไฟล์ของผู้ให้บริการการลงทุนนอกอาณาเขตเพียงรายเดียว คือ สำนักงานกฎหมายของปานามา Mossack Fonseca ในขณะที่เอกสารลับใน Pandora Papers มีที่มาจาก 14 บริษัทลงทุนนอกอาณาเขตที่มีสำนักงานใหญ่ทั่วโลก ตั้งแต่แคริบเบียน อ่าวเปอร์เซีย ไปจนถึงทะเลจีนใต้ เอกสารลับแพนดอราที่รั่วไหลครั้งนี้ เปิดโปงให้เห็นว่า ทนายความ และคนกลางซึ่งเป็นหัวใจของธุรกิจลงทุนนอกอาณาเขตมีใครบ้าง

เอกสารลับแพนดอรามีข้อมูลมากกว่าสองเท่าเกี่ยวกับเจ้าของบริษัทลงทุนนอกอาณาเขต โดยรวมแล้ว การรั่วไหลของเอกสารลับนี้ เผยให้เห็นเจ้าของที่แท้จริงของบริษัทนอกอาณาเขตมากกว่า 29,000 แห่ง ที่มาจากกว่า 200 ประเทศและดินแดน โดยมีกลุ่มใหญ่ที่สุดจากรัสเซีย สหราชอาณาจักร อาร์เจนตินา และประเทศจีน


กษัตริย์ “ที่คุณก็รู้ว่าใคร”

“You know who” หรือ “คนที่คุณก็รู้ว่าใคร” เป็นโค้ดเนมที่ผู้ให้บริการลงทุนนอกอาณาเขตใช้เรียกกษัตริย์อับดุลลาที่สองแห่งประเทศจอร์แดน ในเอกสารแพนดอราพบว่า นักบัญชีชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ทำงานร่วมกับทนายความในหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน เพื่อช่วยกษัตริย์อับดุลลาที่สองแอบซื้อบ้านหรู 14 หลัง มูลค่ากว่า 106 ล้านดอลลาร์ในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร รวมทั้งช่วยให้เขาตั้งบริษัทเปล่า (shell company ที่ส่วนใหญ่สร้างขึ้นเพื่อเลี่ยงการจ่ายภาษี) กว่า 36 บริษัทตั้งแต่ปีพ.ศ.2538-2560 (22 ปี)

King Abdullah II Jordan.jpg

กษัตริย์อับดุลลาที่สองแห่งจอร์แดน หนึ่งในผู้ถูกเปิดโปงในเอกสารลับแพนดอรา

ในปี 2560 กษัตริย์อับดุลลาซื้อที่พักมูลค่า 23 ล้านดอลลาร์ใกล้ชายหาดแคลิฟอร์เนีย โดยซื้อผ่านบริษัทในหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน และยังจ่ายเงินเพิ่มเพื่อซื้อบริษัทแห่งหนึ่งในหมู่เกาะบริติชเวอร์จินที่มีเจ้าของเป็นผู้จัดการทรัพย์สินชาวสวิสของพระองค์เอง ผู้จัดการทรัพย์สินมีหน้าที่เป็น “ผู้จัดการนอมินี” ของบริษัท

ในโลกของการลงทุนนอกอาณาเขต กรรมการหรือผู้จัดการนอมินีเป็นบุคคลหรือบริษัทที่ถูกจ้างมาบังหน้าให้กับใครก็ตามที่อยู่เบื้องหลังบริษัทจริงๆ ICIJ รายงานว่า ในแบบฟอร์มใบสมัครที่บริษัท Alcogal บริษัทกฎหมายที่ทำงานให้กับกษัตริย์อับดดุลลา ส่งถึงลูกค้า ระบุว่า ผู้จัดการนอมินีมีหน้าที่ช่วย "รักษาความเป็นส่วนตัว ด้วยการหลีกเลี่ยงการเปิดเผยตัวตนของประธานสูงสุด...ออกสู่สาธารณะ”

ด้านเหล่าทนายความชาวอังกฤษที่ทำงานให้กับกษัตริย์อับดดุลลาที่สองกล่าวว่า กษัตริย์อับดดุลลาไม่จำเป็นต้องเสียภาษีภายใต้กฎหมายของประเทศจอร์แดน และพระองค์ทรงมีเหตุผลที่เกี่ยวกับความมั่นคงและความเป็นส่วนตัวที่จะต้องซื้อทรัพย์สินผ่านบริษัทลงทุนนอกอาณาเขต พวกเขาบอกว่า กษัตริย์อับดุลลาไม่เคยใช้เงินสาธารณะในทางที่ผิด นอกจากนี้ยังระบุว่า บริษัทลงทุนนอกอาณาเขตที่อยู่ในรายงานของ ICIJ ไม่มีความเชื่อมโยงกับกษัตริย์อับดุลลา หรือไม่มีอยู่อีกแล้ว แต่ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลเพิ่มเติม

แอนเนลล์ เชลีน ผู้เชี่ยวชาญด้านอำนาจทางการเมืองในตะวันออกกลางกล่าวกับ ICIJ ว่า ในฐานะผู้ปกครองของประเทศที่ยากจนที่สุดและต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากประเทศอื่นมากที่สุดในตะวันออกกลาง กษัตริย์มีเหตุผลที่จะหลีกเลี่ยงการอวดความมั่งคั่งของเขา

“หากพระมหากษัตริย์จอร์แดนแสดงความมั่งคั่งของพระองค์ในที่สาธารณะมากขึ้น พระองค์จะไม่เพียงแต่ทำให้ประชาชนเป็นปฏิปักษ์ต่อพระองค์เท่านั้น แต่อาจจะทำให้ผู้บริจาคชาวตะวันตกที่มอบเงินให้พระองค์โกรธอีกด้วย”


หมายเหตุ: รายละเอียดเพิ่มเติมอื่นๆ กำลังอยู่ในระหว่างการแปล

ที่มา: https://www.icij.org/investigations/pandora-papers/global-investigation-tax-havens-offshore/

ที่มาภาพปก: HANS LUCAS via Reuters