การรวมตัวนี้มีขึ้นเมื่อวันพุธ 18 มี.ค.ที่ผ่านมาที่สนามกลางแจ้งแห่งหนึ่งในเมืองไรปุระ ทางตอนใต้ของประเทศ ตำรวจท้องถิ่นเผยกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า มีชาวมุสลิมเข้าร่วมประมาณ 10,000 คน เพื่อสวดมนต์ปกป้องประเทศให้ปลอดจากโควิด-19 แต่ผู้อยู่ในเหตุการณ์บางคนบอกว่า จำนวนคนที่เข้าร่วมสวดมนต์อาจมากถึงเกือบ 30,000 คน และการจัดงานครั้งนี้ไม่ได้รับอนุญาตจากทางการ โดยบีบีซีระบุว่างานนี้จัดโดยผู้นำทางศาสนาคนหนึ่งที่ค่อนข้างมีอิทธิพลในเมืองเล็กๆแห่งนี้
กิจกรรมทางศาสนานี้มีขึ้นหลังบังกลาเทศยืนยันพบผู้เสียชีวิตรายแรกจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศตอนนี้อยู่ที่ 17 ราย แม้ผู้เชี่ยวชาญจะตั้งข้อสงสัยต่อตัวเลขของทางการก็ตาม หลังภาพการรวมตัวสวดมนต์ไล่โควิด-19 ถูกแชร์ผ่านโซเชียลมีเดียก็ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์อย่างหนัก หลายคนถึงกับบอกว่า "นี่เป็นเรื่องไม่น่าเชื่อ" โดยรัฐบาลบังกลาเทศได้ประกาศปิดโรงเรียนและแนะนำประชาชนหลีกเลี่ยงการรวมตัวกันเกินกว่า 10 คน เพื่อชะลอการระบาดของไวรัส แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่เพิกเฉยต่อคำเตือน
เหตุการณ์นี้ยังเกิดขึ้นหลังจากก่อนหน้านี้ เพิ่งมีการยืนยันว่างานกิจกรรมทางศาสนางานหนึ่งในมาเลเซียที่มีผู้เข้าร่วมราวๆ 16,000 คน ได้กลายเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อที่ทำให้มีคนติดไวรัสโคโรนาจากงานนี้กว่า 500 ราย จนกลายเป็นจุดเปลี่ยนให้รัฐบาลมาเลเซียประกาศห้ามการรวมตัวในที่สาธารณะ ห้ามชาวมาเลเซียเดินทางไปต่างประเทศและห้ามชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาเลเซีย 2 สัปดาห์ และยังเผยว่าอาจจะขยายมาตรการออกไปอีก 2 สัปดาห์หรือนานกว่านั้นหากสิ่งที่ทำอยู่ไม่สามารถควบคุมการระบาดของไวรัสได้ โดยจนถึงตอนนี้ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในมาเลเซียพุ่งขึ้นเป็น 900 คนแล้ว และในจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 110 ราย มี 63 รายที่เกี่ยวข้องกับงานชุมนุมทางศาสนาที่มัสยิดดังกล่าวในกรุงกัวลาลัมเปอร์
ส่วนในอินโดนีเซียซึ่งล่าสุดพบผู้ติดเชื้อ 309 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 25 ราย ก็ได้ยกเลิกงานชุมนุมทางศาสนาครั้งใหญ่ที่จังหวัดสุลาเวสีใต้ที่ตามกำหนดจะต้องมีขึ้นระหว่างวันที่ 19-22 มี.ค.เนื่องจากหวั่นว่างานนี้อาจซ้ำรอยมาเลเซีย นำไปสู่การติดเชื้อของคนจำนวนมากได้
อ้างอิง BBC/Independent/CNA