ไม่พบผลการค้นหา
ศาลแพ่งนัดฟังคำสั่ง เพิกถอนหมายเรียก 'ณัฐพล ใจจริง' 30 พฤศจิกายน คืบหน้า!! คดีหลานกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ฟ้อง 'ฟ้าเดียวกัน' พิมพ์งานละเมิดไขข่าวฝ่าฝืนความจริง แต่โจทก์ถอนคุ้มครอง เหตุ! หนังสือเผยแพร่ไปทั่วแล้ว ทำให้ไม่ต้องกลายเป็น 'หนังสือต้องห้าม'

ศาลแพ่ง ไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว คดีที่ 'หม่อมราชวงศ์ ปรียนันทนา รังสิต' ในฐานะหลานกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ยื่นคำร้องให้ดำเนินคดีกับ ผศ. ณัฐพล ใจจริง คณะมนุษยศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ผู้แต่งหนังสือ 'ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ' และหนังสือ 'ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี' กับพวกรวม 6 คน ฐาน "ละเมิดไขข่าวด้วยข้อความฝ่าฝืนความจริง" เรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท ,ให้โฆษณาขอโทษต่อโจทก์ และการคุ้มครองชั่วคราว คือ เก็บทำลายและระงับการเผยแพร่วิทยานิพนธ์กับหนังสือทั้ง 2 เล่มดังกล่าว

ซึ่งวันนี้ ม.ร.ว.ปรียนันทนา ได้ยื่นขอถอนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว เพราะหนังสือมีการพิมพ์และจำหน่ายโดยทั่วไปแล้ว โดยคดีนี้เลื่อนการไต่สวนมาตั้งแต่ต้นปีหลายครั้ง เนื่องจากสถานการณ์ covid-19 ก่อนที่ศาลจะนั่งบัลลังก์วันนี้ การพิจารณาวันนี้ ศาลได้ไต่สวนคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบการส่งหมายเรียกผู้ และสำเนาคำฟ้อง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณัฐพล จำเลยที่ 1 ก่อนนัดฟังคำสั่งในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ เวลา 09:30 น.     

ส่วนการพิจารณาว่า ม.ร.ว.ปรียนันทนา ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานกรมพระยาชัยนาทนเรนทร มีสิทธิ์ฟ้องร้องหรือไม่ จะสั่งในคำพิพากษา สำหรับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของจำเลยที่ 1 และ 2 เจ้าของลิขสิทธิ์วิทยานิพนธ์นั้น ศาลเห็นว่า ไม่มีความเกี่ยวข้องกับคดี จึงไม่ต้องตกเป็นจำเลยร่วม 

สำหรับจำเลยที่ 2 - 5 ในคดีนี้ประกอบด้วย กุลลดา เกษบุญชู มี้ด อดีตอาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำเลยที่ 2, ชัยธวัช ตุลาธน ในฐานะบรรณาธิการหนังสือ ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่ จำเลยที่ 3, อัญชลี มณีโรจน์ หุ้นส่วนสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน จำเลยที่ 4, ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน จำเลยที่ 5 

ขณะที่วันนี้สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ได้เผยแพร่ความคืบหน้าของคดีดังกล่าว และได้ระบุถึงหนังสือทั้งสองเล่มไม่ต้องกลายเป็น 'หนังสือต้องห้าม' 


สถาบันศึกษาและเสรีภาพ

และก่อนนี้ได้เผยแพร่แถลงการณ์ 'กุลลดา' จำเลยที่ 2 ระบุถึงความเสียใจที่ต้องตกเป็นจำเลยในคดีนี้ พร้อมปฏิเสธว่าไม่มีส่วนกับการทำหนังสือดังกล่าวที่มาจากวิทยานิพนธ์ ตนเกี่ยวข้องในฐานะเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์เท่านั้น พร้อมยืนยันหลักการของเสรีภาพทางวิชาการ และหลักการเป็นสากลว่า 

ผลผลิตของวิทยานิพนธ์ย่อมเป็นความรับผิดชอบของผู้ทำวิทยานิพนธ์นั้น และคณะกรรมการผู้ทรงวุฒิได้ใช้เวลาตรวจสอบวิทยานิพนธ์แล้ว และมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า วิทยานิพนธ์สอบผ่าน และวิทยานิพนธ์ดีมาก ซึ่งเป็นงานวิชาการที่เปิดให้มีการโต้เถียงได้โดยเสรี

พร้อมกันนี้ย้ำถึงความเสียใจด้วยว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่ได้ยอมรับหรือกระทำตามหลักการที่มีความเป็นสากลดังกล่าว และไม่ได้ดำเนินการปกป้องตนในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาซึ่งทำหน้าที่ตามคำสั่งของมหาวิทยาลัยอย่างที่ควร  แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกลับแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตน