ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่ม CARE ชี้ อัตราการตายต่ำ ระบบบริการแพทย์และ สธ.พร้อม แนะตั้งกองทุนรัฐฟื้นฟูและพัฒนาธุรกิจ พร้อมเดินหน้าเปิดประเทศอย่างรอบคอบ ผุดไอเดีย 2 ประเทศ 1 ระบบคัดกรอง

กลุ่มแคร์ คิด เคลื่อน ไทย (CARE) เสนอแนวทางรับมือวิกฤติเศรษฐกิจต่อรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้อง โดยระบุถึงเวลาเลิกปลุกความกลัว เร่งสร้างความมั่นใจ สู้ภัยโควิด การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 กระทบต่อธุรกิจเป็นวงกว้าง เห็นได้จากมาตรการพักชำระหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีผู้ประกอบการกว่า 12 ล้านบัญชี มูลหนี้กว่า 7.2 ล้านล้านบาท ได้เข้าร่วม แต่มาตรการดังกล่าวกำลังจะหมดลง ผู้ประกอบการจำนวนมากยังขาดสภาพคล่อง ไร้ศักยภาพในการชำระหนี้ ซึ่งอาจจะสร้างผลกระทบต่อสถาบันการเงินในวงกว้าง


เสนอตั้งกองทุนช่วยธุรกิจ

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเศรษฐกิจ สมาชิกเริ่มต้นกลุ่มแคร์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ในปัจจุบันจะทำให้ประมาณร้อยละ 30 ของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีอยู่เกือบ 1 ล้าน 2 แสนรายทั่วประเทศ ไม่สามารถชำระหนี้ได้ และส่งผลกระทบต่อภาคธนาคารรวมกันกว่า 7 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ภาวะเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง สถาบันการเงินไม่มีความมั่นใจในการปล่อยกู้ จึงเป็นตัวเร่งให้เกิดการยึดทรัพย์จากลูกหนี้ไปเก็บรวบรวมไว้ที่สถาบันการเงินยิ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหดหายลงไปอีก

ดร.ศุภวุฒิ เสนอให้ภาครัฐ "...จัดตั้งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม..." มูลค่า 2 ล้านล้านบาท คล้ายกับการจัดตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินในยุควิกฤติต้มยำกุ้ง ที่ครั้งนั้นใช้สำหรับการดูแลภาคธนาคาร

บทบาทของกองทุนนี้คือการให้รัฐเข้าไปถือหุ้นในธุรกิจที่ต้องการได้รับการช่วยเหลือไม่เกิน 7 ปีในสัดส่วนร้อยละ 50 แต่วางตัวเองเป็น Passive Investor หรือนักลงทุนที่รอรับผลตอบแทนไม่ยุ่งกับการบริหาร ขณะเดียวกัน เจ้าของธุรกิจเดิมเพิ่มเงินเข้าไปอีกร้อยละ 20 เพื่อสร้างความมั่นใจให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้อีกร้อยละ 30

ธุรกิจที่ขอรับความช่วยเหลือ ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องปรับกระบวนการประกอบกิจการ และการทำบัญชีให้เข้มงวดรัดกุม เข้ามาอยู่ระบบภาษีที่ถูกต้อง ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจแล้ว ยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้รัฐสามารถเก็บภาษีจากธุรกิจที่เข้าไปฟื้นฟูได้ในอนาคต ขณะเดียวกันธุรกิจยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้เพราะการขับเคลื่อนจากตัวผู้ประกอบการที่เข้าใจในธุรกิจที่ทำอยู่ ผนวกกับเงินทุนใหม่ที่รัฐและสถาบันการเงินอัดฉีดเข้าไปให้ สามารถคงการจ้างงานประกอบกับก่อให้เกิดการจ้างงานใหม่ได้


ผุดไอเดีย 2 ประเทศ 1 ระบบคัดกรอง

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกฯ กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาในปัจจุบันไม่น่ากังวล อีกทั้งมีผลวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าเชื้อไวรัสเริ่มอ่อนแอลง อัตราการเสียชีวิตจากไวรัสลดลงมากเมื่อเทียบกับช่วงระบาดใหม่ๆ จนเกือบจะใกล้เคียงกับอัตราการเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ ประกอบกับการรู้จักวิธีรับมือกับโรค โดยในไม่ช้าโรคนี้อาจกลายเป็นโรคประจำถิ่น จึงไม่จำเป็นต้องรอจนมีวัคซีนถึงจะเปิดประเทศได้ เพราะยิ่งปิดประเทศนานเท่าไหร่ยิ่งทำลายเศรษฐกิจของประเทศ

ที่ผ่านมารัฐบาลสร้างความกลัวให้กับประชาชนมากเกินไปและยึดติดกับตัวเลขการติดเชื้อที่เป็นศูนย์ ทั้งๆ ที่โรคนี้อยู่รอบตัวเราแต่ไม่แสดงอาการ ดังจะเห็นได้จากกรณี ดีเจ หรือคนที่เดินทางไปตรวจพบเชื้อที่ญี่ปุ่น ดังนั้นรัฐบาล "...ต้องยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน..." เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับทุกภาคส่วน เพราะความสำเร็จในการควบคุมโรคไม่ได้มาจากการกฎหมาย แต่มาจากการทำงานเชิงรุกของกระทรวงสาธารณสุขและ อสม.

รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการท่องเที่ยว โดย นพ.สุรพงษ์ ได้เสนอแนวคิด “...สองประเทศ หนึ่งระบบตรวจคัดกรองการติดเชื้อของผู้เดินทาง...” โดยเริ่มกับประเทศจีนก่อน ด้วยการเจรจาการวางระบบมาตรฐานการตรวจคัดกรองโรคที่ยอมรับกันทั้งสองฝ่าย เพื่อให้เกิดการเดินทางไปมาหาสู่กันได้ โดยให้มีการตรวจหาเชื้อภายใน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง

เมื่อถึงจุดหมายปลายทาง เช่น ภูเก็ต ให้อยู่ในสถานที่ที่จัดไว้เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว มีการให้ใส่อุปกรณ์ติดตามตัว จัดตารางการท่องเที่ยวสถานที่ต่างๆ ให้เหลื่อมเวลากับคนในประเทศ และเพื่อเป็นการช่วยเหลือชุมชน อาจให้ที่พักเหล่านั้นปรุงอาหารโดยใช้วัตถุดิบท้องถิ่น โดยก่อนกลับมีการตรวจโรคอีกครั้ง เพื่อทำให้เมื่อกลับไปถึงประเทศต้นทางแล้วไม่จำเป็นต้องกักตัว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศฟื้นขึ้นมาได้

https://scontent.fbkk12-3.fna.fbcdn.net/v/t1.0-9/p960x960/119100374_169917648093267_2931393972080894696_o.jpg?_nc_cat=102&_nc_sid=8024bb&_nc_ohc=39VVuSrWDQEAX-2F2dc&_nc_ht=scontent.fbkk12-3.fna&tp=6&oh=d6072b3d77e5fb9186dfe165d5e1044f&oe=5F8255E8