เพลงหนักแผ่นดิน มีท่อนสร้อยที่ต้องทำเสียงร้องแบบใส่อารมณ์ฮึกเหิมๆ ว่า “หนักแผ่นดิน หนักแผ่นดิน คนเช่นนี้เป็นคนหนักแผ่นดิน” จริงๆ ในเนื้อเพลงเขาก็เขียนไว้แล้วแหละว่าคนแบบไหนที่หนักแผ่นดิน แต่เอาเข้าจริงแล้วความหมายในเพลงที่ว่านั่นเป็นแบบนั้นมาตั้งแต่โบร่ำโบราณหรือเปล่านะ?
ถ้ายึดเอาตามเพลงนี้ ความหมายของค่า “หนักแผ่นดิน” ก็คล้ายๆ กับที่ราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ ว่า “ไม่รู้คุณของแผ่นดินที่อาศัย, ทรยศต่อบ้านเมืองของตน, เสนียดสังคม” แต่ถ้าย้อนกลับไปสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ คำๆ นี้กลับมีความต่างออกไป
ในบทละครรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ทรงใช้คำว่า “หนักแผ่นดิน” อธิบายอารมณ์ตอนพระรามรำพึงรำพันเสียใจ รู้สึกผิดเพราะตัวเองส่งพระลักษณ์ไปทำศึกจนต้องหอกโมกขศักดิ์เกือบตาย แถมยังต้องอับอายอดสูที่เพลี่ยงพล้ำให้กับยักษ์
อกเอ๋ยเป็นน่าอดสู แก่หมู่ไตรโลกทุกทิศา
จะล่วงประมาทหมิ่นนินทา ว่าแพ้อสุราอาธรรม์
อยู่ไยให้หนักแผ่นดิน จะสู้สิ้นชนมาอาสัญ
รํ่าพลางโศกาจาบัลย์ ทรงธรรม์กอดน้องสลบไป ฯ
บริบทนี้ "หนักแผ่นดิน" ให้อารมณ์ประมาณว่า "ไม่มีหน้าจะอยู่" หรือ “อยู่ไปก็ไม่มีประโยชน์” ตายไปซะดีกว่า ซึ่งความหมายแบบเดียวกันนี้ยังพบในเอกสารอื่นๆ เช่น ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เล่าถึงตอน “องเชียงสือ” เจ้าเวียดนามที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร แต่ก็แอบขึ้นเรือหนีออกจากพระนครจนถูกเรือสยามไล่จับ
“...องเชียงสือว่าถ้าหนีไม่พ้น ไทยจับไปได้ครั้งนื้คงจะฆ่าเสีย ถ้าไม่ฆ่าคงจะจำตายในคุก เราเป็นคนไม่มีวาสนาแล้วจะอยู่ไปใยให้หนักแผ่นดิน ว่าแล้วก็ชักดาบออกจะเชือดคอตายเสีย...”
ดูเหมือนว่า ก่อนจะมีการแต่งเพลงหนักแผ่นดิน ในปี 2518 และถูกนำมาใช้ต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ช่วงปี 2518-2523 ความหมายของคำว่า “หนักแผ่นดิน” จะมีความหลากหลายแฟนตาซีมากๆ ไม่ได้เป็นแง่ทรยศชาติบ้านเมืองอย่างเดียว
เช่น ในหนังสือ “ศรีทะนนไชย สำนวนกาพย์” (ต้นฉบับพิมพ์จากโรงพิมพ์หมอสมิทธ์ สันนิษฐานว่าจัดพิมพ์ตั้งแต่สมัย ร.4) พ่อแม่ใช้คำว่า “หนักแผ่นดิน” ด่าศรีธนญชัย เพราะควักไส้ควักพุงน้องชาย จากนั้นหนีไปบวชเณรอยู่วัดก็ไปทำบัดสีกับนางชีอีก เป็น “คนชั่ว” ที่ไม่อยากนับญาติ
“...อ้ายลูกกาลี กูนี้มิได้ปรารถนา ลูกเต้าผ่าเหล่าพาลา เสียวงศ์พงศา เกิดมาให้หนักแผ่นดิน อยู่ไยไปเสียจากถิ่น อ้ายลูกใจทมิฬ พี่น้องเขามีมากมูล ทั้งเหล่าเผ่าพงศ์ประยูร เขาไม่อนุกูล เสื่อมสูญเพราะอ้ายทรชน...”
ขณะที่ในเอกสาร “วชริญาณวิเศษ” วันที่ 8 ธันวาคม รศ.111 (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5) มีการใช้คำว่า “หนักแผ่นดิน” ด่าคนขี้เกียจ ประโยคเต็มเขียนไว้ว่า
"ขี้เกียจหลังยาวแล้วมันไม่รวยละ ไปกินเข้า (ข้าว) วัดเถิดไป …คนเช่นนี้เกิดมาหนักแผ่นดิน"
ดูเหมือนความหมายของคำว่า “หนักแผ่นดิน” จากเอกสารต่างๆ ข้างต้น จะเป็นคนละแบบอย่างสิ้นเชิงกับ “ไม่รู้คุณของแผ่นดินที่อาศัย, ทรยศต่อบ้านเมืองของตน, เสนียดสังคม” แต่ก็มีที่พอใกล้เคียงอยู่บ้าง เช่น ในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน เล่าตอนพระพันวษาขอให้ข้าราชการอาสาไปตีเชียงใหม่ แต่ไม่มีใครขานรับสักคน ถึงตรงนี้พระพันวษาด่าพวกขุนนางอย่างเจ็บว่า
ดีแต่ฉ้อไพร่ไพล่เงินกิน ปลอกปลิ้นสิ้นลมประสมประสาน
เลี้ยงเสียเบี้ยหวัดไม่ต้องการ มีศฤงคารยศศักดิหนักแผ่นดิน
ถ้าพวก “ฉ้อไพร่” เท่ากับ “ไม่รู้คุณของแผ่นดินที่อาศัย, ทรยศต่อบ้านเมืองของตน, เสนียดสังคม” ในบริบทนี้ชัดเจนว่า พวก “ฉ้อไพร่” หนักแผ่นดิน....