ไม่พบผลการค้นหา
ภาพยนตร์สายลับในดวงใจของคนหลายรุ่นอย่าง 007 ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันเรื่องการเหยียดเพศมากขึ้น หลังกระแส #MeToo ปะทุขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ทำให้เกิดคำถามว่า ตัวละคร ‘เจมส์ บอนด์’ จะปรับตัวให้อยู่รอดในยุคที่คนหันมาพูดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้นได้อย่างไร

สำนักข่าว บีบีซี ได้ตั้งคำถามว่า แดเนียล เครก จะทำภารกิจการทำให้ตัวละคร ‘เจมส์ บอนด์’ ทันสมัยขึ้นได้สำเร็จหรือไม่ หลังต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เพิ่งมีการประกาศว่า ภาพยนตร์ 007 ภาคใหม่จะใช้ขื่อว่า No Time To Die โดยจะมีแดเนียล เคร็กกลับมาแสดงเป็นเจมส์ บอนด์เป็นครั้งที่ 5 

ก่อนหน้านี้ เครกเคยสัญญาว่า ภาพยนตร์ 007 จะปรับเปลี่ยนให้เข้ากับทัศนคติของคนในศตวรรษ 21 มากขึ้น โดยยอมรับว่าที่ผ่านมา ตัวละครเจมส์ บอนด์มี “จุดบกพร่อง” แต่บอนด์ก็ปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลาเสมอ เพราะคนทำหนังและทำงานสร้างสรรค์จะต้องมองเห็นว่ามีอะไรเกิดขึ้นบนโลกนี้

หนึ่งในประเด็นที่ 007 ถูกวิจารณ์มากที่สุด ก็คือ ความสัมพันธ์ของบอนด์กับตัวละครผู้หญิง ที่ผ่านมา 007 มักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เจมส์ บอนด์เป็นตัวอย่างผู้ชายมาโช ขึ้นชื่อเรื่องการปกป้องโลกและการมีอำนาจเหนือผู้หญิง และภาพยนตร์ 007 มักนำเสนอภาพผู้หญิงออกมาเป็นวัตถุทางเพศ แม้แต่จูดี เดนช์ นักแสดงที่เป็น M ยังเคยวิจารณ์ว่า เจมส์ บอนด์ ใน Golden Eye ที่แสดงโดยเพียร์ซ บรอสแนน เป็น “ไดโนเสาร์เหยียดเพศ เหยียดผู้หญิง”

อย่างไรก็ตาม บาร์บารา บ็อคโคลี ผู้สร้าง 007 กล่าวว่า ทัศนคติในสังคมกำลังเปลี่ยนไปแล้ว ภาคใหม่ก็ต้องสะท้อนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกระแส #MeToo ที่คนในวงการบันเทิงออกมาต่อต้านการคุกคามทางเพศ และพูดถึงความเท่าเทียมทางเพศกันมากขึ้น

 

ผู้หญิงของบอนด์ไม่เคยเปลี่ยนไป

ฟิโอนา สเตอร์จิส นักเขียนด้านวัฒนธรรมมองว่า แม้จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของบอนด์กับผู้หญิงในเรื่องอยู่บ้างในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่พื้นฐานความคิดของ 007 ก็ยังไม่เคยถูกท้าทายอย่างจริงจังสักครั้ง ผู้หญิงเหล่านี้ถูกลดสถานะเป็นได้เพียงเครื่องเคียง ไม่ได้เป็นอาหารจานหลักที่เข้มข้นและน่าสนใจ

ดร.เอียน คิเนน บรรณาธิการนิตยสารนานาชาติด้านเจมส์ บอนด์ศึกษาระบุว่า เป็นเรื่องน่าหงุดหงิดมากที่เห็นนักแสดงนำหญิงยืนยันว่า ตัวละครของเธอเท่าเทียมกับบอนด์หรือเป็นผู้หญิงแบบใหม่ ทั้งที่ในความจริงแล้วไม่เคยเป็นเช่นนั้น

คิเนน ยกตัวอย่างตัวละครเวสเปอร์ ลินด์ใน Casino Royale แสดงโดยเอวา กรีน ซึ่งถูกนำเสนอออกมาว่ามีความเท่าเทียมกับบอนด์ แต่เวสเปอร์ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้มีชีวิตต่อไป เช่นเดียวกับเทรซี ภรรยาอายุสั้นของบอนด์ในเ On Her Majesty’s Sevret Service ซึ่งความตายไม่ใช่การทำให้ผู้หญิงเข้มแข็งขึ้น มันคือการลงโทษหรือเป็นแค่วิธีง่ายๆ ในการปลดปล่อยบอนด์ให้ไปตามล่าผู้หญิงคนอื่นต่อไป

แม้จะมีคนเห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวละครมันนีเพนนีใน Skyfall ปี 2012 ที่ให้มันมีเพนนี ซึ่งแสดงโดยนาโอมิ แฮร์ริสออกไปลงพื้นที่ แต่เธอก็ถูกลดลงมาทำงานที่โต๊ะเหมือนเดิม หลังจากยิงไปโดนบอนด์โดยไม่ตั้งใจ แล้วเธอก็ขอโทษบอนด์โดยกล่าวว่า “อย่างที่คุณบอก ไม่ใช่ทุกคนที่จะไปลงพื้นที่ได้”

สเตอร์จิส กล่าวว่า ตัวละครอย่างลินด์และมันนีเพนนีแสดงให้เห็นชัดเจนว่าถูกเขียนขึ้นมาเพื่อหยุดเสียงวิจารณ์ว่าหนังมีทัศนคติเหยียดผู้หญิง แต่คนดูไม่ได้โง่ แม้จะไม่มีเหตุผลอะไรที่ตัวละครจะต้องมีความเชื่อมโยงกับคนดู แต่ตัวละครยังต้องดูเชื่อถือได้ ซึ่งผู้เขียนบทหนังยังทำไม่ได้

 

ดึงวอลเลอร์-บริดจ์ร่วมทีมเขียนบท

หนึ่งในความพยายามที่จะทำให้ 007 ตอบโจทย์เรื่องการเคารพผู้หญิงมากขึ้นก็คือการดึงฟีบี วอลเลอร์-บริดจ์ นักแสดง ผู้เขียนบท และผู้สร้างซีรีส์ชื่อดังอย่าง Fleabag และ Killing Eve ซึ่งมีตัวละครหญิงเด่นและแข็งแกร่ง เข้ามาร่วมทีมเขียนบทของ 007 ทำให้วอลเลอร์-บริดจ์ถือเป็นนักเขียนบทผู้หญิงคนที่ 2 เท่านั้นในประวัติศาสตร์หนังแฟรนไชส์ 007 

วอลเลอร์-บริดจ์บอกว่า เธอตั้งใจจะทำให้ “ผู้หญิงของบอนด์” ดูเหมือนคนจริงๆ มากขึ้น สิ่งสำคัญก็คือ ภาพยนตร์จะต้องปฏิบัติกับผู้หญิงอย่างเหมาะสม บอนด์อาจจะไม่ต้องทำเช่นนั้น เขาจะต้องเป็นไปตามคาแรกเตอร์ของเขา แต่แคทเธอรีน เบรย์ ผู้สื่อข่าวก็คัดค้านว่า แน่นอนว่าบอนด์เป็นผู้ชาย เขาจะต้องเด่นที่สุดเพราะนี่เป็นแฟรนไชส์ของเขา แต่ก็ยังสามารถจะหลีกเลี่ยงการเหยียดเพศได้อยู่ดี ทั้งในระดับบทสนทนาหรือการนำเสนอภาพที่ทำให้เป็นวัตถุทางเพศ แต่การที่ตัวละครอื่นต้องหมุนรอบบอนด์ ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงโดยไม่เปลี่ยนลักษณะนิสัยของบอนด์

อย่างไรก็ตาม ช่วงหลังมานี้ บอนด์ก็เปลี่ยนไปจากเดิมหลายอย่าง เช่น หลังจากที่เวสเปอร์ ลินด์ตายใน Casino Royale บอนด์เกือบจะแสดงอารมณ์ตัวเองออกมา ซึ่งเปลี่ยนไปจากเดิมที่บอนด์มักจะเก็บอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง ฉากนั้นจึงทำให้บอนด์ดูเป็นมนุษย์ที่ทำผิดพลาดได้ หรือการแสดงความอ่อนไหวใน Skyfall ที่ได้เห็นว่าบอนด์เป็นเด็กกำพร้า และบอนด์ไม่สามารถช่วยชีวิต M ที่เป็นเหมือนแม่ของเขาได้ ซึ่งเป็นการปรับนิยามความเป็นชายให้เข้ากับศตวรรษที่ 21 

 

สมบัติของชาติที่ก็มีข้อบกพร่อง

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา บอนด์ของแดเนียล เครก ก็เริ่มหันมาต่อต้านอุปกรณ์สอดแนมของรัฐและตั้งคำถามกับความจงรักภักดีอย่างไม่ลืมหูลืมตาของตัวเองในอดีต หันมาแสวงหาเสรีภาพส่วนตัวและตั้งคำถามกับตัวตนของตัวเอง

คีเนน กล่าวว่า บอนด์เป็นสมบัติของชาติอังกฤษมายาวนาน แต่ไม่ได้หมายความว่าบอนด์จะไม่มีข้อบกพร่องอะไร เราจะต้องมาพิจารณาไอคอนทางวัฒนธรรมป๊อปตัวนี้ใหม่ และต้นหาว่ามันเป็นตัวแทนของอะไรในทางการเมือง เพราะที่ผ่านมา บอนด์ถูกยกให้เป็นผู้ชายในอุดมคติ แม้เขาจะเหยียดเพศ ดื่มหนัก มีแนวคิดแบบอาณานิคม แฟนหนังอาจจะไม่ยอมรับ แต่นี่ก็เป็นเหตุผลที่เราจะต้องคุยเรื่องนี้กันต่อไป