อาเดิร์นให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในวันนี้ (21 พ.ย.) ว่า โดยส่วนตัวนั้น เธอสนับสนุนให้เปลี่ยนเกณฑ์อายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็น 16 ปีบริบูรณ์ อย่างไรก็ดี เธอจะเสนอกระทู้คำถามเข้าไปยังรัฐสภา “มันเป็นมุมมองของเราว่า นี่เป็นปัญหาที่ดีที่สุดที่รัฐสภาควรให้ทุกคนได้อภิปรายกัน” อาเดิร์นกล่าว
คำแถลงของนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ เกิดขึ้นหลังจากมีคำตัดสินของศาลฎีกาในวันนี้ ซึ่งถือเป็นบทสรุปของคดีที่กินเวลามานานกว่า 2 ปีที่ โดยกลุ่มนักกิจกรรมรุ่นเยาว์ ‘Make It 16’ พยายามโต้แย้งว่า คนหนุ่มสาวควรที่จะสามารถลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกตัวแทนของตน ในประเด็นทางสังคมต่างๆ อาทิ วิกฤตสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อพวกตนและอนาคตของพวกตนอย่างไม่เป็นสัดส่วนกับสิ่งที่คนรุ่นก่อนหน้าได้ทำเอาไว้
อย่างไรก็ดี การพิจารณาคดีในครั้งนี้ไม่ได้รับประกันโดยอัตโนมัติว่า นิวซีแลนด์จะมีการขยายอายุสิทธิ์ในการออกเสียงลงคะแนน ซึ่งกระบวนการทั้งหมดจะต้องกระทำผ่านทางรัฐสภาเท่านั้น แต่โดยคำตัดสินของศาลจะส่งผลให้ในขณะนี้ รัฐสภานิวซีแลนด์กำลังละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อายุน้อยกว่า 18 ปีแต่ไม่เกิน 16 ปี และคำตัดสินจะบังคับให้สมาชิกรัฐสภานิวซีแลนด์เร่งพิจารณาการเปลี่ยนแปลงกฎหมายในทันที
“นี่คือประวัติศาสตร์” เคเดน ทิปเลอร์ ผู้อำนวยการร่วมของแคมเปญ Make It 16 กล่าว “รัฐบาลและรัฐสภาไม่สามารถเพิกเฉยต่อสัญาณทางกฎหมายและศีลธรรมที่ชัดเจนเช่นนี้ได้ พวกเขาต้องให้เราลงคะแนน”
อย่างไรก็ดี การออกกฎหมายฉบับดังกล่าวจะยังมีหนทางที่ยากเข็ญในอนาคต เพราะการเปลี่ยนแปลงกฎหมายการเลือกตั้งในนิวซีแลนด์ จะต้องอาศัยเสียงจากรัฐสภาสนับสนุน 3 ใน 4 ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงจะต้องได้รับการสนับสนุนจากทั้งพรรคแรงงานซึ่งเป็นพรรครัฐบาลนิวซีแลนด์ และพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคเนชันแนล ทั้งนี้ พรรคเนชันแนลซึ่งมีแนวคิดขวากลางกล่าวว่า “อีกหลายประเทศมีเกณฑ์อายุผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงได้ที่ 18 ปี และพรรคเนชันแนลไม่เห็นกรณีใดที่จะลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงได้”
การรณรงค์ Make It 16 เกิดขึ้นหลังจากการประท้วงของคนหนุ่มสาวในระดับโรงเรียนมัธยมทั่วทั้งนิวซีแลนด์หลายหมื่นคน ในประเด็นเรียกร้องปัญหาสภาพอากาศ ซึ่งส่งผลให้คนรุ่นใหม่ของนิวซีแลนดเ์เรียกร้องสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เพื่อให้เสียงของพวกตนถูกสะท้อนเข้าไปยังรัฐสภาของนิวซีแลนด์ ทั้งนี้ มีหลายประเทศที่ผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี แต่ไม่เกิน 16 ปี สามารถออกคะแนนเสียงได้ เช่น บราซิล คิวบา ออสเตรีย และมอลตา ในขณะที่ชาวสก็อตแลนด์อายุ 16-17 ปี สามารถเลือกตัวแทนในรัฐสภาสก็อตแลนด์ได้ แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งตัวแทนในรัฐสภาสหราชอาณาจักร
พระราชบัญญัติสิทธิมนุษยชนแห่งนิวซีแลนด์กำหนดให้การมีอายุ 16 ปี เป็นจุดที่การกระทำต่างๆ ต่อบุคคลในช่วงอายุนั้นๆ อาจเข้าข่ายการเป็นการเลือกปฏิบัติ ดังนั้น ศาลจึงตั้งข้อสังเกตว่าคำตัดสินดังกล่าวจะบังคับใช้กับผู้ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปเท่านั้น และไม่สามารถตีความได้ว่าหมายถึงคนทุกช่วงวัย รวมทั้งทารก ที่ควรมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน
นิวซีแลนด์เพิ่งปรับปรุงกฎหมายเพื่อเสริมสร้างการตอบสนองต่อคำตัดสินของศาลในลักษณะดังกล่าว โดยภายใต้กฎหมายใหม่ อัยการสูงสุดต้องแจ้งเรื่องให้สภาผู้แทนราษฎรนิวซีแลนด์ทราบอย่างเป็นทางการว่า กฎหมายที่ออกโดยรัฐสภาไม่สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิของประเทศ โดยความขัดกันทางกฎหมายจะต้องได้รับการพิจารณาโดยสมาชิกรัฐสภา และรัฐมนตรีที่รับผิดชอบจะต้องตอบสนองต่อคำตัดสินของศาล
ที่มา: