ไม่พบผลการค้นหา
EIC ปรับประมาณการจีดีพีลงอีก มองติดลบ 7.8% ชี้ หนี้ครัวเรือนขยับเข้า 88% ต่อจีดีพี ขณะที่สาธารณะเริ่มชิดเพดานแล้ว ย้ำรัฐกู้เงินเพิ่มได้ถ้าจำเป็น แต่ต้องโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ

ตามข้อมูลจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ (อีไอซี) ตัวเลขที่สะท้อนว่าเศรษฐกิจประเทศผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในไตรมาส 2/2563 ด้วยจีดีพีที่ติดลบถึง 12.2% ไม่ใช่เรื่้องที่น่าโล่งใจมากนัก เมื่อมองไปยังอนาคตที่การฟื้นตัวเป็นไปได้แบบเชื่องช้า ประกอบกับความเสี่ยงที่ยังมีอยู่มาก 

วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 ครั้งนี้ แปลกแยกชัดเจนกับเหตุกาณ์ต่างๆ ที่ไทยเคยเผชิญมา โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ประเด็นหลักๆ ตามคำชี้แจงของ ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการทั่วไป ผู้บริการสูงสุดอีไอซี มาจากโรคระบาดที่เกิดขึ้นเข้าไปทำร้ายเศรษฐกิจจริงอย่างรุนแรง ขณะที่ครั้งก่อนๆ สาเหตุมันเกิดมาจากภาคการเงิน

ยรรยง ไทยเจริญ-นักเศรษฐศาสตร์-ไทยพาณิชย์
  • ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการทั่วไป ผู้บริการสูงสุดอีไอซี

'สามเหลี่ยมทองคำ' ไม่ใช่เรื่องดี

ยรรยง แจกแจงภาคส่วนที่เกี่ยวพันธ์กันอย่างแยกไม่ได้ต่อเศรษฐกิจประเทศออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1.เศรษฐกิจจริง 2.ภาคการเงิน และ 3.รัฐบาล จากวิกฤตที่เกิดขึ้น เศรษฐกิจจริงได้รับผลกระทบก่อนเพื่อนจากมาตรการปิดเมืองเพื่อต่อสู้กับโรคระบาด 

นโยบายดังกล่าวเป็นการตัดตอนกิจกรรมทางเศรษฐกิจลงอย่างรวดเร็วจนประชาชนไทยที่มีความเปราะบางทางการเงินรวมถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กหรือเอสเอ็มอีที่สายป่านสั้นได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน เป็นชนวนเหตุให้เกิดการปลดคนงานจำนวนมาก โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวที่ไม่มีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามา 

ลูกจ้างรับรู้ผลกระทบดังกล่าวและสะท้อนออกมาในพฤติกรรมการใช้เงินที่ระมัดระวังมากยิ่งขึ้น อันเนื่องมาจากการถูกปรับลดเงินเดือน หรือกลายเป็นสภาพเป็นผู้ว่างงาน โดยตัวเลขจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ชี้ว่า ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา การจ้างงานปรับตัวลดลง 1.9% จากที่เคยมีแรงงานในระบบ 37.7 ล้านคน ลดลงมาเหลือเพียง 37 ล้านคน หรือคิดเป็นผู้ตกงานแล้ว 7 แสนราย สถานการณ์ดังกล่าวจึงกระทบต่อเนื่องไปยังภาคการผลิตที่ผู้บริโภคไม่ออกมาจับจ่ายสินค้าอย่างที่เคยเป็น 

เมื่อภาคเศรษฐกิจจริงมีปัญหาในวงกว้าง ฝั่งสถาบันการเงิน โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญของภาคธุรกิจก็ต้องแบกความเสี่ยงจากสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล 

เอทีเอ็ม ATM กสิกรไทย การเงิน ธนาคาร

แม้ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายการเงินของประเทศจะเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระผ่านมาตราการพักการชำระหนี้ แต่ความเสี่ยงก็ไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นมากเท่าใด เนื่องจากช่วงที่ผ่านมากลุ่มอุตสาหกรรมหลักของไทยอย่างการท่องเที่ยว ยังไม่ได้เห็นตัวเลขชาวต่างชาติเข้ามา อีกทั้ง อีไอซี ยังประเมินว่าทั้งปีนี้จะมีชาวต่างชาติเข้ามาเพียง 6.7 ล้านคน คิดเป็นการลดลง 83% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

ขณะที่อุตสาหกรรมส่งออกที่เหมือนจะปรับดีขึ้นบ้าง จากการติดลบถึง 28% ในเดือน พ.ค. ขึ้นมาเป็นติดลบ 14.3% ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ยังต้องรับความเสี่ยงจากสถานการณ์คำสั่งซื้อจาก 10 ประเทศคู่ค้าสำคัญ ที่มีแนวโน้มการกลับมาระบาดในระลอกที่ 2 

ส่วนภาครัฐที่เป็นเสมือนความหวังของประเทศ ก็ต้องยอมรับความจริงว่ากำลังมีรายได้เข้ามาน้อยลง จากการจัดเก็บภาษีได้ลดลงด้วยสภาพเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ ยรรยง ยังเสริมว่า ประเด็นเรื่อง 'หน้าผาทางการคลัง' เป็นสิ่งที่ต้องจับตามมองอย่างใกล้ชิด 

เมื่อมองวงเงินอัดฉีด 1 ล้านล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นเงินเยียวยา 6 แสนล้าน และเงินกระตุ้นเศรษฐกิจอีก 4 แสนล้าน ปัจจุบันรัฐบาลอนุมัติโครงการไปแล้วด้วยงบรวม 4.75 แสนล้านบาท ทว่าเม็ดเงินดังกล่าวส่วนใหญ่ถูกใช้ไปในไตรมาสที่ 2 แล้ว ขณะที่เงินช่วยเหลือดูจะหดลงอย่างมากในครึ่งหลังของปี ทั้งๆ ที่รายได้ของประเทศก็ไม่ได้มีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด 

อีไอซี ปรับลดประมาณการจีดีพีประเทศปี 2563 ลงมาอยู่ที่ติดลบ 7.8% จากเดิมที่เคยมองไว้ที่ติดลบ 7.3% ในกรณีเลวร้ายที่สุด เศรษฐกิจไทยอาจหดตัวด้วยเลขสองหลัก ระหว่างช่วง ติดลบ 10%-11% แต่ความเสี่ยงดังกล่าวยังต่ำมาก และระดับฐานที่ประเมินเอาไว้ก็ถือว่าทำร้ายเศรษฐกิจไทยมากแล้ว 


หนี้สูงแต่ยังเข้มแข็ง 

สำหรับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนประเทศ ยรรยง ชี้ว่า มีความเป็นไปได้มากที่จะกระโดดไปถึงสัดส่วน 88% ต่อจีดีพี จากเดิมที่อยู่ราว 80.1% ต่อจีดีพีในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งปัญหาสำคัญก็มาจากกันชนทางการเงินของคนไทยที่มีน้อย และกว่า 60% ของประชาชน ก็มีเงินไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย 

ขณะที่หนี้สาธารณะของประเทศอาจขึ้นไปอยู่ราว 57% - 58% ต่อจีดีพีในช่วงสิ้นปี 2564 จากเดิมที่อยู่ในระดับ 42% - 43% ซึ่ง ยรรยง อธิบายว่า การที่หนี้สาธารณะของประเทศขึ้นไปจนอยู่ในระดับที่ใกล้กับเพดานที่รัฐบาลตั้งไว้คือ 60% ต่อจีดีพีเป็นเรื่องที่เข้าใจได้

อีกทั้ง หากมีความจำเป็นในการกู้เงินเพิ่มมากระตุ้นเศรษฐกิจประเทศก็เป็นเรื่องที่ทำได้ เพียงแต่ต้องไปดำเนินการผ่านการแก้กฎหมาย ทั้งยังต้องมีการสื่อสารอย่างชัดเจนกับสาธารณะชนทั้งไทยและต่างชาติว่ารัฐบาลมีแผนในการจัดการกับหนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างไร และต้องทำให้เชื่อได้ว่าเม็ดเงินที่กู้มาจะเกิดประโยชน์จริง 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;