ไม่พบผลการค้นหา
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงเหตุประเทศไทยงดออกเสียง รับรองมติ UN กรณีวิกฤตการณ์เมียนมา ระบุมติไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเห็นของคนที่มีพรมแดนติดกับเมียนมา ย้ำประชาคมโลกต้องเร่งสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกฝ่าย ยันไทยไม่เคยนิ่งดูดาย หวังเกิดสันติภาพที่แท้จริง

ธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงกรณีประเทศไทยงดออกเสียงในการลงคะแนนเพื่อรับรองข้อมติที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติ เกี่ยวกับวิกฤตการณ์ในเมียนมา เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.(ตามเวลาท้องถิ่นนิวยอร์ก) ว่า ข้อมติดังกล่าวไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยหลายประการ ที่มีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในเมียนมาซึ่งเป็นปัญหาความมั่นคงของไทยด้วย ดังนี้

ประการแรก ข้อมติดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานของความคิดเห็นของคนที่ไม่ได้มีพรมแดนติดกับเมียนมากว่า 2,400 กิโลเมตรเหมือนไทย และไม่ได้มีประชาชนที่มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับประชาชนเมียนมาในหลาย ๆ ระดับมาเป็นเวลาช้านานเช่นเดียวกับไทย ซึ่งหมายถึงว่า เหตุการณ์ความรุนแรงและการสู้รบในเมียนมามีผลด้านความมั่นคงโดยตรงต่อไทยมากกว่าประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ไกลออกไป การกระทําทุกอย่างของประเทศไทยจึงต้องกระทําอย่างรอบคอบอย่างยิ่ง และต้องคํานึงผลที่จะตามมาในทุกๆ ด้าน

ประการที่สอง ข้อมติดังกล่าวไม่ได้คํานึงถึงความซับซ้อนทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของเมียนมา และสถานการณ์จริง ๆ ในเมียนมาทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์วันที่ 1 ก.พ. 2564 แต่อย่างใด ทั้งนี้ ในสถานการณ์ปัจจุบัน สิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อขบวนการสันติภาพในเมียนมาที่แท้จริงนั้น คือการที่ทุกฝ่ายต่างมีความขัดแย้งทางการเมืองอันนําไปสู่ความเจ็บแค้น และไม่ไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันสูงมาก และต่างฝ่ายต่างก็หันไปใช้อาวุธและความรุนแรงในการแก้ปัญหา

ดังนั้น สิ่งที่ประชาคมโลกจะต้องทําเพื่อนําไปสู่การแก้ปัญหาอย่างแท้จริง จึงมิใช่เพียงแค่กล่าวโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดว่าเป็นฝ่ายผิด หรือประณามฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือกระทําการใด ๆ ที่เป็นการสนับสนุนให้ความขัดแย้งบานปลายไปเรื่อย ๆ อันจะรังแต่จะเพิ่มความเกลียดชังและความโกรธแค้นของทุกฝ่ายให้มากขึ้น จนทําให้ความขัดแย้งในปัจจุบันไม่สามารถระงับดับลงได้โดยสันติวิธีได้อีกต่อไป

ในการนี้ แทนที่จะกระทําการประณามแต่อย่างเดียว โดยไม่คํานึงถึงผลเสียหลายประการที่จะตามมานานับประการนั้น สิ่งที่ประชาคมโลกจะต้องทําคือ หาวิธีทางสันติสุขที่จะสยบการสู้รบให้ได้โดยเร็วที่สุด โดยเร่งเรื่องการหาวิธีการหรือขบวนการที่จะฟื้นฟูและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจของทุก ๆ ฝ่ายในเมียนมาให้กลับคืนมาให้ได้ในระดับหนึ่ง และเร่งสร้างสิ่งที่เรียกว่า “พื้นที่ปลอดภัย” ให้กับทุก ๆ ฝ่าย ที่กําลังขัดแย้งกันอยู่ในเมียนมาในขณะนี้ ให้หันหน้ากลับมาเจราจากันได้ เพราะทุกฝ่ายสามารถยอมรับและเห็นพ้องกันได้ว่า การใช้ความรุนแรงไม่สามารถนําไปสู่การแก้ปัญหาที่แท้จริงได้ และการสู้รบจะไม่นํามาซึ่งชัยชนะของฝ่ายตนหรือฝ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น จะนํามาก็แต่ความพ่ายแพ้หายนะของประชาชนเมียนมา ซึ่งจะต้องประสบความลําบากยากแค้นแสนสาหัส อันเนื่องมาจากการสู้รบที่ยืดเยื้อ ทั้งที่พวกเขาไม่ใช่ส่วนหนึ่งของปัญหาเลย ดังนั้น ประชาคมโลกจึงไม่ควรกระทําการใด ๆ ที่เสมือนโยนเชื้อไฟเพิ่มเข้าไปในกองเพลิง

ประการที่สาม ข้อมติดังกล่าวมิได้สะท้อนถึงเจตนารมณ์และความพยายามของอาเซียนซึ่งกําลังดําเนินอยู่แล้วในการแก้ปัญหาความไม่สงบในเมียนมา ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกหนึ่งของอาเซียน โดยที่ในการประชุมผู้นำอาเซียนสมัยพิเศษเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ในเมียนมา ที่กรุงจาการ์ตา เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2564 ก็ได้มีฉันทามติเรื่องขั้นตอนและองค์ประกอบ 5 ประการอันจะนําไปสู่สันติสุขในเมียนมาได้และกําลังดําเนินการอยู่แล้ว โดยตั้งอยู่บนหลักการที่ว่า ทุกฝ่ายของความขัดแย้งในเมียนมาเท่านั้นที่จะต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาในเมียนมาเอง

ประการที่สี่ ไทยเชื่อว่า ไม่มีผู้ใดสามารถเปลี่ยนแปลงอดีตได้ แต่ประชาคมโลกสามารถมีบทบาทที่สำคัญในการสร้างบรรยากาศหรือสภาวะที่เอื้ออำนวยให้ทุกฝ่ายในความขัดแย้งในเมียนมาหันหน้ามาเจรจากันได้ และมิให้กลับไปใช้กำลังต่อสู้ประหัตประหารกันมากขึ้น และสร้างอนาคตที่เมียนมาจะไม่ต้องกลับไปมีความขัดแย้งอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอีก

ประการที่ห้า สิ่งที่ไทยห่วงกังวลและให้ความสําคัญที่สุดคือประชาชนชาวเมียนมา ซึ่งเป็นผู้รับเคราะห์จากการสู้รบจากความขัดแย้งทางการเมืองของหลายฝ่ายในเมียนมามาเป็นเวลาช้านานแล้ว และความลําบากยากเข็ญนั้นกําลังทวีความรุนแรงขึ้นตลอดเวลา พวกเขาไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าชีวิตความเป็นอยู่ที่เป็นปกติสุข สามารถทํามาหาเลี้ยงชีพ มีกินมีใช้เยี่ยงประชาชนในประเทศอื่น ๆ รอบข้าง ซึ่งไทยไม่เห็นว่าร่างมติดังกล่าวเป็นแนวทางที่แท้จริงที่จะนำไปสู่การสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนที่ชาวเมียนมาแสวงหาแต่อย่างใด

ประการสุดท้าย ในส่วนของประเทศไทยเอง เราได้ดําเนินการเพื่อนำไปสู่สันติภาพในเมียนมาอยู่แล้วในหลาย ๆ ทาง ทั้งที่ร่วมกับอาเซียน ทั้งในภาคทวิภาคี และพหุภาคี และไทยไม่เคยนิ่งนอนใจหรือดูดายในเรื่องความไม่สงบในเมียนมา และการดําเนินการเหล่านั้นมิได้มีเจตนาแอบแฝงใด ๆ นอกจากจะทําสิ่งที่เป็นประโยชน์จริง ๆ อันจะทําให้ทุกฝ่ายเข้ามาสู่ขบวนการเจรจาสันติภาพ เพราะนั่นคือวิธีเดียวเท่านั้นที่จะยุติความไม่สงบในเมียนมาได้