ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมาได้ออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564
มีผลบังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือตั้งแต่ 25 พ.ค. เป็นต้นไป โดยมีกรอบวงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท
เงินก้อนนี้แบ่งเป็น 3 ส่วน 1.แก้ไขปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 วงเงิน 30,000 ล้านบาท
2.ช่วยเหลือเยียวยา และชดเชย แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด วงเงิน 300,000 ล้านบาท
และ 3.ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด วงเงิน 170,000 ล้านบาท
‘อาคม เติมพิทยาไพสิฐ’ รมว.คลัง กล่าวว่า หากมีความจำเป็นสามารถปรับแผนงานการใช้จ่ายได้ โดย พ.ร.ก. ฉบับนี้จะเข้าไปเสริมตามแผนงาน พ.ร.ก.ฉบับที่ 1 (พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท) ที่เน้นเข้าไปดูแลใน บางเรื่อง เช่น เอสเอ็มอี ไมโครเอสเอ็มอี ผู้ประกอบธุรกิจรายเล็กรายน้อย
กรอบการการกู้เงิน 5 แสนล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก.ฉบับใหม่ นับเป็นการออกกฎหมายกู้เงินครั้งที่ 16 ในประวัติศาสตร์
ตั้งแต่ “สยาม” เปลี่ยนเป็น “ประเทศไทย” ซึ่ง “การกู้เงิน” ทั้งหมดเกิดขึ้นหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย. 2475 แล้วทั้งสิ้น
ครั้งที่หนึ่ง-ครั้งที่หก เกิดขึ้นในรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม
ครั้งที่ 1 กู้เงินผ่าน พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พ.ร.บ.จัดการกู้เงินในประเทศเพื่อเกษตรกร พ.ศ. 2481 จำนวน 25 ล้านบาท
ครั้งที่ 2 กู้เงินผ่าน พ.ร.บ.จัดการกู้เงินในประเทศเพื่ออุตสาหกรรม พ.ศ.2481 วงเงิน 20 ล้านบาท
ครั้งที่ 3 กู้เงินผ่าน พ.ร.บ.จัดการกู้เงินในประเทศเพื่อเทศบาลและการบำรุงท้องที่ พ.ศ.2481วงเงิน 20 ล้านบาท
ครั้งที่ 4 กู้เงินผ่าน พ.ร.บ.กู้เงินในประเทศ พ.ศ.2485 ไม่เกิน 60 ล้านบาท โดยให้เรียกว่า “เงินกู้เพื่อชาติพุทธสักราช ๒๔๘๕”
ครั้งที่ 5 ผ่าน พ.ร.บ.กู้เงินในประเทศ พ.ศ.2487 โดยให้เหตุผลเรื่องการกู้เงินเพื่อประโยชน์แก่ชาติ ให้รัฐบาลมีอำนาจกู้เงินโดยการออกตั๋วเงินคลัง เป็นจำนวนไม่เกิน 50 ล้านบาท เพื่อการใช้จ่ายตามงบประมาณ
ครั้งที่ 6 ผ่าน พ.ร.บ.ตั๋วเงินคลัง พ.ศ.2487 ซึ่งออกคู่กับ พ.ร.บ.กู้เงินในประเทศ พ.ศ.2487
ครั้งที่7 เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล ควง อภัยวงศ์ โดยออก พ.ร.บ.กู้เงินในประเทศ พ.ศ.2487 ทั้งนี้ ให้รัฐบาลมีอำนาจกู้เงินโดยการออกตั๋วเงินคลัง เป็นจำนวนไม่เกิน 50 ล้านบาท เพื่อการใช้จ่ายตามงบประมาณ
ครั้งที่ 8 ในยุครัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาสวัสดิ์ ได้ออก พ.ร.บ.กู้เงินในประเทศ พ.ศ.2489 ถึงสองฉบับ ฉบับแรกให้รัฐบาลกู้เงินไม่เกิน 200 ล้านบาท ฉบับที่ 2 ซึ่งตรากฎหมายในเดือน พ.ย.2489 ให้อำนาจกู้ได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท
ครั้งที่ 9 ในยุครัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร พ.ร.บ.กู้เงินเพื่อป้องกันประเทศ พ.ศ.2519 ให้กระทรวงการคลังโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีมีอำนาจกู้เงินนามรัฐบาล เพื่อใช้จ่ายในการป้องกันประเทศตามโครงการป้องกันประเทศ การกู้เงินรวมกันต้องไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท
ขณะเดียวกัน ยังออก พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินจากต่างประเทศ พ.ศ.2519 กำหนดเพดานการกู้เงินไว้ที่ กู้ได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี
ครั้งที่ 10 ในยุครัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ กู้เงินผ่านการออก พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินจากรัฐบาลต่างประเทศ เพื่อจัดซื้อยุทโธปกรณ์ทางทหาร พ.ศ. 2524
ทั้งนี้ กำหนดว่า ในมูลค่าการกู้เงิน เมื่อรวมกับการกู้เงินตาม พ.ร.บ.ให้อำนาจกะทรวงการคลังกู้เงินจากต่างประเทศ พ.ศ.2519 ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีนั้น ต่อเนื่อง 6 ปี ตั้งแต่ 2524-2529
ครั้งที่ 11 ในรัฐบาลชวน หลีกภัย กู้เงินผ่าน พ.ร.ก.กู้เงินขึ้นมาเพื่อแก้วิกฤตจำนวน 3 ฉบับ วงเงินรวมกัน 1 ล้านล้านบาท แก้วิกฤตต้มยำกุ้ง ประกอบด้วย
พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ พ.ศ.2541 กู้ได้ไม่เกิน 2 แสนล้านบาท ภายในวันที่ 31 ธ.ค.2543
พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2541 กู้ได้ไม่เกิน 3 แสนล้านบาท ภายใน 31 ธ.ค.2543
พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน พ.ศ.2541 กู้เงินจากแหล่งเงินกู้ในประเทศเพื่อชดใช้ความเสียหายและปรับโครงสร้างแหล่งเงินทุนของกองทุนฟื้นฟูฯ ได้ไม่เกิน 5 แสนล้านบาท
ครั้งที่ 12 ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร กู้เงินผ่าน พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (ระยะที่สอง) พ.ศ. 2545 มูลค่าของการกู้เงินรวมกันต้องไม่เกิน 780,000 ล้านบาท ต่อเนื่องจากวิกฤตต้มยำกุ้ง
ครั้งที่ 13 ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กู้เงินผ่าน พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 โดยกู้เงินให้มีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 400,000 ล้านบาท แก้วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์
ครั้งที่ 14 ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.ให้อํานาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ําและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 ให้มีมูลค่ารวมกันไม่เกิน350,000 ล้านบาทและให้กระทําได้ภายในกําหนดเวลาไม่เกินวันที่ 30 มิ.ย. 2556 ผลจากวิกฤตน้ำท่วมในปี 2554
ครั้งที่ 15 สถานการณ์โควิด-19 เข้าโจมตีประเทศไทย รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ สั่งล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ผลจากการใช้ “ยาแรง” ทุบเศรษฐกิจไทย สะเทือนถึงชาวบ้านตาดำๆ หาเช้ากินค่ำ
ทำให้รัฐบาลต้องออก พ.ร.ก.กู้เงิน จำนวน 1.9 ล้านล้านบาท ทั้งสิ้น 3 ฉบับ และที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นชอบในวันที่ 31 พ.ค. 2563 ด้วยมติ ดังนี้
1.พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้าน) ที่ประชุม เห็นด้วย 274 ต่อ 0 งดออกเสียง 207 ไม่ลงคะแนน 0 เสีย
2.พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก. Softloan 500,000 ล้าน ให้กับ SEMs) ที่ประชุม เห็นด้วย 275 ต่อ 1 งดออกเสียง 205 ไม่ลงคะแนน 0 เสียง
3.พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก.ตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพของตราสารหนี้บริษัทเอกชน 400,000 ล้าน ) ที่ประชุม เห็นด้วย 274 ต่อ 195 งดออกเสียง 12 ไม่ลงคะแนน 1 เสียง
แต่ที่สุดแล้ว พ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาท ปัจจุบันยังกู้ไม่เต็มจำนวน ยังเหลืออีกประมาณ 2 แสนล้านที่ยังใช้ได้ตามที่ ครม.อนุมัติโครงการ เช่น ช็อปดีมีคืน คนละครึ่งเฟส 3 แต่ด้วยสถานการณ์โควิดระลอก 3 ยังลุกลาม จึงต้องเตรียมเงินสำรองไว้ก่อน ดังนั้น จึงต้องกู้ซ้ำรอบใหม่
จึงเป็นการกู้เงิน ครั้งที่ 16 เป็นครั้งล่าสุดที่ พล.อ.ประยุทธ์ กดปุ่มอนุมัติ พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้าน ประคับประคองประเทศให้รอดพ้นวิกฤติ
โดย พล.อ.ประยุทธ์ เป็นรัฐบาลที่สิบ ที่กู้เงินท่ามกลางเสียงท้วงติงจากผู้สันทัดกรณีฝ่ายค้านที่ยังกังขา “ความสามารถ” ของผู้นำว่า กู้มาแล้ว “ใช้เป็น” หรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง