ไม่พบผลการค้นหา
'กิตติพันธ์' อดีตรองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย เปิดตั้งโต๊ะแถลงชี้แจงการปล่อยกู้ลูกค้ารายใหญ่ 'เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ' เป็นไปตามหลักบริหารความเสี่ยง ผ่านการกลั่นกรองจากบอร์ดกรองสินเชื่อ ยืนยันพร้อมอุทธรณ์ ฟาก 'แบงก์ชาติ' รอกรุงไทยแจ้งข้อมูลเพิ่มเติม ก่อนตัดสิน 'ขาดคุณสมบัติผู้บริหารแบงก์หรือไม่'

นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB (ผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย) ตั้งโต๊ะแถลงเมื่อวันที่ 9 ม.ค. ที่ผ่านมา ในนามส่วนตัว ระบุถึงกรณีที่ถูกทางธนาคารกรุงไทยกล่าวหาว่าในขณะที่ดำรงตำแหน่งไม่รักษาประโยชน์ของธนาคารและปฏิบัติงานไม่สมกับหน้าที่ให้ลุล่วงไปอย่างถูกต้องและสุจริต รวมถึงใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์โดยทุจริตโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อบุคคลภายนอกและตนเอง ในการปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH จำนวน 2 วงเงิน คิดเป็นมูลค่ารวม 4,500 ล้านบาทในปี 2558 จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ธนาคารจำนวนมาก

กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ-กรุงไทย-ซีไอเอ็มบี ไทย

(กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ)

ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริงและตนเองเป็นผู้บริสุทธิ์ เนื่องจากคำขออนุมัติได้ผ่านการตรวจสอบจากสายงานประเมินความเสี่ยง ผ่านการ กลั่นกรองจากคณะกรรมการกลั่นกรองสินเชื่อ และผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารคำขออนุมัติสินเชื่อดังกล่าว ซึ่งกระทำอย่างถูกต้องทั้งในแง่คุณสมบัติของลูกค้า การประเมินความเสี่ยง การกลั่นกรอง ก่อนเสนอให้บอร์ดบริหารพิจารณาขั้นสุดท้าย ซึ่งในขณะนั้นตนเองถือเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องการปล่อยสินเชื่อเท่านั้น และไม่มีอำนาจในการอนุมัติสินเชื่อแต่อย่างใด

โดยภายหลังจากที่ธนาคารกรุงไทยได้อนุมัติสินเชื่อทั้ง 2 วงเงินดังกล่าว ทาง EARTH ได้รับการจัดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือจาก บริษัท ทริสเรตติ้ง จำกัด (TRIS) โดยให้ระดับเรตติ้งอยู่ที่ "BBB" ซึ่งเป็นการยืนยันความสามารถในการชำระหนี้ว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี และธนาคารกรุงไทยยังได้ดำเนินการทำหน้าที่เป็นผู้รับประกันการจำหน่าย (อันเดอร์ไรเตอร์) หุ้นกู้ของ EARTH จำนวน 2 รุ่น ในวงเงินรวม 5,500 ล้านบาท เพื่อเป็นการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งถือเป็นการกลั่นกรองอีกครั้งว่าเป็นลูกค้าที่ดีที่ธนาคารจะนำหุ้นกู้ไปขายให้กับลูกค้ารายย่อยได้ต่อไป      

สินเชื่อทั้ง 2 วงเงินนี้ เป็นส่วนหนึ่งของสินเชื่อที่ธนาคารกรุงไทยให้กับ EARTH ทั้งหมด 1.2 หมื่นล้านบาท เมื่อเกิดการผิดนัดชำระหนี้ในเดือน พ.ค. 2560 เริ่มจากจำนวน 200 กว่าล้านบาท แต่เมื่อไม่ได้รับการผ่อนผัน จึงกระทบกับวงเงินอื่นกลายเป็นเอ็นพีแอล (หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้) ทั้งหมด ดังนั้นความเสียหายที่เกิดกับธนาคารกรุงไทย เกิดจาก NPL ของ EARTH ไม่ได้เกิดจากสินเชื่อ 2 วงเงินที่ได้นำเสนอเมื่อปี 2558

ดังนั้น การที่ธนาคารกรุงไทย ได้ส่งหนังสือลงวันที่ 25 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา กล่าวหาว่าตนปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทเอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ไม่เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ ทำให้ธนาคารได้รับความเสียหาย ลูกค้าได้รับประโยชน์ที่ไม่ควรได้ ถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง ซึ่งถือว่าเป็นการกล่าวหาที่ร้ายแรง 

ดังนั้น ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่ถูกกล่าวหา ต้องเดินหน้าต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของตัวเองตามกระบวนการกฎหมาย และกำลังพิจารณาร่วมกับที่ปรึกษากฎหมายเกี่ยวกับการอุทธรณ์กลับไปยังธนาคารกรุงไทยภายใน 60 วัน      

"EARTH เป็นลูกค้าธนาคารกรุงไทย ก่อนที่ตนเข้ามารับตำแหน่ง และเป็นลูกหนี้ชั้นดี งบการเงินได้รับการรับรองจาก บริษัท ไพรซ์วอเทอร์เฮ้าส์คูเปอร์ จำกัด และตนเองเป็นผู้ดูแลสายงานที่นำเสนอขออนุมัติสินเชื่อ วงเงินประมาณ 4,500 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2558 คำขออนุมัติผ่านการตรวจสอบจากสายงานประเมินความเสี่ยง ผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการกลั่นกรองสินเชื่อ และผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการบริหาร ไม่มีการผิดนัดชำระ การผิดนัดชำระเกิดขึ้นหลังผมได้ออกจากธนาคารและเกิดขึ้นในเดือน พ.ค. 2560 โดยเริ่มจากจำนวนเงิน 200 กว่าล้านบาท ทำให้สินเชื่อทั้งหมด 12,000 ล้านบาท กลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ทันที" นายกิตติพันธ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ตนเองจะให้ทางที่ปรึกษากฎหมายส่วนตัวดำเนินการยื่นอุทธรณ์ต่อ KTB เพื่อชี้แจงข้อกล่าวกรณี EARTH ต่อไป ซึ่งมีกำหนดภายในระยะเวลา 60 วัน (ภายหลังการได้รับหนังสือกล่าวหา) หรือไม่เกินช่วงปลายเดือน ก.พ. นี้

ส่วนการทำหน้าที่ของตนเองในตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT ยังเป็นไปตามปกติ แต่ยอมรับว่าขณะนี้กลุ่ม CIMB ได้มีการหารือกับ ธปท. เกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งในปัจจุบันว่าจะมีแนวทางอย่างไรที่เหมาะสม ซึ่งเป็นดุลยพินิจของกลุ่ม CIMB

ธปท.ได้รับหนังสือขอความเป็นธรรมแล้ว เรียกกรุงไทยให้ข้อมูลเพิ่มเติม

ด้านนางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงในสถาบันการเงิน เป็นเรื่องที่ ธปท. ให้ความสำคัญมาโดยตลอด จึงได้กำหนดมาตรฐานคุณสมบัติของการเป็นผู้บริหารสถาบันการเงินไว้ในระดับที่สูง เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงิน ซึ่งก็เป็นแนวที่ธนาคารกลางและผู้กำกับดูแลทั่วโลกใช้ในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน  

จันทวรรณ สุจริตกุล-ธปท.-แบงก์ชาติ

(จันทวรรณ สุจริตกุล)

กรณีข่าวเกี่ยวกับอดีตผู้บริหารของ ธนาคารกรุงไทย เป็นเรื่องที่กระทบต่อคุณสมบัติและความน่าเชื่อถือของผู้ทำหน้าที่บริหารสถาบันการเงิน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอดีตผู้บริหาร ธนาคารกรุงไทยได้มีหนังสือร้องขอความเป็นธรรม และ ธปท. เห็นว่ายังมีข้อมูลที่ต้องให้ธนาคารกรุงไทย ชี้แจงเพิ่มเติมในบางประเด็น ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างการรอข้อมูลดังกล่าวเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :