วันที่ 29 ม.ค. นพ.ระวี มาศฉสมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวถึงข้อเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม กับการปรองดองสมานฉันท์ที่แท้จริงว่า การนิรโทษกรรม ถ้าไม่ใช่การนิรโทษประชาชน ก็ไม่ใช่การสมานฉันท์ที่แท้จริง การที่พรรคเพื่อไทย และกลุ่มรัฐบาลเดิมมารวมกัน จะเรียกว่าเป็นรัฐบาลปรองดองหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่รัฐบาลประสานผลประโยชน์หรือไม่ หากมีการนิรโทษกรรมทั้งหมด ถึงจะเป็นการปรองดองสมานฉันท์ที่แท้จริง
จากการพูดคุยกับประชาชน ซึ่งมีคำถามว่า ’จะนิรโทษกรรมไปทำไม‘ นั้น ตนขอกล่าวถึง 2 ประเด็น คือ 1. ในส่วนของร่างกฎหมาย พัฒนาการของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมในประเทศไทยที่เกิดขึ้น ครั้งที่ได้ผลดีมากที่สุดคือ สมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่สามารถยุติสงครามทางการเมือง การต่อสู้ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และรัฐบาล แสดงให้เห็นว่าถ้านิรโทษกรรมถูกที่ถูกเวลา จะทำให้เป็นผลต่อประชาชน และฟื้นฟูเศรษฐกิจทางการเมืองของประเทศไทย
โดยหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ยึดอำนาจจนถึงปัจจุบัน ก็มีความพยายามหลายครั้ง ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในปี 62 แต่ในขณะนั้น การร่างกฎหมายนิรโทษกรรมจะต้องนำเสนอต่อผู้มีอำนาจ และแม้ผู้มีอำนาจจะบอก ว่าทำได้ และเห็นด้วยให้มีการนิรโทษกรรม แต่ในที่สุดผู้นำก็ตีตกไป โดยบอก ว่าบ้านเมืองมีกฎหมาย ทำตามกฏหมายบ้านเมืองดีที่สุด
นพ.ระวี กล่าวต่อว่า การที่ตนยื่นร่าง พ.ร.บ.เสริมสร้างสังคมสันติสุข ในช่วงกลาง ปี 65 นั้น ได้มีการหารือกับแกนนำฝ่ายอื่นๆ รวมถึงพรรคการเมืองด้วย แม้จะเป็นชื่อตนที่เซ็น แต่เป็นร่างรวมของหลายฝ่าย และไม่ได้ใช้ชื่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่เปลี่ยนเปลี่ยนชื่อเป็นร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข แต่ในเนื้อหามีความจำเป็นทางกฎหมาย ต้องระบุว่าเป็นการนิรโทษกรรมในกรณีใดบ้าง
ซึ่งขณะที่ยื่นนั้น ก็คาดว่าจะเข้าทัน แต่ต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานและประชาชนก่อน เป็นเวลากว่าสองเดือน ทำให้ร่างที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นเรียบร้อยแล้ว บรรจุเข้าวาระเรียบร้อยแล้ว แต่เกิดการยุบสภาไปก่อน จึงไม่สามารถเสนอในสภาสมัยที่แล้วได้
2.ความคืบหน้าของ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทั้งในและนอกสภา ในส่วนสภา ร่างของพรรคก้าวไกล ที่แม้จะมีคนไม่เห็นด้วยมาก แต่ขณะนี้ก็ผ่านการรับฟังความคิดเห็น และพร้อมบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม หากสภาเห็นด้วยกับการยื่นญัตติเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นญัตติด่วนได้ ก็อยู่ขึ้นอยู่กับ สส. ทั้งหมดว่าพร้อมจะโหวตหรือไม่
ในส่วนของพรรคครูไทย ที่ใช้ร่างเดิมของตนยื่นนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็น คาดว่าจะเสร็จในปลายเดือนกุมภาพันธ์ สำหรับร่างของพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งนำเอา พ.ร.บ.ของตนเป็นต้นแบบ และนำมาเพิ่มข้อความ ในประเด็นปีกย่อยที่แตกต่างกัน แต่มีเนื้อหาหลักเหมือนกัน ก็กำลังจะต้องเข้าสู่ขั้นตอนการรับฟังความเห็น ซึ่งจะใช้เวลาอีกสองเดือน
จึงคาดว่าในช่วงมีนาคม หากกระบวนการทั้งหมดเสร็จสิ้น ก็จะมี 3 ร่าง ที่จะถูกบรรจุเข้าวาระการประชุม ถ้ามี สส.คนใดคนหนึ่งยื่นญัตติกลางสภา นำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เสนอเป็นวาระด่วน หากสภาเห็นด้วย ร่างของพรรคครูไทย และร่างของพรรครวมไทยสร้างชาติ จะถูกยกเลิกการรับฟังความเห็น และนำขึ้นมาพิจารณาพร้อมกันได้ทันที เชื่อว่าภายในเวลาไม่กี่วัน จะมีร่างของพรรคอื่นขึ้นมาอีก เพราะพรรคอื่นไม่อยากตกขบวน ซึ่งทุกร่างจะถูกนำมาพิจารณารวมกัน แต่ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุมสภา ว่าจะเลือกให้ร่างของพรรคผ่านหรือไม่ผ่าน และร่างที่ผ่านทั้งหมด จะถูกนำไปเป็นกรอบอภิปรายในวาระที่สอง
“ณ ตอนนี้การที่ร่างของพรรคก้าวไกลผ่านแล้ว เรียกว่าเป็นเชื้อไฟที่สามารถยื่นร่าง พ.ร.บ.เข้าสภาได้แล้ว ถ้า สส.วิปรัฐบาล และ สส.วิปฝ่ายค้านทำร่วมกันได้ ผ่านกระบวนการญัตติด่วน หากไม่ทำเช่นนั้น อาจจะต้องรอคิวถึง 1 ปี“ นพ.ระวี กล่าว
สำหรับการเจรจานอกรอบกับพรรคการเมืองต่างๆ นั้น เกือบทุกพรรคที่ได้หารือ ล้วนเห็นด้วยกับการให้มีการนิรโทษกรรมทั้งสิ้น ยังไม่มีพรรคใดปฏิเสธ ว่าไม่เห็นด้วย แต่จะกล้าออกมาแสดงตัว หรือกล้าร่าง พ.ร.บ.เข้าสภาหรือไม่
”อาจจะต้องรอดู ว่าหากพรรคร่วมฝ่ายค้านตกลงก็ได้ ก็ค่อยร่างเข้ามา เพียงแต่เมื่อไหร่ผู้นำจะยอม หากตัดสินใจได้ก่อนปิดสมัยประชุมสภา ให้มีการเสนอเป็นญัตติเพื่ออภิปราย และโหวตในวาระที่หนึ่ง จากนั้นจึงตั้งคณะกรรมาธิการ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่ใช่โครงการแลนด์บริดจ์ เดือนเดียวก็จบ สามารถทำทัน ถ้าผู้มีอำนาจปัจจุบันนี้ตัดสินใจ ก็จะทันวันที่ 9 เม.ย. คนที่รอมา 31 ปี ฝันจะได้เป็นจริงสักที แต่หากผู้นำยังขวางอยู่ อาจจะอีก 3 ปีหรือไม่ ก็ไม่แน่ใจ” นพ.ระวี กล่าว
อดีต ป.ป.ช. มอง ‘นิรโทษกรรม’ สร้างความสง่างามในสายตาชาวโลก
ด้านศาสตราจารย์วิชา มหาคุณ อดีตคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงข้อเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน และการปรองดองสมานฉันท์ที่แท้จริงว่า เห็นด้วยกับแนวคิดการยื่นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สร้างเสริมสังคมสันติสุข หรือร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ถูกเปลี่ยนชื่อเพื่อลดแรงเสียดทานทางสังคม
โดยมองว่า ไม่ขัดต่อความเป็นธรรมใดๆ เลย เพราะมีการนำเสนอเพื่อสร้างเสริมสังคมสันติสุข และเป็นเรื่องการคุ้มครองเพื่อไม่ให้มีการดำเนินคดีในทางยืดเยื้อ ป้องกันการทำให้เกิดความรู้สึกปรปักษ์ต่อกันในทางการเมือง
ศาสตราจารย์วิชา มองว่า การนิรโทษกรรมมันแตกต่างจากการอภัยโทษ เพราะการอภัยโทษนั้น เป็นพระราชอำนาจเต็มของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งเป็นเรื่องของการที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งมีความผิด แต่พระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานอภัยโทษเพื่อลดหย่อนผ่อนโทษ หรือยกเว้นความผิดกันไป แม้ศาลตัดสินแล้วก็ตาม
ส่วนการนิรโทษกรรมนั้น เป็นอำนาจของรัฐสภาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐสภาที่ป้องกันไม่ให้เกิดความคลางแคลงใจต่อกัน เพราะถ้าหากบ้านเมืองไปไม่รอด รัฐสภาเองก็อยู่ไม่รอดเช่นกัน เฉกเช่นเดียวกับ ปลายสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ไม่สามารถประชุมเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายที่มีประโยชน์ได้ ทำให้กฎหมายหลายฉบับคาราคาซังอยู่ในสภาฯ
สำหรับแนวทางของการนิรโทษกรรมนั้น ศาสตราจารย์วิชา มองว่า การปกครองบ้านเมืองต้องขึ้นอยู่กับความเมตตาขององค์รัฏฐาธิปัตย์ แม้การปกครองประเทศจะเป็นอำนาจของราษฎร แต่การวางเกมในทางการเมืองนั้น เมื่อขึ้นมามีอำนาจสูงสุดแล้วก็ต้องมีความกรุณา จะใช้ความอาฆาตมาดร้าย หรือความพยาบาทต่อกันไม่ได้
ศาสตราจารย์วิชา ยังอ้างถึง แนวทางของสหประชาชาติ (UN) ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อให้สังคมโลกมีเวทีในการเจรจากัน เช่นเดียวกับกฎหมายนิรโทษกรรมที่ต้องมีขึ้นเพื่อให้เกิดการพูดคุยกันในชั้นของผู้แทนฯ ในทุกระดับ ซึ่งการนิรโทษกรรมนั้นมันจะผ่านไม่ได้ ถ้าผู้นำทางการเมืองไม่มี ’Political View‘ หรือความปราถนาในการเมืองเพื่อต้องการยุติความรุนแรงให้เกิดสันติภาพในบ้านเมือง
ศาสตราจารย์วิชา ยังกล่าวถึงสถานการณ์ในระดับโลกอีกว่า สหรัฐอเมริกาทราบดีว่าไม่สามารถพูดคุยกับอิหร่าน เพื่อหาข้อยุติในกรณีกบฎฮูตีก่อสงครามในทะเลแดงได้ จึงใช้ประเทศไทยเป็นเวทีแห่งสันติภาพเพื่อพูดคุยกับ ’หวัง อี้‘ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์วิชา ยังมองอีกว่า การนิรโทษกรรมไม่ใช่การเอาชนะหรือแพ้ ไม่มีใครได้เต็มร้อย และไม่มีใครเสียเต็มร้อย ทุกคนมีทั้งได้ และเสีย แต่สิ่งได้เหนือกว่านั้นคือ ความสงบสุขในบ้านเมือง เป็นจุดเริ่มต้นทำให้เมืองไทยสง่างามในสายตาโลก
‘จตุพร’ ชี้หากนิรโทษฯ ไม่ครบ อย่าทำ
จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคณะหลอมรวมประชาชน กล่าวถึงข้อเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน และการปรองดองสมานฉันท์ที่แท้จริงว่า นับแต่สมัยการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ตนเองเป็นผู้ที่โดนคดีมากที่สุด
ขณะที่ความขัดแย้งเหลือง-แดง หรือระหว่างฝ่ายต่อต้าน และสนับสนุน ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น ในส่วนของนักการเมืองได้คืนดี และจูบปากจัดตั้งรัฐบาลกันหมดแล้ว เหลือในส่วนของประชาชน โดยในส่วนใหญ่อยู่ในสภาพถูกหามไปชุมนุมกันหมดแล้ว เพราะชราภาพ
จตุพร กล่าวต่อว่า สิ่งที่เพิ่มมาคือเหตุการณ์ในปี 2563 ตนเองเป็นคนติดคุก 2 แผ่นดิน และได้เห็นเรื่องราวในคุกมากมาย โดยเฉพาะกลุ่มนักโทษ ม.112 ในช่วงรอยต่อของรัชกาลที่ 10 พบว่า คดี ม.112 ในชั้นศาลทั้งหมด รวมถึงในชั้นอัยการสืบสวน จะยกฟ้องทั้งหมด และอภัยโทษย้อนหลังด้วย ทำให้เห็นว่า เรื่องนี้ผู้ปกครองก็มีส่วน
"วันนั้นถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เล่าเรื่องนี้ ที่ผ่านมารู้เฉพาะผู้ที่ต้องดำเนินคดี แต่ยังไม่เป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวาง ก็ พล.อ.ประยุทธ์ การันตีแล้วก็พูดได้พูดเอา สุดท้ายกลับหลังหันมาดำเนินคดี 112 กันอีกรอบหนึ่ง หลังจากพระเจ้าแผ่นดินไม่ประสงค์จะดำเนินคดีตามความคิดที่เกี่ยวข้องกับพระองค์ท่านแล้ว การจะนิรโทษกันสักครั้ง จะนิรโทษให้คนแก่ในชุดความขัดแย้งเก่า แล้วทิ้งเยาวชนทั้งหลายไว้เบื้องหลัง ตนว่าเราจะสร้างพระราชภาระขึ้นมา" จตุพร กล่าว
จตุพร กล่าวว่า สังคมเราต้องจิตใจใหญ่กว้าง และต้องเห็นพระบรมราโชบายของพระมหากษัตริย์ที่ได้ดำเนินการล่วงหน้ากันมาแล้ว ตนเองก็ไม่ได้วิตกในเรื่องการแก้ไข ม.112 หากว่า เข้าบรรจุระเบียบวาระ สามารถเสนอให้ประชุมลับและลงมติ ตนมองว่าไม่มีอะไรน่ากลัวในทางปฏิบัติ คนข้างนอกสภาฯ จะไม่ได้ยินการอภิปรายใดๆ ดังนั้น คนทุกภาคส่วนก็ไม่ควรสร้างปัญหาเพิ่ม ทิ้งคนบางส่วน แล้วสร้างความขัดแย้งขึ้นมาใหม่
"ผมเองเห็นว่า ถ้าเราจะเริ่มต้นนับหนึ่งประเทศสักที และเราก็เห็นพระบรมราโชบายของพระเจ้าแผ่นดินมาแล้ว เป็นที่ประจักษ์ 3 ปี มีหลักฐานชัดเจน ไม่มีทางเป็นอื่นเลย ถ้าให้ก็ให้ทุกคน ถ้าไม่ให้ก็ไม่ต้องให้"
จตุพร ยังย้ำอีกว่า อย่าไปเสียเวลากับการตั้งคณะกรรมการศึกษาฯ ตามที่พรรคเพื่อไทยเสนอ เพราะจะถ่วง วันนี้ทุกอย่างสมประโยชน์จบกันแล้ว ทั้งฝ่ายสนับสนุนและต่อต้านก็มีศูนย์รวมใจอยู่ที่ชั้น 14 หมดแล้ว แต่เราจะทิ้งบรรดาลูกหลานไปได้
สำคัญที่สุดคือ การชุมนุมทางการเมืองเพื่อรักษาประโยชน์ของชาติ อย่างไรก็เป็นของคู่กันกับระบอบประชาธิปไตย ส่วนตัวมองว่า หากจะเริ่มต้นการนิรโทษกรรม ควรปล่อยทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม
"อย่างน้อยที่สุด ผมไม่เชื่อว่าสิ่งต่างๆ ที่เป็นห่วงมันจะแรงขึ้น มีแต่เพียงเบา และถ้าใครทำอีก สังคมก็จะรักษา" จตุพร กล่าวทิ้งท้าย