ไม่พบผลการค้นหา
ครม.อนุมัติหลักการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ หรือวีซ่าประเภท STV พักในประเทศนานสุด 270 วัน เก็บค่าธรรมเนียมต่อวีซ่าครั้งละ 2,000 บาท ย้ำทุกคนต้องผ่านมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 เปิดทางดึงรายได้ท่องเที่ยวชาวต่างชาติดันเศรษฐกิจ 'กรุงไทย' คาดปี 2564 ท่องเที่ยวยังฟื้นไม่ถึงครึ่ง

ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการ แนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV) ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ โดยให้คนต่างด้าวที่มีคุณสมบัติ ดังนี้

1.เป็นบุคคลต่างด้าวที่ประสงค์จะเดินทางมาพำนักระยะยาว (Long Stay) ภายในประเทศไทย

2.ยอมรับการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข ที่ประกาศใช้ภายในประเทศไทย และตกลงยินยอมกักตัวในห้องพักจำนวน 14 วัน (ALSQ)

3.มีหลักฐานสถานที่พักอาศัยระยะยาวภายในประเทศไทย ได้แก่ หลักฐานการชำระเงินค่าโรงแรมที่พัก หรือ โรงพยาบาลที่พัก (AHQ) ภายในประเทศไทย และหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ เช่น หลักฐานการชำระเงินค่าโรงแรมที่พัก ที่จะใช้เป็นที่พักหลังจากออกจากโรงแรมที่พักที่เป็นสถานที่กักตัว หรือโรงพยาบาลที่พัก ตามระยะเวลาที่ ประสงค์จะพำนักระยะยาว ภายในประเทศไทย หรือ หลักฐานสำเนาโฉนดห้องชุดของที่พักอาศัยประเภทคอนโดมิเนียม ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลต่างด้าวหรือบุคคลในครอบครัวของบุคคลต่างด้าว หลักฐานการเช่าที่พักประเภทคอนโดมิเนียมหรือบ้านพัก หลักฐานการชำระเงินดาวน์ของบุคคลต่างด้าวในการซื้อหรือเช่า ที่พักอาศัยประเภทคอนโดมิเนียมที่บุคคลต่างด้าวสามารถซื้อได้ตามกฎหมาย

ทั้งนี้บุคคลต่างด้าวตามเกณฑ์ข้างต้น และผ่านการดำเนินการตามการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด มีสิทธิขอรับการตรวจ ลงตราประเภทนักท่องเที่ยวเป็นพิเศษ Special Tourist Visa (STV) โดยเสียค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา ครั้งละ 2,000 บาทได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลา 90 วัน

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่ครบกำหนดเวลาอนุญาต 90 วันแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคน เข้าเมืองมีอำนาจอนุญาตให้อยู่ต่อไปได้อีก 2 ครั้ง ๆ ละ 90 วัน โดยคนต่างด้าวต้องยื่นคำขอตามแบบ และเสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนด โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศ จนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2564

สำหรับแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษนี้ เพื่อต้องการนำนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวม ซึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวและบุคคลทั่วไป ไม่สามารถเดินทางได้ เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว

แต่เนื่องจากประเทศไทย สามารถบริหารจัดการและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค จนได้รับการจัดอันดับประเทศที่มีความปลอดภัยเป็นอันดับ 1 ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดียิ่ง ทำให้คนต่างด้าวที่เรียกว่ากลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและมีศักยภาพจากทุกประเทศทั่วโลกมีความต้องการเดินทางเข้ามาพร้อม ครอบครัวเพื่อมาพำนักระยะยาว (Long Stay) ภายในประเทศไทย

ทั้งนี้ในระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยมีรายได้หลักจากนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวภายในประเทศไทย นำเงินตราเข้าสู่ประเทศไทยจำนวนไม่น้อยกว่า 2 ล้านล้านบาท เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ภายในประเทศขาดรายได้และได้รับผลกระทบในทุกภาคส่วน รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยว ชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาพำนักระยะยาว (Long Stay) ภายในประเทศไทย ในพื้นที่ปิดที่สามารถ ควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้

'กรุงไทย' ประเมินรายได้ท่องเที่ยวไทย ปีนี้หาย 70% ปีหน้าฟื้นไม่ถึงครึ่งก่อนโควิด

พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยเกี่ยวกับรายได้จากการท่องเที่ยวของไทยในปี 2563 ว่า มีแนวโน้มหดตัวถึง 2.1 ล้านล้านบาท หรือ คิดเป็น 70% เหลือเพียง 9.1 แสนล้านบาท เป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 ที่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติหดตัวจาก 39 ล้านคน เหลือเพียง 6.8 ล้านคน

ส่วนในปี 2564 ประเมินว่าการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงเป็นไปอย่างจำกัด ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจอยู่ที่ 7.6 ล้านคน และรายได้จากการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวเล็กน้อย มาอยู่ที่ 1.24 ล้านล้านบาท ยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิดถึง 59%

"โควิด-19 ทำให้มีผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 27 ล้านคนทั่วโลก ส่งผลให้การท่องเที่ยวระหว่างประเทศหยุดชะงัก และแม้ว่าจะมีวัคซีนก็ไม่สามารถแก้ปัญหาทุกอย่างได้ในทันที เนื่องจากผู้ได้รับวัคซีนยังอาจติดโรคและเป็นพาหะได้ดังนั้น ธุรกิจท่องเที่ยวจำเป็นต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก และต้องตีโจทย์ใหม่ในยุค New Normal ให้ได้ โดยรายได้จากนักท่องเที่ยวไทยในช่วงก่อนโควิด ที่เคยมีเพียง 36% จะมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 70% ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับอานิสงค์จากคนไทยที่เคยเที่ยวนอกกว่า 12 ล้านทริป ที่อาจกลับมาเที่ยวไทยได้ถึงประมาณ 14 ล้านทริปในปีหน้า เนื่องจากการเที่ยวในประเทศ สามารถเที่ยวได้บ่อยกว่าและใช้วันน้อยกว่า"

กิตติพงษ์ เรือนทิพย์ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า ใน New Normal พฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนไทยเปลี่ยนไป โดยมีแนวโน้มเลือกเที่ยวในประเทศก่อน เพราะความเสี่ยงในการติดเชื้อในต่างประเทศยังสูงกว่าเที่ยวในประเทศ โดยเที่ยวใกล้ๆ สั้นๆ ขับรถไป ซึ่งอัตราการเข้าพัก (OR) ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าจังหวัดที่มีค่า OR กลับมาสูงกว่า 50% ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดไม่ไกลจากกรุงเทพฯ เช่น เพชรบุรี และกาญจนบุรี นอกจากนี้คนไทยมีแนวโน้มเลือกเที่ยวสถานที่ Unseen เช่น แหล่งท่องเที่ยวมหัศจรรย์และธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวผจญภัย แหล่งท่องเที่ยวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แหล่งท่องเที่ยวประเพณีวัฒนธรรม และแหล่งท่องเที่ยววิถีชีวิต ซึ่งคนไม่พลุกพล่าน ทำให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวหน้าใหม่

"อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ประกอบการบางรายสามารถปรับตัวรับ New Normal ของนักท่องเที่ยวในประเทศได้ แต่ในภาพใหญ่ หากยังไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ รายได้ท่องเที่ยวไทยยากที่จะกลับมาสู่จุดเดิม ในปีหน้าไทยอาจมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 9 แสนคน หรือมากถึง 14.9 ล้านคน ขึ้นอยู่กับแนวทางการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งในขณะนี้ก็มีหลายแนวทางที่น่าสนใจ ได้แก่ การเลือกเปิด Travel Bubble กับกลุ่มประเทศแถบเอเชียที่มีอัตราผู้ติดเชื้อใหม่ต่ำ อย่าง จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ เวียดนาม ไต้หวัน หรือการเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวประเภทเกาะที่มีสนามบิน เช่น ภูเก็ต สมุย ที่ในภาวะปกติมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวถึง 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวที่มาไทยทั้งหมด หรือการเปิดรับนักท่องเที่ยวกลุ่ม Medical ที่มารักษาตัวหรือทำศัลยกรรม ตลอดจนกลุ่มที่มาตีกอล์ฟ หรือกลุ่มที่มาเที่ยวระยะยาว ซึ่งมีการใช้จ่ายต่อทริปสูงกว่าค่าเฉลี่ยอย่างน้อย 2 เท่า"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: