สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนในโครงการวิจัยการพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษา เพื่อส่งเสริมสุขภาวะเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ในพื้นที่ ตำบลหางดง อำเภอฮอด จ.เชียงใหม่ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ชูเป้าหมายพัฒนาความรู้ความสามารถตามความสนใจของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เพื่อต่อยอดไปสู่อาชีพในอนาคต และการอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีความสุข
พระครูสิริอินทวงศ์ เลขานุการเจ้าคณะ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ต้องหาความหมายของคำว่าพิเศษให้ได้เหมาะสมกับตัวเด็ก ต้องยอมรับว่าเด็กกลุ่มนี้ ไม่สามารถเรียนได้เหมือนเพื่อน โดยเฉพาะเรื่องทางวิชาการ แต่ที่ผ่านมาเมื่อใช้คำว่าเด็กพิเศษยังเกิดแนวคิดในเชิงลบ วิธีแก้คือ หาคำใหม่แทนเช่น เด็กมีความสามารถเฉพาะทาง เมื่อมีคำนี้ออกมาทำให้เกิดภาพบวกมากขึ้นกับเด็ก เมื่อเราทำให้เด็กรู้ถึงความสามารถของตัวเอง จะรู้ถึงความบกพร่องของตัวเอง กลายเป็นการพัฒนาตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสาร และเมื่อสื่อสารได้จะรู้ว่าเด็กกลุ่มนี้ต้องการอะไร และพัฒนาไปพร้อมๆ กันได้
นายพัฒนพงศ์ พวงทอง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกเชียงใหม่ เขต5 กล่าวว่า ในเขตพื้นที่การศึกษามีเด็กพิเศษมากกว่าหนึ่งพันคน แม้จำนวนไม่มากเมื่อเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ แต่คุณค่าความเป็นคนนั้นมีค่า ต้องให้ความเสมอภาค และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพราะปัจจุบันนี้การจัดการศึกษาของเด็กยังขาดความเสมอภาค โดยส่วนมากครูจะเน้นสอนเด็กปกติเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เด็กพิเศษถูกจัดไว้ท้ายสุด จึงมองว่าควรทำให้เกิดความเสมอภาคจริงๆ เสียที
นายคงศักดิ์ เสวลากี ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนชุมชนบ้านแม่ทัง จ.เชียงใหม่ ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทุกคนมักมองว่าเด็กกลุ่มนี้จะเป็นเด็กที่ไม่เต็ม มีการเรียนการสอนแบบเด็กปกติ แต่สิบปีที่ผ่านมามีครูที่ได้รับการอบรมเพื่อเด็กพิเศษ คือ ครูประจำการ ไม่ได้ดูแลเท่าที่ควร เด็กถูกตีกรอบด้วยการเรียนของ สพฐ. สุดท้ายอยู่ในระบบครูประจำชั้น ไม่มีกิจกรรมพิเศษสำหรับเด็กพิเศษ เมื่อเรียนไม่ได้จะถูกออกไปนั่งนอกห้อง เมื่อจบชั้นประถมขึ้นมัธยม ไม่สามารถปรับตัวได้ทำให้ต้องออกจากการเรียน ถือเรื่องสำคัญผู้ปกครองต้องมีความเข้าใจ และที่สำคัญชุมชนต้องมีส่วนร่วม โดยมีข้อกำหนด หรือ ทีโออาร์ เป็นตัวสร้างความร่วมมือ เมื่อได้ความร่วมมือแล้ว จากนั้นจัดเวทีให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยกัน จัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อให้ได้ความรู้ไปใช้กับเด็ก จากนั้นคัดเลือกกิจกรรมให้เด็ก พบว่าการเรียนรู้ผ่านโทรศัพท์มือถือได้ผล สร้างการเรียนรู้ดึงความสนใจกับเด็กได้ดี แล้วออกแบบการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับความสนใจ
นายคงศักดิ์ กล่าวว่า เด็กพิเศษส่วนใหญ่ มีปัญหาเรื่องการอ่าน เรื่องอารมณ์กับการเรียนรู้ แต่สามารถพัฒนาได้ โดยใช้กิจกรรม 12 อย่างเข้ามาเป็นเครื่องมือ จนปัจจุบันไม่มีเสียงใครว่าเด็กพิเศษในหมู่บ้านเป็นเด็กปัญญาอ่อน ทุกคนเรียนรู้และมีความเข้าใจ ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ เรื่องเวลาถ้าภาคส่วนต่างๆ หากเวลาไม่ตรงกันจะทำงานได้ยาก รวมถึงเวลาพัฒนาเด็กที่บ้าน และระบบราชการยังติดเรื่องกฎเกณฑ์และเงื่อนไข ทำให้การทำงานยังไม่สะดวกมากนัก
ด้าน สมคิด แก้วเทพ ผู้ปกครองของ ด.ช.กิต อายุ 14 ปี กล่าวว่า ทราบว่าลูกไม่เหมือนคนอื่น หลังจากครูที่โรงเรียนบอกว่าการอ่านการเขียนของลูกช้ากว่าคนอื่น ทางโรงเรียนจึงส่งเข้าอบรมกับโครงการฯ เรื่อยมา ส่วนทางครอบครัวได้ปรับการเลี้ยงลูก โดยให้ลูกทำในสิ่งที่ชอบ คือ สนใจด้านโทรศัพท์มือถือ ถนัดด้านการหาข้อมูล เช่น ค้นหาข้อมูลให้เวลาพ่อต้องการ เวลาฟังเพลง หรือดูหนัง ลูกจะเป็นคนหาให้ หวังว่าในอนาคตอยากให้ลูกได้เรียนทันเพื่อน ๆ รุ่นเดียวกัน และสามารถช่วยเหลือตัวเองได้
ขณะที่ ผศ.เยี่ยมลักษณ์ อุดาการ อดีตคณบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กล่าวว่า การจัดการศึกษาเด็กที่มีความต้องการพิเศษยังคงเป็นปัญหา เพราะการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติโดยเฉพาะในพื้นที่ที่ห่างไกลยังไม่ครอบคลุม ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ไม่มีครูที่จบทางด้านการศึกษาพิเศษเฉพาะทางในขณะนี้ ซึ่งเกิดผลกระทบมาจากการหยุดผลิตครูทางด้านการศึกษาพิเศษในช่วง 5-7 ปีที่ผ่านมา ทำให้ในพื้นที่ยังขาดองค์ความรู้ในการดูแลเด็กที่มีความต้องการพิเศษ จึงต้องหาเครือข่ายนอกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาล สถาบันอุดมศึกษา ศูนย์การศึกษาพิเศษ และหน่วยงานต้นสังกัดของโรงเรียน เข้ามาช่วยเสริมในสิ่งที่พื้นที่ขาด แต่เจ้าภาพหลักยังเป็น โรงเรียน ชุมชน และผู้ปกครอง
“ขอฝากไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระดับผู้บริหารวงการศึกษา ได้ตระหนักว่า สิ่งที่เขียนไว้ในพระราชบัญญัติการจัดการศึกษา ที่บอกว่าเด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษาเท่าเทียม และเสมอภาค โอกาสการศึกษา สิ่งเหล่านี้เราสามารถทำให้เป็นจริงได้ไม่ยาก เพียงแต่ต้องมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของชุมชน และผู้ปกครอง รวมทั้งให้ผู้บริหารในทุกระดับ และครูในโรงเรียน เปิดพื้นที่ให้ทั้งตัวเองได้ก้าวออกมาทำงานร่วมกัน ส่วนในด้านชุมชนขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงมาเติมเต็มพลังผู้นำท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะต่อไปเด็กต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ ให้เชื่อว่าเด็กจะสามารถแสดงศักยภาพออกมาได้เต็มที่ และพัฒนาท้องถิ่นของตัวเองได้อย่างมากในอนาคต” ผศ.เยี่ยมลักษณ์ กล่าว
ด้าน วรวรรณ ชายไพฑูรย์ นักวิเคราะห์และบริหารโครงการ สสส. ระบุว่า จากโครงการวิจัยดังกล่าว ถือว่าเป็นต้นแบบอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ทาง สสส. ได้พัฒนาขึ้นมาไม่นาน สำหรับตัวเป้าหมายหลังจากนี้ในเรื่องของตัวรูปแบบจะเชื่อมกับตัวกระบวนการและรูปแบบที่จะไปขับเคลื่อนกับทางกระทรวงศึกษาธิการ โดยมองว่าเด็กที่มีความต้องการพิเศษเหล่านี้ จะสามารถต่อยอดเป็นอนาคตของชาติได้ เมื่อสามารถผ่านกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าว เพราะการส่งเสริมอาชีพการสร้าง การมีส่วนร่วมในสังคมให้กับเด็ก และพัฒนาให้เด็กเข้มแข็งคือเป้าหมายที่จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น