ไม่พบผลการค้นหา
ปัญหาการยืมสายชาร์จข้ามยี่ห้ออาจหมดไปในสหภาพยุโรป หลังกลุ่มประเทศยุโรปประกาศการออกมาตรการใหม่ ที่จะบังคับให้ทุกบริษัทด้านเทคโนโลยีต้องผลิตผลิตภัณฑ์ของตนเอง ที่จะต้องรองรับหัวชาร์จ USB ชนิด Type-C ภายในช่วงฤดูใบไม้ร่วงของปี 2567

ผลิตภัณฑ์อย่าง iPhone และ iPad ของ Apple เจ้าปัญหาที่ออกแบบช่องชาร์จของตนเองไม่เหมือนเจ้าอื่นอย่างหัวชาร์จ Lightning จะต้องปฏิบัติตามกฎบังคับใหม่นี้ของสหภาพยุโรปด้วยเช่นกัน ในขณะที่อุปกรณ์คอมพิวเตอร์พกพาจะได้รับการยกเว้นจากข้อบังคับดังกล่าวในช่วงแรกเพื่อการปรับตัว

ข้อตกลงดังกล่าวจะได้รับการยื่นขึ้นสู่ชั้นรัฐสภายุโรปและคณะมนตรียุโรป ก่อนที่จะมีการลงนามเพื่อประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ ทาง Apple ยังไม่ได้ออกมาแสดงความเห็นใดๆ เพิ่มเติม ต่อมาตรการดังกล่าวแต่อย่างใด

เมื่อช่วง ก.ย. 2564 ตัวแทนของ Apple ได้ให้สัมภาษณ์กับทาง BBC ว่า “มาตรการที่เข้มงวดซึ่งบังคับให้ใช้แค่ตัวเชื่อมต่อประเภทเดียว จะยับยั้งนวัตกรรมมากกว่าการส่งเสริมมัน ซึ่งจะกลายมาเป็นภัยอันตรายต่อผู้บริโภคในยุโปและทั่วโลก”

ปัจจุบัน Apple ยังคงเดินหน้าการใช้หัวชาร์จแบบ Lightning โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์ iPhone ของตัวเองอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กฎตัวใหม่ของทางสหภาพยุโรปจะบังคับให้ “อุปกรณ์ไฟฟ้าพกพาขนาดเล็กไปจนถึงขนาดกลาง” จะต้องหัวมีชาร์จแบบ Type-C ตั้งแต่โทรศัพท์เคลื่อนที่ แท็บเล็ต หูฟัง เครื่องเกมแบบกดมือ ไปจนถึงลำโพงแบบพกพา

ทุกบริษัทที่อุปกรณ์ของตนมีช่องชาร์จไฟฟ้าซึ่งวางขายและใช้งานในสหภาพยุโรป จะต้องออกแบบให้อุปกรณ์ของตนเองรองรับหัวชาร์จแบบ Type-C เท่านั้น ในขณะที่คอมพิวเตอร์พกพาจะต้องปฏิบัติตามด้วยเช่นกัน แต่สหภาพยุโรปจะผ่อนผันเวลาการผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์พกพา ที่ยังไม่รองรับหัวชาร์จแบบ Type-C เป็นเวลา 40 เดือน ก่อนที่ทางบริษัทจะต้องปฏิบัติตามกฎเมื่อเวลาผ่อนผันหมดลง

มาตรการใหม่นี้จะเอื้อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกได้ว่า ตนต้องการสายชาร์จมาพร้อมกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชิ้นใหม่ของตนหรือไม่ “กฎหมายนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของสภาพยุโรปในวงกว้าง ที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์ในสหภาพยุโรปมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น และช่วยลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ และทำให้ชีวิตของผู้บริโภคสะดวกสบายขึ้น” ทางการสหภาพยุโรประบุ

นอกจากนี้ สหภาพยุโรปเปิดเผยว่า ผู้บริโภคในภูมิภาคยุโรปจะประหยัดเงิน “ขึ้นไปถึง 250 ล้านยูโร (ประมาณ 9.2 พันล้านบาท) ต่อปี จากการซื้อหัวชาร์จที่ไม่จำเป็น” และลดการเกิดขยะได้กว่าอีก 11,000 ตันต่อปี


ที่มา

https://www.bbc.com/news/technology-61720276