การโจมตีทางอากาศที่เกิดขึ้น สั่นคลอนข้อตกลงที่รัสเซียและตุรกีเป็นตัวแทนเจรจาหยุดยิงเมื่อเดือนกันยายน 2018 เป็นการบีบให้พลเรือนอพยพออกจากพื้นที่ และส่งผลให้ซีเรียจวนจะถึงจุดที่เป็นภัยพิบัติด้านมนุษยธรรมที่ร้ายแรงที่สุดในรอบ 8 ปี ตั้งแต่เกิดสงครามกลางเมืองขึ้น
ภายหลังมีการทิ้งระเบิดเมื่อวันอังคาร ซึ่งส่งผลให้มีพลเรือนเสียชีวิตอย่างน้อย 27 ราย ซึ่งเป็นการโจมตีที่มีพลเรือนเสียชีวิตมากที่สุดภายในการโจมตีเพียงครั้งเดียวนับตั้งแต่รัฐบาลซีเรียยกระดับการโจมตีในเดือนเมษายน ในวันพุธที่ 29 พฤษภาคมนี้ ก็ยังคงมีการทิ้งระเบิดต่อเนื่อง
จากการรายงานของกลุ่มสังเกตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในซีเรีย (Syrian Observatory for Human Rights) ผู้เสียชีวิตในวันพุธ 7 ราย เสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศยังหมู่บ้านซาร์จาในจังหวัดอิดลิบซึ่งส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มฮายัต ทาห์รี อัลชาม ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของอดีตสมาชิกอัลกออิดะห์สาขาซีเรีย ส่วนผู้เสียชีวิตอีก 4 ราย คือพ่อและลูกๆ อีก 3 คนในหมู่บ้านบารา และอีก 2 รายเสียชีวิตในเมืองเบียต
"การทิ้งระเบิดโดยรัฐบาลและรัสเซียยังคงรุนแรงในหลายพื้นที่ การโจมตีของรัสเซียมุ่งเป้าไปที่เมืองคาห์นไชคูน แต่ยังไม่มีผู้เสียชีวิตในตอนนี้" รามี อับเดล ราห์มาน ผู้อำนวยการกลุ่มสังเกตการณ์ฯ กล่าว
ทางรัฐบาลซีเรียยังไม่มีการประกาศจู่โจมอย่างเต็มรูปแบบเพื่อยึดคืนดินแดนแทรกทั้งหมดที่กลุ่มญิฮาดควบคุมอยู่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เป็นบ้านของพลเรือนกว่า 3 ล้านคน
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีซีเรีย บาชาร์ อัล-อัสซาด และพันธมิตร จะยังคงโจมตีพื้นที่ดังกล่าวต่อไป แต่ไม่มีการจู่โจมครั้งใหญ่ซึ่งจะทำให้เกิดความโกลาหลขึ้นกับชายแดนทิ่มีพื้นที่ติดต่อกับตุรกี รัฐบาลของอัสซาด มีแนวโน้มที่จะใช้กำลังทหารกดดันต่อไป ขณะที่พยายามรักษาข้อตกลงหยุดยิงไว้ เพื่อเลี่ยงการเกิดภัยพิบัติต่อมนุษยธรรมในวงกว้าง
กลุ่งสังเกตการณ์ฯ ชี้ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตในจังหวัดอิดลิบและบริเวณโดยรอบนับตั้งแต่เดือนเมษายนมีจำนวนมากกว่า 270 ราย
เออร์ซูลาร์ มุลเลอร์ ผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติ ฝ่ายกิจการมนุษยธรรม ชี้ว่านับตั้งแต่มีการโจมตีที่อิดลิบในเดือนเมษายน มีผู้อพยพจากพื้นที่แล้วกว่า 270,000 คน
ที่มา : AFP