ไม่พบผลการค้นหา
สดร.ใช้เครื่อง "ไลดาร์" ติดตามปัญหาฝุ่น PM2.5 พบไม่ได้มาจากเผาป่า-ไอเสียเท่านั้น แต่ยังเกิดจากต้นไม้ปล่อยก๊าซ เดินหน้าวิจัยหาสัดส่วน หวังตอบโจทย์แก้ปัญหาตรงจุด พร้อมจัดตั้งภาคีความร่วมมือวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศของประเทศ

ดร.วนิสา สุรพิพิธ นักวิจัยชำนาญการ หนึ่งในทีมวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. พาชมอุปกรณ์ที่เรียกว่า "ไลดาร์" (Light Detection and Ranging Radar: LiDAR) ที่ติดตั้งภายในอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เป็นเครื่องมือวิจัยและเก็บข้อมูลการสังเกตการณ์ชั้นบรรยากาศ ตั้งแต่ระดับพื้นดินขึ้นไปจนถึงระดับความสูง 20 กิโลเมตร สามารถวิเคราะห์ค่าความเข้มข้นของ PM 2.5 ได้อย่างแม่นยำ และบ่งชี้คุณภาพอากาศที่มีผลกระทบต่อมนุษย์และระบบนิเวศของโลก


21-2-2563 10-20-17.jpg


พร้อมกับบอกว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้รับผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้ง ความแปรปรวนของฤดูกาล และ อุณหภูมิของโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลต่อคุณภาพอากาศอย่างมาก หลายพื้นที่ประสบปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และ มลพิษทางอากาศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สดร. เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหานี้ จึงจัดตั้งกลุ่มวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศ ศึกษาวิจัยด้านวิทยาศาสตร์บรรยากาศมาอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมตั้งแต่ผลกระทบจากอนุภาคที่มาจากอวกาศต่อชั้นบรรยากาศ จนถึงการศึกษาการเกิดและการเคลื่อนตัวของฝุ่นละอองขนาดเล็กในชั้นบรรยากาศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย หาสาเหตุและเฝ้าระวังการเพิ่มขึ้นของฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเกิดขึ้นทุกปีในช่วงฤดูแล้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศเป็นแอ่ง

จนพบว่า ฝุ่น PM2.5 ไม่ได้มาจากการเผาในที่โล่ง หรือ ไอเสียจากยานพาหนะ เพียงเท่านั้น แต่งานวิจัยนานาชาติ บอกด้วยว่าปัญหาฝุ่น ยังเกิดจากต้นไม้และพืชที่ปลดปล่อยสารประกอบไฮโดรคาร์บอน ประเภทสารอินทรีย์ระเหยง่าย เช่น ก๊าซไอโซพรีน ก๊าซโมโนเทอร์พีน ฯลฯ โดยเฉพาะต้นยางพาราและปาล์ม ก๊าซเหล่านี้จะทำปฏิกิริยากับไนโตรเจนออกไซด์ โดยมีแสงอาทิตย์ที่ตกกระทบในชั้นบรรยากาศใกล้พื้นผิวโลกเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา เกิดเป็นก๊าซโอโซนและอนุภาคขนาดเล็ก   


21-2-2563 10-17-32.jpg


นอกจากนี้ ยังมาจากการใช้ประโยชน์จากที่ดิน โดยเฉพาะแหล่งที่มาจากการใช้ปุ๋ยในการเกษตรที่มีส่วนผสมของไนโตรเจน ซึ่งสารตั้งต้นของ PM 2.5 คือ ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์และแอมโมเนีย

โดยปกติ อนุภาค PM2.5 จะถูกปล่อยจากต้นไม้ และ การใช้ประโยชน์จากที่ดิน ตลอดทั้งปีตามธรรมชาติ เพียงแต่จะสังเกตเห็นได้ง่ายในฤดูหนาวที่ท้องฟ้าใส ทำให้มองเห็นเป็นฟ้าหลัว และเมื่อเกิดการเผาป่าในช่วงฤดูแล้ง อนุภาคขนาดเล็กเหล่านี้จะรวมกัน เพิ่มปริมาณฝุ่นขนาดเล็กในอากาศ กลายเป็นมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ     

ดร.วนิสา กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งหมดนี้อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย คาดว่าอีกภายใน 2 ปี จะได้คำตอบว่า ต้นไม้และพืชชนิดใดที่ปล่อย PM2.5 และ สัดส่วนการปล่อยมากน้อยแค่ไหน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศของประเทศไทยได้อย่างตรงจุดในอนาคต โดยในการศึกษาวิจัยได้อาศัยเครื่องมือ ได้แก่ แบบจำลองคณิตศาสตร์สำหรับพยากรณ์คุณภาพอากาศ เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุและแหล่งกำเนิดที่แท้จริง

21-2-2563 10-20-37.jpg

ขณะที่ อุปกรณ์ "ไลดาร์" ขณะนี้ติดตั้งไว้ 2 จุด ในประเทศไทย ได้แก่ ภายในอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ และ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา อ.เมือง จ.สงขลา     

ด้าน ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า การวิจัยด้านวิทยาศาสตร์บรรยากาศของประเทศไทยปัจจุบันยังไม่ปรากฏแนวทางการวิจัยที่ชัดเจนรอบด้าน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิจัยดังกล่าวยังกระจายอยู่ในมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศ ภายหลังจัดตั้ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และ นวัตกรรม สดร. จึงริเริ่มจัดทำแผนบูรณาการวิจัยด้านคุณภาพอากาศ (Air Quality Research Programs) ของประเทศ และจัดตั้งภาคีความร่วมมือวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศแห่งประเทศไทย ระดมคณาจารย์ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญจาก 8 หน่วยงานภาครัฐ 20 มหาวิทยาลัย ร่วมวิจัยและส่งเสริมการทำวิจัยด้านวิทยาศาสตร์บรรยากาศและคุณภาพอากาศของประเทศให้มีประสิทธิภาพ บูรณาการทรัพยากรทางการวิจัยทั้งที่อยู่ในมหาวิทยาลัย และหน่วยงานต่างๆ ร่วมกัน เพื่อให้การทำวิจัยสามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาเร่งด่วนของรัฐบาลได้อย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพ