ไม่พบผลการค้นหา
กรมควบคุมโรค ติดตามสถานการณ์โรคหัดของประเทศไทยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเด็กที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง รวมถึงเด็กต่างด้าว กลุ่มผู้ใหญ่ที่อยู่รวมกันเป็นคนหมู่มาก โดยปีนี้พบผู้ป่วยยืนยันโรคหัดแล้ว 301 ราย

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคหัด เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัส สามารถแพร่ระบาดได้ง่ายผ่านการไอ จามหรือพูดกันในระยะใกล้ชิด มักพบการระบาดในที่รวมคนหมู่มาก เช่น เด็กในศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน ชุมชนหรือสถานที่ที่มีคนอยู่หนาแน่น ผู้ที่ได้รับเชื้อมักจะมีอาการเริ่มต้นคล้ายไข้หวัด คือมีไข้ น้ำมูก ไอแห้งๆ และเริ่มมีผื่นนูนแดงใน 3-4 วันต่อมา โดยผู้ป่วยบางรายที่มีภาวะแทรกซ้อนอาจมีอาการรุนแรงถึงเสียชีวิตได้

ในระยะที่ผ่านมา ได้เกิดการระบาดของโรคหัดในหลายประเทศทั่วโลก โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา พบรายงานผู้ป่วยโรคหัดในทุกภูมิภาคของโลก โดยมีจำนวนผู้ป่วยสูงสุดในอินเดีย 65,657 ราย รองลงมาคือยูเครน 36,520 ราย และฟิลิปปินส์ 16,112 ราย ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบการระบาดในประเทศบราซิล เยเมน ไนจีเรีย คองโก เซอร์เบีย มาดากัสการ์ ซึ่งล้วนได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่พบผู้ป่วยโรคหัดเป็นจำนวนมาก 

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับในประเทศไทย กรมควบคุมโรค โดยสำนักระบาดวิทยา ได้ติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคหัดอย่างใกล้ชิด พบว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดการระบาดของโรคหัดในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กก่อนวัยเรียนและเด็กนักเรียนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด ประกอบกับเด็กจำนวนมากมีภาวะทุพโภชนาการ ทำให้เด็กมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงเนื่องจากเกิดภาวะแทรกซ้อน

ทั้งยังพบผู้ป่วยในประชากรกลุ่มเสี่ยงในจังหวัดอื่นๆ เช่น เด็กต่างด้าวที่เข้ามาอาศัยอยู่ในจังหวัดที่ติดชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน และกลุ่มผู้ใหญ่ที่อยู่รวมกันเป็นคนหมู่มากตามสถานประกอบการ ค่ายทหาร เรือนจำ เป็นต้น จากข้อมูลเฝ้าระวังโรค พบว่าในปี 2561 ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันโรคหัดทั่วประเทศ 3,590 ราย เสียชีวิต 23 ราย ส่วนในปี 2562 นี้พบผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นโรคหัดแล้ว 301 ราย เสียชีวิต 4 ราย

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้มีการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคหัดแก่เด็ก จำนวน 2 ครั้ง เมื่ออายุ 9 เดือน และ 2 ปีครึ่ง ซึ่งผู้ปกครองสามารถพาบุตรหลานไปขอรับวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าวได้ตามสถานบริการสาธารณสุขของรัฐทุกแห่งทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ยังได้มีการดำเนินโครงการกำจัดโรคหัดอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2553 โดยมุ่งหวังที่จะลดจำนวนผู้ป่วยลงไม่เกิน 1 รายต่อประชากร 1 ล้านคน หรือเทียบเท่ากับ 65 คน ภายในปี 2563 ประเทศไทยจึงมีความจำเป็นต้องยกระดับภูมิคุ้มกันโรคของประเทศให้เพียงพอต่อการป้องกันการระบาด ซึ่งยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก