จากกรณีสถานีตำรวจภูธรยะหา จ.ยะลา ออกประกาศว่า นำร่องจับ "แต่งงาน” หากพบเห็น “ชาย/หญิง” ที่มิใช่สามีภรรยา มีพฤติกรรมในลักษณะเชิงชู้สาว ในที่สาธารณะหรือที่ลับตาคน หากพบเห็นหรือจับได้ สถานีตำรวจภูธรยะหาและคณะกรรมการมัสยิดจะดำเนินการตามมาตรการทางสังคม ยุติธรรมทางเลือก หรือ ฮูกมปากัต 4 ฝ่าย ดังนี้
ล่าสุด อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน โพสต์ข้อความถึงกรณีดังกล่าวว่า ควรมีการตรวจสอบคำสั่งหรือนโยบายของผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรยะหาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง และชอบด้วยคำสั่งทางปกครองหรือไม่
ทั้งนี้ อังคณา ได้อธิบายเพิ่มเติ่มว่ากฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวมรดก พ.ศ. 2489 ซึ่งใช้ใน 4 จชต. เป็นกฎหมายที่ครอบคลุมเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องการสมรส การสิ้นสุดการสมรส และการจัดการทรัพย์มรดก แต่ไม่ได้ให้อำนาจ จนท. บุคคล หรือกลุ่มบุคคลใดในการบังคับให้หญิง หรือเด็กหญิงต้องแต่งงานโดยไม่สมัครใจ
"เคยเจอเด็กหญิงคนหนึ่งถูกชายที่มีลูกเมียแล้วหลอกให้มาเจอ แล้วถูกผู้นำศาสนาบังคับให้เด็กหญิงต้องแต่งงานโดยไม่สมัครใจ โดยอ้างว่าทำผิดศาสนา ผิดกฎหมู่บ้านโดยอยู่กับผู้ชายสองต่อสอง นอกจากนั้นยังปรับแม่ของเธอฐานทำให้เสื่อมเสียงแก่ชุมชน เด็กหญิงปฏิเสธการแต่งงานเพราะต้องการเรียนหนังสือจึงหนีออกจากหมู่บ้าน ขณะที่ครอบครัวของเธอถูกผู้นำในหมู่บ้านคุกคาม และชักชวนไม่ให้ชาวบ้านคบหาเนื่องจากอ้างว่าครอบครัวของเธอได้ทำบาปร้ายแรง ปัจจุบันหญิงคนนี้ยังกลับบ้านไม่ได้"
อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวเสริมว่า การบังคับแต่งงานเพื่อรักษาเกียรติของครอบครัวหรือชุมชน หรือแม้กระทั่งการจัดการความต้องการทางเพศของเยาวชนด้วยการบังคับแต่งงาน เป็นอีกสถานการณ์ที่น่ากังวลเพราะจะทำให้ผู้หญิง/เด็กหญิงตกอยู่ในภาวะขมขื่นไปตลอดชีวิต มีหลายกรณีที่หลังจากถูกบังคับแต่งงานไม่นานเกิดการหย่าร้าง ประเทศมุสลิมหลายประเทศ รวมถึงองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) เสนอว่าประเทศมุสลิมต้องแก้ไขโดยให้เด็กและเยาวชนมีโอกาสได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น และให้ทั่วถึงมากขึ้น รวมถึงสร้างสถาบันครอบครัวที่เข้มแข็ง ให้พ่อแม่สามารถมีเวลาเอาใจใส่ครอบครัว กรณีครอบครัวใน จชต. พบว่าครอบครัวเป็นลักษณะ #ผัวเดียวหลายเมีย เนื่องจากชายมีภรรยาได้ 4 คน ทำให้ไม่มีเวลาดูแลลูกๆได้ทั่วถึง #การบังคับเด็กแต่งงานจึงไม่ใช่ทางออกของปัญหาแต่กลับจะสร้างปัญหามากขึ้น
ตามหลักการอิสลามเป้าหมายของการแต่งงานจะให้ความสำคัญที่ “การสร้างครอบครัว” มากกว่า “การมีเพศสัมพันธ์” ดังนั้น ทุกฝ่ายจึงควรระมัดระวังการใช้ศาสนาเป็นข้ออ้างเพื่อเป็นเหตุผลในการรองรับการแต่งงานของเด็กและเยาวชนเพียงเพื่อสนองความต้องการมีเพศสัมพันธ์ แม้กฎของชุมชนและการจัดการเพื่อปกป้องเกียรติของชุมชนจะมีความสำคัญมากในท้องถิ่น แต่ต้องพิจารณาด้วยว่ากฎชุมชนขัดกับหลักการศาสนา หรือหลักกฎหมายบ้านเมืองโดยเฉพาะรัฐธรรมนูญหรือไม่ และสามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนหรือไม่
มีตัวอย่างบทบันทึกวัตรปฏิบัติ (ซุนนะฮฺ) ของท่านศาสดามุหัมมัด (ซ.ล.) ที่กล่าวถึงตอนที่ท่านได้ยุติการแต่งงาน (ประกาศให้การแต่งงานนั้นเป็นโมฆะ) ของซอฮาบะฮฺ (สาวก) คนหนึ่ง เมื่อท่านศาสดา (ซ.ล.) ได้รับทราบว่าซอฮาบะฮฺผู้นั้น (สาวก) ท่านนั้นได้บังคับลูกสาวของเขาให้แต่งงาน
"ประสบการณ์ส่วนตัวพบว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างจำกัดในการจัดการปัญหาต่างๆ ในครอบครัวและชุมชน เช่น ความรุนแรงในครอบครัว การหย่า การจ่ายค่าเลี้ยงดู การจัดการทรัพย์สิน รวมถึงการบังคับแต่งงาน เนื่องจากกฎหมายอิสลามที่ใช้อยู่ในพื้นที่ขาดความชัดเจน ในแง่การตีความซึ่งไม่แน่นอน เพราะขึ้นกับผู้นำศาสนาแต่ละคน"
โดยไม่มีประมวลหลักเกณฑ์การตัดสินตามกฎหมายอิสลามอย่างเป็นทางการ อีกทั้งผู้นำศาสนาในระดับชุมชนและระดับจังหวัดล้วนเป็นผู้ชาย ซึ่งอาจไม่เข้าใจในปัญหาต่างๆ ที่ผู้หญิงเผชิญอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงต่อผู้หญิงอันเนื่องมาจากฐานคิดเรื่องเพศสภาพ รวมถึงกฎชุมชนที่ปฏิบัติโดยอ้างความยุติธรรม วัฒนธรรมและศาสนาซึ่งขาดการตรวจสอบ อีกทั้งผู้หญิงยังไม่สามารถอุทธรณ์ต่อรัฐได้กรณีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม
กฎชุมชนที่ปฏิบัติกันมาในหลายกรณีไม่สอดคล้องกับหลักศาสนาอิสลามที่ให้ความสำคัญในเรื่องความรัก ความเมตตา ความยุติธรรม และความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย และมาตรฐานสากลในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง
กรณีความรุนแรงในครอบครัวและการเข้าถึงความยุติธรรมของหญิงมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่ามีจำนวนน้อยมากที่คดีความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศถูกนำขึ้นสู่การพิจารณาของศาล โดยที่ส่วนมากพนักงานสอบสวนมักให้ผู้นำศาสนาทำการไกล่เกลี่ย จึงเห็นได้ว่าสัมพันธภาพระหว่างหญิงชายที่ไม่เสมอภาคกันมีความสำคัญมากต่อการสร้างครอบครัว เช่น การมีภรรยาหลายคน ความไม่เท่าเทียมด้านการสมรสและการหย่า การบังคับแต่งงานในวัยเด็ก การจำยอมสามีเรื่องการเว้นระยะการมีบุตรทั้งที่ผู้หญิงมีปัญหาสุขภาพ การสั่งสอนเมียด้วยการทุบตี เป็นการขัดกับปรัชญาพื้นฐานของอิสลามที่ให้ความสำคัญกับความยุติธรรม ความรัก ความเมตตา ความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
(แนะนำอ่าน: #ข้อเสนอแนะการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงมุสลิมใน จชต., กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, กันยายน 2561 – คำนำโดย ผศ. ดร. อับดุลเลาะ หนุ่มสุข ผู้อำนวยการสถาบันวะสะฎียะฮฺเพื่อสันติภาพและการพัฒนา สำนักจุฬาราชมนตรี)