ไม่พบผลการค้นหา
สแกนงบประมาณ 2565 ที่กำลังเข้าสภา วาระ 1 แอบส่องงบทหาร - รวมการลดงบสวัสดิการ
  • ร่างงบประมาณปี 2565 กำหนดยอดรวมงบประมาณรายจ่าย 3,100,000 ล้าน ลดลงจากปีก่อน 1.85 แสนล้านบาท หรือลดลง 5.66%
  • เป็นงบประมาณขาดดุลที่ต้องกู้ชดเชยงบประมาณ 700,000 ล้าน คิดเป็น 22% ของงบประมาณ เป็นการกู้เต็มวงเงินตามกฎหมายกำหนดและจำนวนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์
  • ในงบรวมนั้น แบ่งเป็นงบบุคลากรไปแล้ว 770,000 ล้าน หรือ 1 ใน 4
  • ทุกกระทรวงปรับงบประมาณลดลงหมด มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป ยกเว้น

 คลัง เพิ่มราว 5,500 ล้าน

 พม. เพิ่มราว 2,000 ล้าน

 องค์กรอิสระและองค์กรอัยการ เพิ่มราว 700 ล้าน

 พลังงาน เพิ่มราว 400 กว่าล้าน

 นอกจากนี้ยังมีการก่อตั้งหน่วยงานใหม่ (ใช้งบกลาง) เช่น สำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ 145 ล้านบาท

  • กระทรวงสำคัญๆ ที่ถูกปรับลดงบประมาณ เช่น

 งบกลาง ลดราว 43,500 ล้าน ( ลดจากปีก่อน 7.1%)

 แรงงาน ลดเกือบ 20,000 ล้าน (ลดจากปีก่อน 28.7%)

 ศึกษาธิการ ลดราว 24,000 ล้าน ( ลดจากปีก่อน 6.7%)

 มหาดไทย ลดราว 17,000 ล้าน (ลดจากปีก่อน 5.1%)

 กลาโหม ลดราว 11,200 ล้าน (ลดจากปีก่อน 5.2%)

 จังหวัดและกลุ่มจังหวัด ลดราว 5,700 ล้าน (ลดจากปีก่อน 24.7%)

 สาธารณสุข ลดราว 4,300 ล้าน (ลดจากปีก่อน 2.7%)

 อปท. ลดราว 7,300 ล้าน (ลดจากปีก่อน 9.4%)

  • ข้อวิจารณ์หนาหูคือในสถานการณ์ปัจจุบันที่โควิด-19 ระบาดหนัก

1.เหตุใดจึงตัดลดงบด้านสาธารณสุข (ข้อนี้อาจต้องตรวจสอบเชื่อมโยงกับพ.ร.ก.ที่กู้มาเพื่อจัดการปัญหาโควิด)

2.เหตุใดจึงลดงบการศึกษา ทั้งที่นักเรียนประสบปัญหาการเรียนออนไลน์

3.เหตุใดจึงตัดลดงบโครงการสวัสดิการ/ช่วยเหลือประชาชนที่มีอยู่เดิม

  • หากดูในรายละเอียดจะพบว่า มีการลดงบที่สำคัญๆ เช่น

*ด้านสาธารณสุข*

- ลดกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 1,800 ล.

- ลดกรมควบคุมโรค 500 ล. ( อย.เพิ่ม 150 ล./สพฉ. 200 ล.)

*ด้านการศึกษา*

-ลดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 21,000 ล.

-ลดอาชีวะ กว่า 1,000 ล.

-ลดงองค์การมหาชนที่ประเมินคุณภาพการศึกษา รวม 600 ล.

-ลดงบกรมพลศึกษาลงครึ่งหนึ่ง

*ด้านสวัสดิการ*

-ลดงบกองทุนประชารัฐสวัสดิการฯ 19,500 ล.

-ลดงบกองทุนประกันสังคม เกือบ 20,000 ล.

-ลดงบ ขสมก. 300 ล. (แต่เพิ่มงบ รฟท. 400 ล.)

*อื่นๆ*

-ลดงบกองทุนยุติธรรม จาก 150 ล. เหลือ 30 ล.

-ลดงบราชทัณฑ์ 500 ล.

-ลดงบ ป.ป.ส. 1,000 ล. (เพิ่งงบป.ป.ช. 200 ล.)

-ลดงบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 6,800 ล.

-ลดงบกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2,200 ล. (เพิ่มงบกรมโยธาฯ 2,000 ล.)

-ลดงบศอ.บต. 400 ล.

-ลดงบ กอ.รมน. 1,000 ล. (เพิ่มงบสำนักข่าวกรอง 137 ล.)

-ลดงบ ธกส. 1,200 ล.

-ลดงบธนาคารออมสิน 1,400 ล.

-ลดงบธนาคาร SME 120 ล.

-ลดบรรษัทสินเชื่อเพื่ออุตสาหกรรมขนาดกลางย่อม 2,000 ล.

-ลดสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางย่อม 300 ล.

-ลดงบกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย นวัตกรรม 5,000 ล.

  • งบกองทัพ

 โครงสร้างในกระทรวงกลาโหมแบ่งเป็นหลายส่วน แต่หลักๆ ใช้งบประมาณจำนวนมาก คือ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กองบัญชาการกองทัพไทย

 กองทัพบกใช้งบรวม 99,300 ล้าน ในจำนวนนี้เป็นงบบุคลากร 58,000 ล้าน

 กองทัพเรือใช้งรวม 41,300 ล้าน ในจำนวนนี้เป็นงบบุคลากร 20,300 ล้าน

 กองทัพอากาศใช้งบรวม 38,400 ล้าน ในจำนวนนี้เป็นงบบุคลากร 25,400 ล้าน

 กองบัญชาการกองทัพไทยใช้งบรวม 14,500 ล้าน ในจำนวนนี้เป็นงบบุคลากร 7,000 ล้าน

 หากจะหาดูงบการซื้ออาวุธประชาชนเป็นอันต้องผิดหวัง เพราะไม่มีการแจกแจงรายละเอียดในชั้นนี้ ข้อมูลน่าจะมีในชั้นกรรมาธิการ อย่างไรก็ตาม เราอาจตามร่องรอยได้จากงบก้อนที่ใหญ่ที่สุด ในหัวข้อที่ใช้ศัพท์แสงใหญ่โต-ยืดยาว-คลุมเครือ เช่น “แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศและความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ”

 ภายใต้แผนงานนี้ กองทัพบกมีโครงการย่อยที่สำคัญ เช่น งบการเสริมสร้างกำลังกองทัพ 22,000 ล้าน ซึ่งโครงการน่าสนใจหลายอัน เช่น โครงการที่ผูกพันตามสัญญาและมาตรา 41 อยู่ 24 โครงการ เป็นเงิน 9,400 ล้าน, โครงการเสริมสร้างยุทโธปกรณ์ (จัดหา-ซ่อมแซม) 4,900 ล้าน, โครงการที่เริ่มผูกพันในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 4 โครงการ เป็นเงิน 881 ล้าน เป็นต้น

 ภายใต้แผนงานนี้ กองทัพเรือกำหนดงบไว้ 14,000 ล้าน แบ่งเป็นงบรักษาผลประโยชน์ทางทะเล 2,000 ล้าน งบพัฒนาขีดความสามารถกองทัพเรืออีก 12,000 ล้านซึ่งมีโครงการสำคัญ เช่น โครงการที่ผูกพันตามสัญญาและมาตรา 41 จำนวน 11 โครงการ เป็นเงิน 4,800 ล้าน, โครงการที่เริ่มผูกพันในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 1 โครงการ เป็นเงิน 820 ล้าน, โครงการเสริมสร้างหน่วยย่อย 871 ล้าน เป็นต้น

 ภายใต้แผนงานนี้ กองทัพอากาศกำหนดงบไว้ 19,000 ล้าน มีโครงการน่าสนใจ เช่น โครงการผูกพันตามสัญาและมาตรา 41 เป็นเงิน 1,300 ล้าน, โครงการเสริมสร้างกำลังกองทัพที่ผูกพันข้ามปี เป็นเงิน 8,000 ล้าน, โครงการใช้จ่ายในการสนับสนุนการส่งกำลังและซ่อมบำรุง และผลิตเพื่อแจกจ่าย เป็นเงิน 6,900 ล้าน โครงการเสริมสร้างยุทโธปกรณ์ เป็นเงิน 1,900 ล้าน เป็นต้น

-------

เหล่านี้คือข้อมูลเบื้องต้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการพิจารณางบประมาณ ส่วนคำถามว่า “ทำไม” จึงลด-เพิ่มเช่นนี้ รายละเอียดเป็น “อย่างไร” และควรปรับ “หรือไม่” ประชาชนคงต้องติดตามการอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ในวาระหนึ่ง (รับหลักการ) ระหว่าง 31 พ.ค.-2 มิ.ย.นี้

หมายเหตุ :

-ข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักงบประมาณ

-มีการปัดเศษให้เป็นตัวเลขกลมๆ เพื่อความสะดวกในการอ่าน