ไม่พบผลการค้นหา
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม แฉมาตรการรัฐรับมือโควิด-19 "เราไม่ทิ้งกัน-ลดค่าน้ำ-ค่าไฟ" สร้างความเหลื่อมล้ำการเยียวยา คนจนไม่ได้รับการช่วยเหลือ จี้รัฐบาลใช้ "หลักสวัสดิการถ้วนหน้า" แก้ปัญหา

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ออกแถลงการณ์เรื่อง ท่าทีและข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยระบุว่า นับจากรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด โดยใช้มาตรการเพิ่มระยะห่างทางสังคม ด้วยการให้ประชาชน "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ" พร้อมมีมาตรการเยียวยาผู้ได้ผลกระทบจากกรณีดังกล่าว ดังเป็นที่รับทราบแล้วนั้น

แม้จะได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว แต่เราก็ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลมาโดยตลอด และได้ประสานงานผ่านกลไกคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของ ขปส. ซึ่งมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีความเร่งด่วน ตามหลักการให้หน่วยงานปฏิบัติตามมติที่ประชุมของคณะกรรมการที่มีอยู่ และให้ยุติการดำเนินการใดๆ ที่กระทบกับชุมชน ทั้งการบังคับใช้กฎหมายและนโยบายที่อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อแก้ไขปรับปรุงให้สอดคล้อง เป็นต้น

หากแต่การประสานงานเพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วนระหว่าง ขปส.กับรัฐบาลในสถานการณ์ที่ผ่านมา กลับหยุดชงักลง และได้เกิดผลกระทบกับชุมชนต่าง ๆ ทั้งด้านนโยบาย ภัยแล้งและโรคโควิด ขปส. ได้ประชุมร่วมกันและมีท่าทีและข้อเรียกร้อง ดังนี้

1.ในระหว่างที่เรา "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ" ตามมาตรการของรัฐบาลและรอการประสานงานเพื่อแก้ไขปัญหากับกลไกคณะกรรมการชุดต่าง ๆ กลับปรากฏว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้มีประกาศลงวันที่ 13 เม.ย.2663 เรื่อง ขอเชิญร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายลำดับรองประกอบพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 จำนวน 7 ฉบับ โดยให้ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายลำดับรอง ผ่านเว็บไซต์ของกรมอุทยานฯ ระหว่างวันที่ 8-25 เม.ย.2563 ซึ่งสิ้นสุดเมื่อวานนั้น เราเห็นว่า ประกาศดังกล่าวฯ กรมอุทยานฯ ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการในสถานการณ์ปัจจุบัน ประการสำคัญประกาศดังกล่าวกำลังจะสร้างความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชุมชนที่อาศัยอยู่ในเขตป่าขึ้นมาอีกครั้ง เราจึงขอเรียกร้องให้กรมอุทยานฯ ยุติการดำเนินการตามคำประกาศดังกล่าวโดยทันที เพราะตอนนี้ ประชาชนกำลัง "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ" จึงไม่มีส่วนร่วม และไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการดังกล่าวได้ อีกทั้งจากศึกษาข้อมูลเบื้องต้น พบว่าร่างกฎหมายลำดับรองประกอบ พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับนี้มีเนื้อหาละเมิดสิทธิชุมชน มากกว่าที่จะอำนวยให้ชุมชนที่อยู่ในเขตป่ามีอำนาจในการจัดการทรัพยากรได้อย่างแท้จริง

2.กรณีวิกฤติหมอกควันและไฟป่าที่เกิดในพื้นที่ภาคเหนือ อันเกิดจากสาเหตุปัญหาในหลายประการ ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะกลไกอำนาจรัฐรวมศูนย์ ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐไม่สามารถดูแลพื้นที่ป่าในวงกว้างได้อย่างทั่วถึง ขาดความรู้และไม่แสวงหาความร่วมมือจากภาคประชาสังคม ดังปรากฏ ไฟป่าเกิดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ พื้นที่ป่าสงวน พื้นที่ของทหาร หน่วยราชการต่าง ๆ เป็นส่วนมาก ขณะที่หลายพื้นที่ในชุมชน ชาวบ้านได้มีการจัดการไฟอย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรม ทั้งการทำแนวกันไฟ การจัดเวรยามเฝ้าระวัง การเผาชนทำลายเชื้อเพลิง เพื่อป้องกันไฟลุกลามเข้ามาในพื้นที่ป่าชุมชนหรือป่าจิตวิญญาณของชาวบ้าน ชาวบ้านมีนวัตกรรมและเครื่องมือในการจัดการไฟที่สอดคล้องกับพื้นที่ สามารถรับมือกับสถานการณ์หมอกควันและไฟป่าได้ แม้จะขาดความร่วมมือ หรือการสนับสนุนจากภาครัฐเท่าที่ควร แต่ก็มีภาคประชาสังคม กลุ่มกิจการเพื่อสังคม ที่เข้ามาสนับสนุนชุมชน ทั้งบริจาคหน้ากากป้องกันไฟ เครื่องเป่าลม กองทุน และเวชภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนชุมชนสู้ไฟป่า ซึ่งหน่วยงานรัฐควรสร้างความร่วมมือในการทำงานกับชุมชนตามกรอบการเจรจาที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการต่อสู้กับหมอกควันและไฟป่า อาสาสมัครชาวบ้านในหลายชุมชนได้ลุกขึ้นมาจัดการไฟป่า จนได้รับความบาดเจ็บจำนวนมาก และเสียชีวิตจำนวน 7 ราย นำมาซึ่งความสูญเสียผู้นำในครอบครัว ชุมชน และสังคม ทั้งนี้ เราขอขอบคุณผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างยิ่งที่มาเคารพศพ ไว้อาลัยและมอบทุนเยียวยาผู้เสียชีวิตจากเหตุดังกล่าว

3.ในสถานการณ์โควิดการประสานความร่วมมือระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กับ ขปส. ได้ชะงักลงเกือบสิ้นเชิง ขณะที่มาตรการห้ามเผาของรัฐเพื่อป้องกันปัญหาหมอกควันไฟป่าของหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนม.ค.- 30 เม.ย.2563 กำลังจะเป็นอุปสรรคต่อการทำไร่หมุนเวียน ตามวิถีวัฒนธรรมของหลายชุมชนที่ทำต้องไร่หมุนเวียนตามวิถีวัฒนธรรมที่ได้รับการคุ้มครองและฟื้นฟูตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ซึ่งระบุว่ารัฐต้อง "ศึกษาและยอมรับระบบไร่หมุนเวียน"

เราขอเรียกร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องข้องในระดับพื้นที่และนโยบาย ได้มีการพิจารณาแผนการจัดการเชื้อเพลิงของแต่ละชุมชนในแปลงไร่หมุนเวียนตามบริบทของแต่ละพื้นที่ โดยให้แต่ละชุมชน ได้เสนอการจัดแผนการเผาเชื้อเพลิงในแปลงเกษตรหรือไร่หมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพ เช่น แผนการเผาแบบรายแปลงเพื่อง่ายต่อการควบคุมเชื้อเพลิง ป้องกันไม่ให้มีการลุกลาม ลดการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงและเกิดหมอกควัน ทั้งนี้ ให้คำนึงฝนฟ้าอากาศตามฤดูกาล แต่หากฝนตกลงมาเร็วขึ้น แผนการเผาเชื้อเพลิงก็ขอให้ปรับตามความจำเป็นได้ เพื่อให้ฤดูกาลผลิตไปอย่างสอดคลองกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชน ตามเงื่อนไขความจำเป็นในการเผาที่ต้องแจ้งให้ฝ่ายปกครองทราบตามประกาศของแต่ละจังหวัด

4. เราขอเรียกร้องให้รัฐ ยุติการยึดคืนที่ดินที่ทำกินของชาวบ้านและการดำเนินคดี เช่น กรณีป่าดงหมูแปลง 2 ต.คำป่าหลาย อ.เมือง จ.มุกดาหาร และบ้านไร่บน หมู่ 6 ต.ช้างแรก อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น

5. กรณีภัยแล้งที่เกิดขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ณ ขณะนี้ เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลหามาตรการช่วยเหลือทั้งคนจนเมืองและชนบทให้มีอาชีพและคุณภาพชีวิตที่ดี และสอดคล้องกับสถานการณ์ภัยแล้งและการป้องกันโรคโควิดด้วย โดยเฉพาะการสนับสนุนโครงการที่ประชาชนช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามยากลำบาก ดังกรณีโครงการ "ข้าวแลกปลา" ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากการขาดแคลนข้าวของชุมชนชาวเลราไวย์ อันเกิดจากผลกระทบในสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้นักท่องเที่ยวหายไป แม้ชาวเลจะหาปลาทะเลได้จำนวนมาก แต่ขายไม่ได้ ขณะที่ชุมชนชาวกะเหรี่ยงในภาคเหนือมีข้าวจากแปลงไร่หมุนเวียน แต่ขาดปลาทะเลซึ่งเป็นอาหารหายาก ชาวเลและกะเหรี่ยงมีความผูกพันทำงานหนุนเสริมกันและกัน จึงมีโครงการ "ข้าวแลกปลา" ขึ้น โดยความร่วมมือของเครือข่ายภาคประชาสังคมหลายองค์กร เราเห็นว่า รัฐควรสนับสนุนโครงการเช่นนี้ ทั้งการจัดส่งข้าวปลา และการช่วยเหลือให้เป็นแผนงานในระยะยาว

ประการสุดท้าย หลักการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด เช่น เราไม่ทิ้งกัน 5,000 บาท, การลดค่าน้ำ ค่าไฟและอื่น ๆ เราเห็นว่า มาตรการดังกล่าว ประชาชนโดยเฉพาะคนจนไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เกิดความเหลื่อมล้ำในการเยียวยา ในทางกลับกันหลายโครงการของรัฐที่ส่งเสริมให้ชุมชนบริหารจัดการ เช่น กรณี "บ้านมั่นคง" ที่คณะอนุกรรมการบ้านมั่นคงและการจัดการที่ดิน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) ได้อนุมัติแล้ว แต่ถูกเจ้ากระทรวงกลับดึงงบประมาณไปบริหารเอง เราเห็นว่า หลักการช่วยเหลือประชาชน รัฐบาลควรนำเอา "หลักสวัสดิการถ้วนหน้า" มาดำเนินการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ถ้วนหน้า เน้นการสนับสนุนให้ชุมชนมีความเข็มแข็ง พึ่งตนเองได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ภายใต้การจัดการทรัพยากรที่เป็นธรรม อันจะทำให้ชุมชน มีหลังพิงในความมั่นคงทางอาหาร มีคุณภาพชีวิตที่ดี ตามวิถีวัฒนธรรมที่งดงาม สร้างสังคมที่สันติสุขสืบไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :